นักข่าวของเว็บไซต์ BBC ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคลิปวิดีโอรวมเคล็ดลับการทำอาหาร (หรือขนม) ง่ายๆ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Food Hack ที่มักจะเป็นไวรัลบนแพลทฟอร์มต่างๆ อย่าง Facebook, Instagram หรือ YouTube เอาไว้ว่ามัน สามารถทำตามได้จริงหรือเป็นเพียงแค่เรื่องหลอกลวง ที่ทำให้เสียเวลาและเปลืองส่วนผสมต่างๆ โดยเปล่าประโยชน์กันแน่?
โดยนักข่าวด้านเทคโนโลยีจากสำนักข่าว BBC ที่ชื่อว่า Chris Fox ได้ทดลองทำ “พุดดิงจากกล่องนม” ตามสูตรของแชนแนล YouTube ชื่อดังที่มีผู้ดูคลิปกว่า 17 ล้านครั้ง ซึ่งเขาได้ทำตามขั้นตอนและใช้ส่วนผสมตามที่เท่ากันกับในคลิปดังกล่าวทุกประการ โดยเริ่มจากการแกะกล่องนม ใส่มาร์ชเมลโลและไข่ลงไปแล้วเขย่าให้เข้ากัน ก่อนจะนำไปใส่ในไมโครเวฟ แต่ก็ประสบปัญหาที่ว่า กล่องนมที่เขาเลือกใช้นั้น ไม่สามารถใส่ในไมโครเวฟได้ เนื่องจากความสูงของกล่องนมนั้นมากกว่าปากไมโครเวฟ เขาจึงได้ย้อนกลับไปดูคลิปดังกล่าวและพบว่าภายในคลิปนั้นได้ “ตัดก้นกล่องนม” ก่อนเข้าไมโครเวฟ เขาจึงเทส่วนผสมทั้งหมดลงในแก้วที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้และทำตามขั้นตอนในคลิป ผลปรากฏว่าถึงแม้เขาจะเปลี่ยนภาชนะที่ใส่ส่วนผสมแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ได้นั้นก็ไม่ใกล้เคียงกับ “พุดดิง” ที่ในคลิประบุไว้ และมีลักษณะคล้ายกับ “ไข่ตุ๋น” เสียมากกว่า
ซึ่งความจริงแล้วเรา ไม่ควรนำเอากล่องนมใส่เข้าไปในไมโครเวฟ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะภายในกล่องนมนั้นมี “กระดาษฟอยล์” เคลือบพลาสติก ที่เมื่อใส่เข้าไปในไมโครเวฟแล้วมีความเสี่ยงที่จะติดไฟได้ง่าย และหากใส่กล่องนมที่ยังไม่ได้เปิดเข้าไปในไมโครเวฟก็อาจเกิดการระเบิดในไมโครเวฟได้สูงอีกด้วย
Chris ไม่ได้ทดลองทำตามสูตรเพียงแค่สูตรเดียวเท่านั้น แต่เขายังได้ลองทำตามสูตรของช่องอื่นๆ อย่างการทำ “เยลลีจากกัมมีแบร์” (มีผู้ชมกว่า 3.2 ล้านครั้ง) ที่มีวิธีการทำที่ง่ายและมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความเสร็จสูง โดยการตั้งไฟต้มน้ำ นำเอากัมมีแบร์มาละลายในถ้วยที่ทนความร้อน และคนจนกัมมีแบร์ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน แต่เขาก็พบปัญหาตั้งแต่ช่วงที่กัมมีแบร์ละลาย เพราะมันไม่ได้เป็นเนื้อเยลลีเหลวๆ เหมือนกับที่เห็นในคลิป แต่มันมีความเหนียวข้นติดกับถ้วยและนำมาเทใส่ภาชนะอื่นได้ยาก นอกจากนี้ เมื่อทิ้งไว้ระยะหนึ่ง เนื้อเยลลีที่เทลงในแก้วก็ติดแน่นอยู่กับก้นแก้ว จนไม่สามารถที่จะตักขึ้นมาเหมือนกับในคลิปข้างต้นได้
หรือการทำ “ป๊อปคอร์นจากฝักข้าวโพด” (มีผู้ชมราว 800,000 ครั้ง) ที่ภายในคลิปใช้ฝักข้าวโพดต้มแล้วใส่ในถุงกระดาษและนำเอาไปเข้าไมโครเวฟ เมื่อเปิดถุงออกมาก็จะกลายเป็นป๊อปคอร์น ซึ่งความจริงแล้วคลิปดังกล่าวนี้ไม่มีความเป็นไปได้เพราะป๊อปคอร์นนั้นผลิตมาจาก “เมล็ดข้าวโพดดิบ” และการนำเอาข้าวโพดที่สุกแล้วเข้าไปในไมโครเวฟก็จะได้เพียงแค่ “ข้าวโพดอุ่นร้อน” เท่านั้น แต่ Chris เองก็ได้ทดลองทำตามวิธีนี้ดู (และแน่นอนว่าผลที่ได้คือข้าวโพดร้อนๆ ฝักหนึ่ง..)
และ Chris ก็ไม่ได้เป็นคนเดียวที่ตั้งข้อสงสัยและทำคลิปวิดีโอพิสูจน์เรื่องความ “ไม่สมจริง” นี้ เพราะ Ann Reardon นักวิทยาศาสตร์การอาหารที่ทำแชนแนล YouTube เกี่ยวกับการทำอาหารที่ชื่อว่า How To Cook That เองก็ เคยได้ทำคลิปวิดีโอในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเธอได้ทดลองทำตามสูตรของช่องอื่นๆ และอธิบายถึงหลักการของการทำขนมตามที่คลิปนั้นกล่าวอ้าง รวมทั้งได้มีการแนะนำวิธีการทำขนมที่คล้ายกันแต่สามารถทำได้จริงและปลอดภัยกว่าให้ผู้ชมอีกด้วย
เขาได้นำเอาวิดีโอบางส่วนจากช่องของ Ann เข้ามาอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ โดยเขาได้ยกตัวอย่างคลิปแนะนำวิธีการทำ “ครีมแต่งหน้าเค้กจากไอศกรีม” ที่มียอดผู้ชมถึง 70 ล้านครั้ง (แชนแนลเดียวกับเยลลีที่ทำจากกัมมีแบร์) ที่นำเอาไอศกรีมมาละลายและเทแป้งลงไปผสมเพื่อตีเป็นครีมแต่งหน้าเค้ก (โดยทั้ง Ann และ Chris ก็ได้ทดลองทำตามสูตรของคลิปวิดีโอ และพบว่าไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่) ซึ่ง Ann ได้อธิบายว่าภายใน ส่วนผสมนั้นมีไขมันไม่มากเพียงพอ ที่จะตีให้ขึ้นฟูเป็นครีมและนำเอาไปแต่งหน้าเค้กต่อได้นั่นเอง
นอกจากนี้ Ann ยังได้ออกมาเตือนว่าวิดีโอบางคลิปนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้จริง แต่มันยังเป็น “อันตราย” กับผู้ที่คิดจะทำตามอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำป๊อปคอร์นจากกระป๋องน้ำอัดลม ที่มีข่าวออกมาว่ามีคนจำนวนหนึ่งได้ทดลองทำตามและเกิดการ ระเบิดจนทำให้เสียชีวิต หรือการนำเอา สตอเบอร์รี มาจุ่มลงในน้ำเพื่อฟอกสีของสตรอเบอร์รีให้กลายเป็นสีขาวนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะภายในน้ำที่จุ่มลงไปมีส่วนผสมของ สารฟอกขาวที่ไม่ควรรับประทาน นั่นเอง หรือในคลิปวิดีโอที่มีการ ทำสายไหมจากคาราเมล โดยการเทคาราเมลร้อนๆ ลงบนตะกร้อมือไฟฟ้าเพื่อ “ปั่นสายไหม” ออกมาก็มีความอันตรายมากเช่นกัน เพราะมีโอกาสที่คาราเมลนั้นจะ กระเด็นไปรอบๆ และลวกมือ ได้สูง (Ann ได้ทดลองสร้างกล่องกระดาษขึ้นมาเพื่อลองเทคาราเมลเหลวลงบนตะกร้อมือไฟฟ้าและพบว่ามันกระเด็นไปรอบกล่องจนทำให้พลาสติกที่คลุมไว้ละลาย)
หลังจากนั้น Chris ก็ได้ลอง ติดต่อไปยังบริษัทที่ผลิตวิดีโอ Food Hack เหล่านี้เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง โดยบริษัทแรกที่เขาติดต่อไปไม่มีการตอบรับ ส่วนอีกบริษัทหนึ่งได้เชิญเขาเข้าไปในสตูดิโอที่มีการถ่ายทำวิดีโอ แต่ไม่อนุญาตให้ Chris ทำการถ่ายคลิปในสตูดิโอของบริษัท และยืนยันว่าสูตรอาหาร (และขนม) ของพวกเขานั้นสามารถใช้งานได้จริง ดังนั้น Chris จึงสันนิษฐานว่าทางบริษัท อาจไม่ได้ถ่ายวิดีโอขั้นตอนการทำทุกขั้นตอน หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสม ขณะมีการถ่ายทำนั่นเอง
ดังนั้นแล้วคลิป Food Hack ที่เราเห็นกันนั้น ส่วนใหญ่น่าจะไม่สามารถทำตามได้จริง และการทำตามคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้เสียเวลาและส่วนผสมต่างๆ ไปโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น เพราะมัน อาจส่งผลเกิดอันตราย ร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะกับเด็กที่สนใจอยากทดลองทำตามคลิปเหล่านี้ด้วยตนเองโดยที่ไม่มีผู้ปกครองช่วยเหลือ (ก็อาจเปิดคลิปดูเล่นเพื่อความบันเทิงได้ แต่ทางที่ดีไม่สนับสนุนคลิปเหล่านี้น่าจะดีกว่า)
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |