หากคุณเป็นคนที่สิงอยู่ตามกลุ่มของช่างภาพ หรือการท่องเที่ยว เชื่อว่าคุณน่าจะเคยเห็นภาพชายชราชาวประมงนั่งอยู่บนเรือ กำลังถือตะเกียง มีนกเกาะบนคานไม้ และทิวเขาเป็นฉากหลังกันมาบ้างแหละ เพราะมันเป็น "รูปแบบ" ภาพที่ช่างภาพ และนักท่องเที่ยว ที่เดินทางไปท่องเที่ยวหมู่บ้านชาวประมงในเมืองซิงผิง ประเทศจีนนิยมถ่ายมา ใครนึกไม่ออก ลองดูตัวอย่างภาพด้านล่างนี้
ภาพจาก https://flic.kr/p/DCbPoo
บุคคลในภาพด้านบนนี้ คือ ชาวประมงพื้นแบบพื้นบ้านที่ใช้วิธีจับปลาแบบโบราณ ด้วยการฝึกนกกาน้ำ (นกชนิดหนึ่งที่หาอาหารด้วยการดำน้ำลงไปจับปลาขึ้นมากิน) มันเป็นวัฒนธรรมที่ปัจจุบันนี้ใกล้หายสาบสูญแล้ว เท่าที่หาข้อมูลพบว่ามีเหลือชาวประมงในประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีนจำนวนไม่มากที่ยังใช้วิธีนี้ในการจับปลาอยู่ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไร เนื่องจากวิธีการนี้หาปลาได้น้อยกว่าการประมงสมัยใหม่มาก แถมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝึกนกกาน้ำให้เชื่องพอที่จะมาหาปลาให้เรา
ในญี่ปุ่นยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้อยู่ ที่เมืองเซะกิ จังหวัดกิฟุ มีประเพณีการจับปลาอะยุ ที่แม่น้ำนะงะระ โดยเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 1,300 ปีแล้ว เรียกว่า "เทศกาลอุไก" (鵜飼) (鵜匠) งานจะมีในระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม - 15 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยพลุและดอกไม้ไฟ |
ในบรรดาชาวประมงที่จับปลาด้วยวิธีการนี้ มีผู้ที่ "ถูกถ่ายรูป" มากที่สุดอยู่ 2 คน คือ สองพี่น้อง Huang Yuechang และ Huang Mingde เดิมที ทั้งคู่ก็เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวประมงมาทั้งชีวิต จนกระทั่งมีนักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเขาลงสื่อออนไลน์ องค์ประกอบภาพที่มีชายชราเคราสีขาวยาว ในชุดตกปลาแบบโบราณ สวมงอบ มีแค่แสงไฟจากตะเกียง และนกกาน้ำที่คอยเคียงข้าง อยู่บนเรือไม้ไผ่เล็กๆ บนผิวน้ำกลางหมู่ทิวเขา ทั้งหมดนี้ได้สร้างความรู้สึกที่สงบ และทรงพลังต่อผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก
โดยภาพของ Huang Yuechange ผู้เป็นน้องชายเริ่มปรากฏเป็นที่รู้จักบนโลกอินเทอร์เน็ตก่อน ต่อมาภายหลัง Huang Mingde พี่ชายที่อายุห่างกัน 8 ปี ก็เริ่มปรากฏตามมา อนึ่ง ทั้งคู่พอใส่หมวก และไว้เคราก็หน้าตาแทบจะเหมือนกัน ถ่ายคนไหนมาก็แยกยากอยู่ดี
ภาพจาก https://flic.kr/p/21FDAZt
นาย Huang เป็นชาวประมงมาตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม แม้ปัจจุบันจะใกล้เกษียณแล้วด้วยอายุที่มากขึ้น แต่เขาก็ยังคงออกไปหาปลาเกือบทุกวันอยู่เหมือนเดิม แม้รายได้จากอาชีพประมงของเขาจะไม่มากมาย แต่หลังจากที่ภาพถ่ายตัวเขาเป็นที่รู้จัก เขาก็มีรายได้จากการเป็น "นายแบบ" แทน ภายหลังพี่ชายก็ได้มาช่วยเขาทำงานด้วยวิธีนี้ด้วย
จากข้อมูลที่เราพบในปี 2018 เขาคิดใช้จ่ายเป็นกลุ่ม โดยราคาอยู่ที่ประมาณ 950 บาท ต่อรอบ โดยเขาจะสาธิตการจับปลาให้ชม และถ่ายรูปได้ตามสบาย ทั้งนี้ เหมือนปัจจุบันจะมีบริษัททัวร์ไปเซ็นต์สัญญากับเขาเพื่ออนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางมา "ถ่ายรูป" นายหวงได้ง่ายขึ้นแล้ว รวมถึงมีชาวประมงรายอื่นๆ ที่หันมาประกอบอาชีพนายแบบตามบ้างแล้วด้วยเช่นกัน
ภาพจาก https://flic.kr/p/GPn5p6
ล่าสุดเราเห็นภาพของเขาบนหน้าเว็บไซต์ของ Apple ที่ประกาศแข่งขันถ่ายภาพด้วย Night Mode บน iPhone 11 ด้วย จะว่าไปแล้ว เวลามีการทดสอบกล้องด้วยการถ่ายภาพในที่แสงน้อย การถ่ายภาพนาย Huang ตอนถือโคมไฟอยู่ เป็นสิ่งที่เราเห็นบ่อยเหมือนกันนะ
ภาพจาก https://www.apple.com/th/newsroom/2020/01/share-your-best-iphone-night-mode-photos/
แม้นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตเก่าแก่ อาจไปรบกวนทำให้ความเรียบง่ายแบบดั้งเดิมหายไปบ้าง แต่มันก็น่าจะดีกว่าที่ปล่อยให้วัฒนธรรมนี้ตายไปเงียบๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้คนท้องถิ่นที่ดี อย่างพี่น้องตระกูล Huang เงินที่เขาได้จากการเป็นนายแบบ อาจไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวย แต่มันก็เพียงพอต่อค่ายารักษาโรคเบาหวานที่ภรรยาของเขาต้องใช้
ก็เป็นสถานการณ์ที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย แม้จะรู้สึกว่ารูปถ่ายที่เราเห็นในตอนนี้เป็นแค่การสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา ทำให้ความประทับใจในภาพชาวประมงกับนกกาน้ำลดลงไม่เหมือนเก่าก็ตาม
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
14 มกราคม 2563 00:28:53
|
||
สุดๆๆๆๆๆๆๆ
|
||