หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า Comfort Zone ที่หมายถึงพื้นที่, การกระทำ หรือบุคคลที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจที่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อเราเกิดความรู้สึกทางลบ เช่น เครียด, หงุดหงิดใจ, เศร้า หรือรู้สึกไม่สบายใจก็มักต้องการที่จะหลบไปอยู่คนเดียว (หรือใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนที่เรารู้สึกว่าเป็น Comfort Zone ของเรา) สักระยะ แต่ในบางสถานการณ์ ที่ไม่สามารถหลบเข้าไปอยู่ใน Comfort Zone ได้ ก็มักจะ นึกถึง Comfort Food ขึ้นมาแทน
Comfort Food หมายถึง อาหาร, ขนม หรือเครื่องดื่มที่เรามักจะรับประทานเพื่อให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจมากกว่าความอิ่มท้อง ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมี Comfort Food ของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัว และวัฒนธรรมในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ของบุคคลนั้นๆ เช่น ชาวอังกฤษส่วนมากถือว่าชาดำเป็น Comfort Food (Drink) ในขณะที่ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเลือกให้คุกกี้ช็อคโกแลตชิปเป็น Comfort Food ของพวกเขา เป็นต้น
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/ceruleandreams/6975572559
และจากวารสารจิตวิทยาสุขภาพ (Journal of Health Psychology) ของสมาคมนักจิตวิทยาสหรัฐอเมริกา (APA - American Psychological Association) ก็ได้ระบุว่าบุคคลที่อยู่คนเดียวหรือรู้สึกโดดเดี่ยวมักมีโนวโน้มที่จะรับประทาน Comfort Food มากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งผลการสำรวจเพิ่มเติมก็พบว่าชาวอเมริกันกว่า 81 % ยอมรับว่าพวกเขามักจะรับประทาน Comfort Food เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น แต่สำหรับคนส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะ รับประทานสิ่งที่เป็น Comfort Food หลังจากที่พวกเขารู้สึกว่าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จ เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งสองกลุ่มก็ลงความเห็นว่าพวกเขารู้สึก พึงพอใจ หลังจากรับประทาน Comfort Food
แม้ว่า Comfort Food จะมีความ คล้ายคลึงกับอาหารจานโปรด (Favourite Food) แต่ทั้งสองอย่างนี้ก็มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย เพราะสำหรับบางคน อาหารจานโปรด อาจเป็นสิ่งที่ชื่นชอบและสามารถรับประทานได้บ่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ข้าวผัด หรือพิซซ่า เป็นต้น แต่เมื่อ รับประทานติดต่อกันซ้ำๆ ก็เกิดความเบื่อ และอาจหันไปรับประทานอาหารชนิดอื่นต่อ แต่ Comfort Food เป็นสิ่งที่รับประทานแล้วรู้สึกพึงพอใจในทุกครั้ง นั่นเอง อย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจนับว่า Comfort Food และอาหารจานโปรดเป็นสิ่งเดียวกันได้
ภาพจาก : https://zen.yandex.ru/media/id/5d985e2e35c8d800ae71e663/pochemu-my-uteshaem-sebia-edoi-5dab7cf543863f00aefb6775
หลายคนมักกล่าวว่าการรับประทาน Comfort Food ช่วยลดความรู้สึกทางลบลงและทำให้อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งนักประสาทวิทยาก็ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสมองต่อการรับประทาน Comfort Food และสรุปว่า Comfort Food มีส่วนช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นจริง เพราะส่วนมาก Comfort Food มักเป็นอาหารประเภทของหวาน หรือของคาวจำพวกคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่เป็น Guilty Pleasure (อาหารที่อร่อยแต่ไม่ค่อยมีประโยชน์) เช่น มันบด, เฟรนช์ฟราย, ช็อคโกแลต หรือพุดดิ้ง ซึ่งสารอาหารประเภท ไขมัน จะช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ทำให้ร่างกายรู้สึก “อิ่ม” และสั่งการให้สมอง หลั่งฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และพึงพอใจออกมา ส่วนอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและขนมหวานเมื่อย่อยแล้วจะกลายเป็น น้ำตาล ที่ถือได้ว่าเป็นสารเพิ่มพลังงานให้กับสมองได้มากกว่าสารอาหารประเภทอื่นๆ ที่จะไป กระตุ้นสมองส่วน Reward System ให้ตื่นตัวมากขึ้น จากนั้นก็จะ สั่งการให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข (Dopamine) ออกมา ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นเมื่อรับประทานสิ่งที่เป็น Comfort Food ของเรา
อย่างไรก็ตาม Comfort Food ไม่ได้จำกัดเฉพาะอาหารจำพวก Guilty Plasure อย่างขนมหวานหรือของที่ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและไขมันเสมอไป แต่อาจเป็นอาหารที่มีความพิเศษต่อจิตใจของเราก็เป็นได้ เพราะจากการศึกษาวิจัยเชิงประสาทจิตวิทยา (Neuropsychiatric) ของหลายสำนักก็ได้ออกมาอธิบายเพิ่มว่า Comfort Food อาจเป็นอาหารที่กระตุ้นให้เรานึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ หรือบุคคลที่อยู่ด้วยแล้วเกิดความรู้สึกสบายใจ เพราะเมื่อเรารับประทานสิ่งที่เป็น Comfort Food แล้ว สมองของเราก็จะหวนกลับไปนึกถึงความทรงจำที่เราเคยมีร่วมกับอาหารชนิดนั้นๆ และ กระตุ้น Reward System ภายในสมอง (หลักการเดียวกับการรับประทานขนมหวาน) เช่น หาก Comfort Food ของคุณคือ “ไข่เจียวฝีมือแม่” ที่ดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นเมนูธรรมดาทั่วไป แต่มันมีความพิเศษจากความทรงจำที่เรามีต่อตัวบุคคลและบรรยากาศรอบข้างของอาหารชนิดนั้นๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น แต่ Comfort Food สำหรับบางคนอาจเป็นของธรรมดาที่หาได้ทั่วไป อย่างช็อคโกแลตก็เป็นได้
ภาพจาก : https://www.fix.com/blog/why-is-comfort-food-so-tasty/
นอกจากนี้ยังได้มีการทดลองเกี่ยวกับ ผลของ Comfort Food ที่มีต่ออารมณ์ โดยในเบื้องต้นได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม จากนั้นให้แต่ละกลุ่มรับ ชมภาพยนตร์ที่ดูแล้วรู้สึกหดหู่ (เรื่องเดียวกัน) และให้ทำแบบทดสอบอารมณ์หลังจากดูจบ ซึ่งสำหรับกลุ่มแรกนั้นผู้วิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ รับประทาน Comfort Food ของพวกเขา (โดยจะมีความแตกต่างกันตามที่ผู้เข้าร่วมแจ้งให้ผู้วิจัยทราบ), กลุ่มที่ 2 ให้รับประทาน ป๊อปคอร์น และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุมที่ ไม่ได้รับประทาน อะไรหลังจากชมภาพยนตร์เสร็จ จากนั้นผู้วิจัยก็ให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มนี้ทำแบบทดสอบอารมณ์อีกครั้งหนึ่ง ผลการวิจัยพบว่า บุคคลในกลุ่มที่ได้รับประทาน Comfort Food นั้นมีอารมณ์ที่ดีขึ้น กว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยและทดลองก็ชี้ให้เห็นว่าการรับประทาน Comfort Food นั้นช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นจริง เพราะมัน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราโดยตรง และสั่งการให้สมองให้หลั่งสารแห่งความสุขออกมานั่นเอง
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |