ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 4,285
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4+%28%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%29
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ช่วงสิ้นปีแบบนี้สิ่งที่หลายๆ คนวางแผนไว้ก็คงไม่พ้น “การไปเที่ยวพักผ่อน” ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวกับครอบครัว, เพื่อน, คนรู้ใจ หรือจะไปเที่ยวคนเดียวก็ตาม และสถานที่ยอดนิยมของคนส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็น การท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นยอดดอย, ภูเขา, ทะเล หรือป่า เป็นต้น 

และในทุกครั้งที่ไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เราก็มักต้องการที่จะเก็บความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ด้วย “การถ่ายภาพ” และถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ใครหลายคนทำกันอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่อง “ปกติ” เลยแม้แต่น้อย เพราะคนส่วนหนึ่งก็ต้องการที่จะได้รูปที่ดีที่สุด หรือใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดเพื่อนำไปโพสต์บนโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เองที่ นำผลเสียมาสู่ธรรมชาติและระบบนิเวศรอบข้างโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือไม่ทราบว่ามันเป็นการทำร้ายธรรมชาติ

การท่องเที่ยวโดย (เผลอ) ทำลายธรรมชาติ

นอกจากการ ทิ้งขยะไม่เป็นที่หรือการล่าสัตว์ป่า ในเขตหวงห้ามแล้ว การกระทำเหล่านี้เองก็ถือได้ว่าเป็นการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศโดยไม่ตั้งใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

การรุกล้ำธรรมชาติ

บ่อยครั้งที่เราจะพบเห็น รูปถ่ายท่ามกลางธรรมชาติที่ดูสวยงามและน่ามอง แต่เป็นการทำลายธรรมชาติ เช่น การนอนลงบนทุ่งดอกไม้, การดึงเอากิ่งไม้ (หรือใบไม้) มาปกปิดใบหน้าหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายเพื่อเป็น “พร๊อพ” ในการถ่ายภาพ

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

ภาพจาก : https://www.piqsels.com/es/search?q=cuidado+de+primavera

และสิ่งที่คาดว่าหลายๆ คนน่าจะเคยพบเห็นกันได้แก่ Stone Stacking หรือการนำเอาหินมาเรียงต่อกันเป็นชั้น ที่ได้รับความนิยมสูงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ และเราเองก็เคยได้ยินไกด์แนะนำคนอื่นๆ ที่ไปเที่ยวว่าการเรียงหินต่อกันเป็นชั้นๆ นั้นสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนชั้นของหิน (เราก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันเกี่ยวอะไรกัน แต่เห็นว่านักท่องเที่ยวบางคนก็หันไปหยิบหินเรียงต่อกัน และจากเดิมที่มีกองหินจำนวนมากอยู่แล้ว กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก) ซึ่งเมื่อมีปริมาณมากเข้าก็ทำให้ ความสวยงามตามธรรมชาติของสถานที่แห่งนั้นลดลงไปมาก เลยทีเดียว ซึ่งก็ได้มีรายงานว่าพบกองหินในอุทยานแห่งชาติ Acadia ถึง 3,500 กอง ในช่วงปี 2016 และปี 2017 (แม้ว่าจำนวนจะดูไม่ได้เยอะมากแต่ลองคิดภาพว่าไปปีนเขาแล้วเจอแต่กองหินก็หมดสนุกไปเยอะแล้ว) และนอกจากมันจะเป็นการรุกรานธรรมชาติโดยไม่มีความจำเป็นแล้วยัง สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ทั้งนักท่องเที่ยว, ผู้ดูแลสถานที่ รวมทั้งสัตว์ป่าในบริเวณเดียวกันอีกด้วย

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

ภาพจาก : https://www.azcentral.com/story/news/local/best-reads/2015/10/23/cairns-stone-rock-stacks-sedona/32413703/

Stone Stacking / Cairn
 

แน่นอนว่าการไม่เข้าไปจับต้องสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติอาจทำให้คุณไม่ได้รูปในมุมตามที่ต้องการ หรือไม่ได้มีภาพกองหินสวยๆ ไปอวดคนอื่น แต่การไม่รุกล้ำธรรมชาตินั้นก็เป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพ ที่มากขึ้นกว่าเดิม (หรือบางคนอาจจะได้อัพสกิลการแต่งภาพเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะเลยก็เป็นได้)

การเข้าใกล้สัตว์ป่าที่มากจนเกินไป

เพราะสัตว์ป่าที่คุณพบเห็นไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของคุณ ถึงแม้ว่าสัตว์บางตัวจะดูน่ารักและไม่มีพิษภัยอย่าง ควอกกา (Quokka) ที่ถือได้ว่าเป็นสัตว์ยอดนิยมในประเทศออสเตรเลียที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวบางคนก็หลอกล่อพวกมันด้วยอาหาร หรืออาจจับตัวมันมาเพื่อถ่ายรูป ซึ่งเป็นการ รบกวนชีวิตประจำวันของพวกมัน เพราะนอกจากจะสร้างความเครียดให้กับพวกมันแล้ว การยื่นอาหารให้กับมันโดยตรงยังทำให้พวกมันเสียนิสัยในการหาอาหารด้วยตนเองและเป็นการทำลายสุขภาพของพวกมันทางอ้อมอีกด้วย 

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

ภาพจาก : https://p2.piqsels.com/preview/257/246/378/quokka-animal-wildlife-australia.jpg

แต่ ไม่ใช่สัตว์ป่าทุกตัวที่จะเชื่องกับมนุษย์ และนักท่องเที่ยวหรือช่างภาพบางคน อาจได้รับอันตราย จากการเข้าหาสัตว์ป่าที่มากจนเกินความพอดีได้ เพราะเราจะเห็นข่าวเรื่องนักท่องเที่ยวถูกสัตว์ป่าทำร้ายขณะพยายามที่จะถ่ายรูป “เซลฟี” กับพวกมันอยู่เสมอ ซึ่งบางคนอาจโชคดีที่รอดชีวิตมาได้ แต่นักท่องเที่ยวบางคนก็อาจไม่ได้โชคดีแบบนั้น เพราะเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ได้มีข่าวว่า ชาวอินเดีย คนหนึ่งเห็นว่ามีหมีเดินไปมาอยู่ใกล้กับถนนที่เขากำลังขับรถอยู่ เขาจึงจอดรถและเดินเข้าไปใกล้เพื่อที่จะถ่ายรูปเซลฟีกับหมีตัวนั้น แต่โชคร้ายที่เขากลับ โดนหมีที่กำลังบาดเจ็บตัวนั้นตะปบจนเสียชีวิต (คาดว่ามันน่าจะคิดว่านักท่องเที่ยวคนนั้นจะตรงเข้ามาทำร้ายมันจึงพุ่งเข้าทำร้ายด้วยสัญชาติญาณ)

เจ้าสัตว์ดุร้าย!

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

ภาพจาก : https://www.smh.com.au/ftimages/2007/03/25/1174761274820.html

หากพบเห็นสัตว์ป่าเข้ามาใกล้ก็อาจ รีบถ่ายรูปและปล่อยมันไป ไม่ควรหลอกล่อให้มันอยู่กับคุณนานๆ ด้วยแสงแฟลชหรือการให้อาหาร เพราะอาหารที่เราให้ไปอาจไปทำลายสุขภาพของสัตว์ป่าเหล่านั้นได้ สำหรับสัตว์ที่ดุร้ายก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวสัตว์ป่าและตัวของคุณเองด้วย

การแชร์โลเคชัน หรือ GPS ที่เฉพาะเจาะจง

เพราะเมื่อมีใครคนหนึ่งลงรูปความสวยงามของธรรมชาติที่เขาไปพบเจอมา คนอื่นๆ ที่พบเห็นภาพนั้นแล้วถูกใจขึ้นมาก็มักจะ ถามถึงแหล่งที่มา หรือสถานที่ของรูปภาพนั้นๆ และคนบางส่วนก็ไป “ตามรอย” พร้อมกับถ่ายภาพมาลงในโซเชียลมีเดียและขยายขอบเขตของผู้พบเห็นสถานที่นั้นๆ เพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ การเช็คอิน หรือการแชร์โลเคชันที่เฉพาะเจาะจงยังอาจเป็นการ ชี้ทางให้กับนักลักลอบค้าสัตว์ป่า ตามไปล่าสัตว์เหล่านั้นได้อีกด้วย

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

ภาพจาก : https://protectallwildlifeblog.com/is-dehorning-rhino-the-solution-to-s/

ทั้งนี้ เราไม่ได้หมายความว่าให้เก็บพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ลับเฉพาะกลุ่ม แต่การที่มีคนจำนวนมากแห่ไปสถานที่เดียวกันทำให้ธรรมชาติไม่ได้รับการฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากต้องการ แชร์โลเคชัน ก็กดเช็คอินในจุดที่เป็น ภาพกว้างๆ เช่น “อุทยานแห่งชาติ” แทนที่จะเป็นพื้นที่เฉพาะเจาะจงอย่าง “ทะเลสาบ x ในอุทยานแห่งชาติ” ก็น่าจะพอช่วยได้ และสำหรับ สถานที่ที่ได้รับความนิยมสูง ก็อาจเพิ่มการจัดการ กำหนดวันเวลาเปิด-ปิด สถานที่แห่งนั้นเหมือนกับในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ (หรือเพิ่มช่วงระยะเวลาในการเปิด-ปิดสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น) เพื่อให้มีเวลาฟื้นฟูสถานที่, หลีกเลี่ยงการรุกรานธรรมชาติและสัตว์ป่า และช่วยกันรักษาความสะอาดภายในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ส่วนหนึ่ง 

การท่องเที่ยวแบบ “ใกล้ชิดธรรมชาติ”

บริษัทท่องเที่ยวบางแห่งมักนำเอาความใกล้ชิดกับธรรมชาติหรือสัตว์ป่ามาเป็น จุดขาย เพื่อเรียกลูกค้า เช่น การท่องเที่ยวในบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ที่มีกิจกรรมการ “ขี่ช้าง” หรือ “ถ่ายรูปกับเสืออย่างใกล้ชิด” เป็นต้น แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจแต่ สัตว์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ, ส่วนหนึ่งถูกทารุณกรรม และบางส่วนก็มาจากการซื้อขายที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

การเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่ทำลายธรรมชาติ (และสัตว์ป่า)

ภาพจาก : https://blog.nature.org/science/2019/12/09/how-to-use-social-media-without-harming-nature/

ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบในการท่องเที่ยวร่วมกับบริษัททัวร์ต่างๆ ก็เลือกใช้บริการกับบริษัททัวร์ที่มีลักษณะแบบ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ที่เน้นการเยี่ยมชมธรรมชาติแบบห่างๆ โดยไม่ได้เข้าไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของสัตว์ป่าและระบบนิเวศในบริเวณโดยรอบ และมีการให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องถึงการพัฒนาดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้นๆ ให้คงอยู่ต่อไปในระยะยาวน่าจะดีกว่า


ที่มา : blog.nature.org , blog.nature.org , en.wikipedia.org , www.newyorker.com , www.iflscience.com , www.americanscientist.org

 

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4+%28%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%29
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น