ต้น Kaikōmako หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pennantia Corymbosa เป็นต้นไม้ที่ได้รับการจดบันทึกลงในกินเนสบุ๊ค (Guinness Book) ว่าเป็น ต้นไม้ที่หายากที่สุดของโลก (Rarest Plant on Earth) ตั้งแต่ปี 1980 มาจนถึงปัจจุบัน เพราะต้น Kaikōmako ต้นสุดท้ายนี้ถูก ค้นพบในปี 1945 บนเกาะ Manawa Tawhi หนึ่งในหมู่เกาะ Three Kings Islands ทางตอนเหนือของ Cape Reinga ประเทศนิวซีแลนด์
ภาพจาก : https://www.nationalgeographic.com/science/2019/12/story-of-worlds-loneliest-tree/
ต้นไม้ชนิดนี้เป็นพืชท้องถิ่นเก่าแก่ของประเทศนิวซีแลนด์ คำว่า Kaikōmako นั้นมีความหมายว่า อาหารของนก Korimako (ชื่อภาษาเมารีของนกเบลเบิร์ด) ที่เป็นนกท้องถิ่นในนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ชนเผ่าเมารี ยังนิยมใช้ต้น Kaikōmako เป็น เชื้อเพลิง ในการจุดไฟอีกด้วย แต่มันก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้มันใกล้สูญพันธุ์แต่อย่างใด เพราะ ตัวการ ที่ทำให้ต้น Kaikōmako กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้นได้แก่ “แพะ” ที่ “แทะ” ต้น Kaikōmako เหล่านี้เป็นอาหาร
โดยจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ของมันมาจากการที่มีคน นำเอาแพะ จำนวนทั้งหมด 4 ตัวเข้ามายังประเทศนิวซีแลนด์ในปี 1889 เพื่อเป็นอาหารประทังชีพให้กับผู้ที่ (คาดว่าอาจจะ) ประสบภัยเหตุการณ์เรืออับปางในบริเวณทวีปออสเตรเลีย ซึ่งการปล่อยแพะในครั้งนี้ก็ทำให้เกิดการขยายพันธุ์ของสัตว์ต่างถิ่นนี้อย่างรวดเร็ว จนในที่สุดทางนิวซีแลนด์ก็ตัดสินใจออกมาตรการจำกัดและควบคุมจำนวนแพะอย่างเข้มงวดในช่วงปี 1946 เพราะแพะเหล่านี้ แทะกินพืชท้องถิ่น หลายชนิดในนิวซีแลนด์จนทำให้ต้นไม้ส่วนหนึ่งถูกจัดว่า เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ภาพจาก : https://www.onemanswonder.com/2013/11/tip-18-chew-your-food-longer.html
ส่วนเหตุผลที่เจ้า Kaikōmako ต้นสุดท้ายนี้รอดพ้นจากแพะมาได้นั้นเป็นเพราะมันไปขึ้นอยู่บริเวณโขดหินที่มีความสูงกว่า 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลที่ แพะปีนขึ้นไปกินไม่ถึง นั่นเอง..
ซึ่งหลังจากการค้นพบต้น Kaikōmako ในปี 1945 นักพันธุศาสตร์, นักพฤกษศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ก็ได้ทำการศึกษาพันธุ์พืชชนิดนี้ และพบว่า Kaikōmako เป็นต้นไม้ประเภท Dioecious (ต้นไม้เพศเดี่ยว) เพศเมีย (Female Tree) เพียงต้นเดียวที่หลงเหลืออยู่ จึงยากที่จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายปีและผ่านช่วงออกดอกครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีทีท่าว่าจะสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด
Geoff Baylis นักพฤกษศาสตร์ที่ให้ความสนใจกับต้น Kaikōmako จึงได้ตัดกิ่งของมันมาเพาะเลี้ยงต่อที่ศูนย์วิจัย DSIR (Department of Scientific and Industrial Research) เมือง Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อทำความเข้าใจพันธุ์พืชและศึกษาความเป็นได้ที่จะขยายพันธุ์พืชชนิดนี้ และในช่วงปี 1980 Dr. Ross Beever นักพฤกษศาสตร์พันธุศาสตร์จาก Manaaki Whenua (ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมของประเทศนิวซีแลนด์) ก็ได้เข้าร่วมโปรเจคในการศึกษาวิเคราะห์สารอาหารและน้ำภายในตัวดอกไม้ และทดลอง สกัดฮอร์โมน ของต้นไม้ออกมาเพื่อผสมเข้ากับดอกตัวเมีย ผลปรากฏว่า ฮอร์โมนที่ได้ทำการสกัดออกมานั้นช่วย กระตุ้นให้รังไข่สร้างผลสมบูรณ์ ที่มีเมล็ดอยู่ภายในขึ้นมาได้สำเร็จ
ภาพจาก : https://www.nationalgeographic.com/science/2019/12/story-of-worlds-loneliest-tree/
เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และสามารถนำเอาไปปลูกต่อได้ชุดแรกนั้นมีจำนวนทั้งหมด 6 เมล็ด แต่ไม่มีต้นใดเลยที่เติบโตขึ้นมาเป็นเพศผู้ ดังนั้น Davidson และ Beever จึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต่อไป ก่อนจะตัดสินใจ มอบให้กับองค์กรต่างๆ และจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับบุคคลที่สนใจ พร้อมทั้งกำชับให้ติดต่อกลับมาหากต้น Kaikōmako ออกดอก เพื่อตามหาดอก Kaikōmako เพศผู้ แต่เมล็ดพันธุ์ที่บริจาคและจัดจำหน่ายทั้งหมดก็ยังคงเป็นเพศหญิงทั้งหมดอยู่ดี
เมื่อรับทราบข่าวเรื่องโครงการขยายพันธุ์ต้น Kaikōmako ทาง รัฐบาลของนิวซีแลนด์ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและให้ทุนสนับสนุน กับทางศูนย์วิจัยในการเพาะพันธุ์และดูแลป้องกันโรคระบาดในพืช ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ก็ได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนออกไปกว่า 4,000 ต้นทั่วประเทศ
และในปี 2012 Ngāti Kurī หนึ่งในชนเผ่าเมารีพื้นเมืองก็ออกมากล่าวว่าพวกเขา ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์พืชชนิดนี้ ที่มีความผูกพันกับชนเผ่ามาอย่างยาวนาน เพื่อแลกกับการยินยอมให้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ Kaikōmako บนพื้นที่เกาะของพวกเขา ทางรัฐบาลและนักวิจัยจึงได้ส่งเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของ Kaikōmako กลับบ้านจำนวน 500 ต้น
ภาพจาก : https://www.landcareresearch.co.nz/about/news/media-releases/kaikomako-manawa-tawhi-pennantia-baylisiana-returns-to-iwi
“มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และชนเผ่าพื้นเมือง เพราะมีพันธุ์พืชและสัตว์จำนวนหนึ่งที่กำลังจะสูญพันธุ์ได้ทุกขณะ ซึ่งต้น Kaikōmako เองก็เป็นหนึ่งในนั้น” Dr. Peter Bellingham หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเกือบสูญพันธุ์ของต้น Kaikōmako เพราะการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่นที่มนุษย์นำเอามาปล่อยไว้นี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ จนอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของพืชท้องถิ่นบางชนิด และถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 40 ปี ที่ได้มีการเพาะพันธุ์ต้น Kaikōmako ขึ้นมา ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีต้น Kaikōmako เพศผู้ขึ้นมาแต่อย่างใด ไม่แน่ว่าในอนาคตหลังจากการร่วมมือกันของชนเผ่าพื้นเมืองและนักวิทยาศาสตร์อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |