“Climate Change” เป็นคำที่ปัจจุบันนี้เราน่าจะได้ยินกันบ่อยมากๆ มันหมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บ่อยครั้งที่ที่มันถูกใช้แทนคำว่า "โลกร้อน" (Global warming) ซึ่งอันที่จริงมันก็มีความสัมพันธ์กันมากทีเดียว โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเดิมทีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มลดต่ำลงมาโดยตลอด จนกระทั่งโลกได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อุณหภูมิของโลกก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ปรากฏการณ์เรือนกระจก ฯลฯ เราเหตุการณ์เหล่านี้ว่า Climate Change
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Global_warming
ปัญหา Climate Change ไม่สามารถแก้ได้ด้วยน้ำมือของคนไม่กี่คน ซึ่งตอนนี้ในทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยหลายฝ่ายโดยเฉพาะในภาคธุรกิจก็มีการเสนอนโยบายที่ช่วยให้ธุรกิจมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ใช้หลอดกระดาษ ลดใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ และมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เชื่อว่าช่วยแก้ปัญหา Climate Change ได้ดีเช่นกัน นั่นก็คือ "ทำงานจากระยะไกล" (Remote Working)
Remote Working เป็นการอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ โดยมากจะอาศัยประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้การสื่อสาร และส่งมอบงานไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัทอีกต่อไป
Remote Working มีอีกคำที่แพร่หลายคือ Telecommuting แต่ความหมายก็ใกล้เคียงกันตรงที่มุ่งเน้นการทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ทำงาน อันที่จริงเรื่องนี้มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1793 เลยทีเดียว
แต่กว่าแนวคิดนี้จะประสบความสำเร็จก็ต้องรอจนถึงปี ค.ศ. 1990 ตอนนั้นโลกเริ่มมีความกังวลต่อปัญหามลภาวะเป็นพิษกันแล้ว สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency หรือ EPA) ได้มีการกดดันบริษัทต่างๆ ให้ส่งเสริมนโยบายอย่าง ทางเดียวกันไปคันเดียว รวมไปถึงการแนะนำให้พนักงานทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาทำงาน งานนี้จริงจังถึงขนาดที่ ในปี ค.ศ. 2001 ทางรัฐบาลของสหรัฐอเมริกามีการมอบประกาศเกียรติคุณให้กับบริษัทที่มีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบริษัทที่ได้รับจะต้องมีการทำตามกฏข้อบังคับหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม โดยมีเงื่อนไขหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในบริษัทจะต้องมีตำแหน่งงานที่สามารถทำงานแบบ Remote Working ได้อย่างน้อย 6% ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียวนะ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น Walt Disney, Nike และ Verizon Wireless ต่างก็ตบเท้าเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย แม้แต่ผู้ค้าพลังงานอย่าง Chevron และ Marathon Oil ก็ร่วมด้วยเช่นกัน
จากผลการศึกษาแค่เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาของ Global Workplace Analytics พบว่าผู้ที่เป็น Remote Worker สามารถช่วยลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ถูกปล่อยได้มากถึง 3,000,000 ตันในแต่ละปี เทียบเคียงได้เหมือนกับรถหายไปจากท้องถนนประมาณ 600,000 คัน ทาง EPA ได้ประเมินว่าพลังงานที่ถูกประหยัดนี้เพียงพอต่อการใช้งานถึง 500,000 ครัวเรือนเลยล่ะ
ภาพจาก https://flic.kr/p/2ipu3ui
ข้อมูลดังกล่าวใกล้เคียงกับรายงานจากบริษัทที่ส่งเสริมนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน อย่าง Dell ได้เคยเผยแพร่รายงานออกมาในปี ค.ศ. 2016 ที่เคลมว่ามีผลช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งทาง EPA บอกว่าเทียบเท่ากับพลังงานที่บ้านจำนวน 4,191 ใช้ในแต่ละปี (ตัวเลขหลังหักปริมาณไฟฟ้าที่ใช้เวลาอยู่บ้านแล้ว)
ในปี 2008 Sun Microsystems ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่าอัตราการบริโภคพลังงานของโฮมออฟฟิศนั้นใช้พลังงานต่ำกว่าออฟฟิศธรรมดาถึงครึ่งหนึ่ง
ทำให้มันไม่ใช่เรื่องเกินจริงมากไปนัก ที่จะกล่าวว่าการทำงานที่บ้านมีส่วนช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุโลกร้อนได้จริงๆ
มีกลุ่มคนที่อยากทำงานในต่างจังหวัด แต่ติดที่ตำแหน่งงานบังคับให้อยู่เมือง
มีการสำรวจความคิดเห็น (ในสหรัฐอเมริกา) พบว่าคนอเมริกันมากถึง 27% มีความต้องการที่จะอาศัยในพื้นที่ชนบท แต่จำใจต้องอาศัยในเมืองเนื่องจากหน้าที่การงาน ซึ่งหากประชากรเหล่านี้สามารถย้ายออกไปทำงานแบบ Remote Working ได้ ความหนาแน่นในเมืองก็จะลดลง ส่งผลดีต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมในระยะยาว
แม้การทำงานแบบ Remote Working จะดีต่อสภาพแวดล้อม แต่ในมุมมองบริษัท มันก็มีทั้งข้อ-ข้อเสียเหมือนกันนะ
1. ไม่ต้องเสียเวลา และเงินไปกับการเดินทาง
การเดินทางไปทำงานเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าในแต่ละวัน ยิ่งคนบ้านไกลจากที่ทำงาน ทำให้ต้องตื่นเช้า เผื่อเวลาเดินทางมากกว่าปกติ ยิ่งทำให้ความเหนื่อยล้าเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ในขณะที่การทำงานแบบ Remote Working คุณไม่ต้องรีบเร่งขนาดนั้น เอาเวลาที่ใช้เดินทางมาพักผ่อนเพิ่มอีกสักชั่วโมง ทำให้สมองสดใสมากขึ้นก็ยังได้ เพราะคุณสามารถทำงานที่ไหนก็ได้จะห้องนั่งเล่น ในสวน หรือบนเตียงนอนก็ย่อมได้ บางคนก็นิยมไปทำงานตาม Coworking space ใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้มีเปิดให้บริการหลายแห่ง
ภาพจาก https://flic.kr/p/5M5yzY
2. ทำงานในเวลาที่ต้องการ
บ่อยครั้งที่การทำงานในออฟฟิศมีกรอบเวลาที่ชัดเจน แม้ไอเดียในหัวจะไม่แล่น แต่คุณก็ต้องนั่งจมอยู่กับมันจนกว่าจะคิดออก และพอเริ่มลงมือทำ ก็อาจจะถึงเวลาที่ตึกจะปิด แล้วคุณต้องหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้านแทน
บ่อยครั้งที่บรรยากาศใหม่ๆ ช่วยจุดประกายความคิดใหม่ๆ และนั่นก็มีผลช่วยให้งานออกมามีคุณภาพที่ดีขึ้นได้
สุดท้ายหากคุณมีงานอดิเรกบางอย่างที่สามารถทำได้แค่ในตอนกลางวัน หากคุณแบ่งเวลาดีๆ คุณสามารถทำงานอดิเรกไปด้วยได้ ตราบใดที่คุณจัดการกับงานที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี
3. การทำงานมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น
มีผลสำรวจพบว่าผู้ที่ทำงานจากระยะไกลส่วนใหญ่จะมีผลประเมินประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เนื่องจากไม่เหนื่อยจากการเดินทาง และไม่มีสิ่งที่มารบกวนมากนัก และพวกเขาตระหนักรู้ว่าการทำงานในรูปแบบนี้ พวกเขาจะถูกประเมินด้วยผลงานเป็นหลัก ทำให้พวกเขามีแรงผลักดันมากขึ้นไปอีกขั้น
1. นอกสายตา ก็ถูกเมิน
ผลการวิจัยพบว่า ในตำแหน่งเดียวกันผู้ทำงานในออฟฟิศมักจะมีโอกาสก้าวหน้าสูงกว่าคนที่ทำงานที่บ้าน หากหวังความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วย อาจจะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย
2. เงินเดือนต่ำ
ส่วนใหญ่แล้ว ตำแหน่งงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้ มักจะไม่ใช่ตำแหน่งที่สำคัญมากนัก และบริษัทมักจะให้เงินเดือนต่ำกว่าปกติด้วย แม้การทำงานในชนบทจะมีค่าครองชีพต่ำกว่าในเมือง แต่ตัวเลือกในการอยู่อาศัยมันก็ถูกจำกัดด้วยเช่นกัน
ภาพจาก https://flic.kr/p/s61ncG
3. เหงา
เวลาไปทำงานที่ออฟฟิศ เราก็จะมีเพื่อนร่วมงาน และได้เจอกับกลุ่มสังคมใหม่ แต่หากคุณทำงานที่บ้าน อย่างห้องนั่งเล่น คุณก็อยู่กับตัวเองทั้งวันไม่ได้เจอใคร ไม่มีใครให้คุยด้วย มันก็เหงาเหมือนกันนะ
สำหรับคนที่ทำงานที่บ้าน ควรหาโอกาสออกไปพบปะกับผู้คนบ้างในระหว่างวัน
4. ไม่มีสิ่งรบกวน
อาจจะงงกันสักเล็ก ว่าการไม่ถูกรบกวนมันกลายเป็นเรื่องไม่ดีได้อย่างไร คือ หากมองในระยะยาวแล้ว บางครั้งการถูกรบกวนเวลาทำงานบ้างมันก็เป็นเรื่องดีนะ มันช่วยให้เราได้มีโอกาสผ่อนคลายบ้าง จากการสำรวจพบว่าคนที่ทำงานอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง บ่อยครั้งที่รู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานต่อเนื่องจนลืมพักผ่อน
ภาพจาก https://flic.kr/p/aMTger
แม้การทำงานนอกสถานที่จะมีส่วนในการแก้ปัญหา Climate Change ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่จะทำได้จะต้องมีวินัยในตัวเองมากพอสมควร ไม่ใช่อยู่บ้านแล้วนั่งดู Netflix, เทรดหุ้น หรือเล่นกับแมวทั้งวันจนเสียงานเสียการนะ
ส่วนบริษัทที่ต้องการเพิ่มตำแหน่งงานรูปแบบนี้ ก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วยนะ ไม่ใช่ทุกตำแหน่งงานที่สามารถทำงานนอกออฟฟิศแล้วจะดีเสมอไป
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |