วิวัฒนาการและการเติบโตของ อุตสาหกรรมอาหาร นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงหลายสิบปีก่อนก็จะเห็นได้ว่าคนส่วนมากมักจะนิยมรับประทานแต่อาหารประจำชาติของตนเองหรืออาหารชนิดเดิมๆ ที่คุ้นเคยกันมานาน โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันตกอย่างทวีปยุโรปหรืออเมริกาก็มักไม่ให้การต้อนรับอาหารในแถบเอเชียมากนัก
แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้คนก็เริ่ม ปรับตัวและเปิดใจกับอาหารชนิดใหม่ๆ กันมากขึ้น โดยเริ่มที่จะหันมาทดลองรับประทานอาหารประจำชาติอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งอาหารประเภทอื่นที่เป็นความนิยมเฉพาะกลุ่มเองก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพจำพวกอาหารมังสวิรัติหรืออาหารคลีน หรือจะเป็นอาหารทางเลือกอย่างอาหารคีโตที่เน้นการรับประทานไขมัน หรืออาหารเพิ่มโปรตีนเพื่อการออกกำลังกายอย่างอกไก่ปั่นเองก็ตาม
ในช่วงหลายปีก่อน หากได้ยินว่ามีคนเอาอกไก่มาปั่นเป็นสมูธตี้ดื่มก็คงคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (แต่จนถึงตอนนี้จะยังขนลุกอยู่หน่อยๆ นะ)
ภาพจาก : https://pbs.twimg.com/media/EK_GRKnUUAET-Ck.jpg
ซึ่งนอกจากอาหารทางเลือกเหล่านี้แล้วก็ยังมีอาหารเฉพาะกลุ่มอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มได้ความความสนใจกันมากขึ้นจนถึงขนาดที่ว่าทางสหภาพยุโรป EU (European Union) คาดเดาเอาไว้ว่ามันน่าจะเป็น อาหารยุคใหม่ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) นี้ และได้ทำการพิจารณาอนุมัติให้สามารถทำอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงเพื่อการค้าด้านการบริโภคได้อย่างถูกกฎหมายในทวีปยุโรปไปเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย และอาหารที่ว่านี้คือ “แมลง” นั่นเอง
โดยก่อนหน้าที่ EU จะพิจารณาอนุมัติให้สามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมายแล้วนั้น ทางองค์การอาหารและการเกษตร FAO (Food and Agriculture Organization) นั้นก็ได้ให้การยอมรับว่าแมลงเป็นอาหารทางเลือกใหม่ตั้งแต่ช่วงปี 2013 และได้ทำการอัปเดตรายชื่อแมลงที่สามารถรับประทานได้อยู่เรื่อยๆ และในตอนนี้ก็มีรายชื่อของแมลงที่รับประทานได้กว่า 2,111 ชนิดแล้ว (ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2017)
ภาพจาก : https://foodhow.com/edible-insects-bugs-and-worms/
ในอดีตนั้นเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้คนส่วนหนึ่งหันมารับประทานแมลงนั้นเป็นเพราะ เหตุจำเป็น เช่น ความยากลำบากในเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่, ภาวะการขาดแคลนอาหารในช่วงสงครามโลก หรือคนในบางพื้นที่ก็ตัดสินใจนำเอาแมลงมาประกอบอาหารเพื่อแก้ปัญหาศัตรูพืชที่เข้ามาก่อกวนพืชที่ได้ทำการเพาะปลูกไว้
นอกจากนี้ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มีความเชื่อว่าการรับประทานแมลงนั้นช่วยให้ “มีอายุยืนยาว” มากขึ้น (สำหรับประเด็นนี้ไม่มีหลักฐานออกมายืนยันสรรพคุณในด้านนี้แต่อย่างใด ไม่แน่ว่าอาจเป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นมาเพื่อจูงใจให้คนบางกลุ่มอยากที่จะรับประทานแมลงเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้)
ถึงแม้ว่าการรับประทานแมลงจะไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจหรือดูเป็นเรื่องประหลาดในสายตาของคนไทยที่เติบโตมากับการเห็นแผงตั้งขาย “แมลงทอด” ชนิดต่างๆ เป็นของทานเล่น (Snack) ตามตลาดนัด หรือการเห็นผลิตภัณฑ์แมลงแปรรูปในร้านสะดวกซื้อกันจนชินตาแล้ว
แต่ก็มีการคาดกันว่า หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าการรับประทานแมลงนั้นถือได้ว่าเป็น วัฒนธรรมร่วมของคนเอเชีย หลายๆ ประเทศเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีนที่ขึ้นชื่อในเรื่องการรับประทานสัตว์แปลก, Botok tawon หรือห่อหมกตัวอ่อนผึ้งของประเทศอินโดนีเซีย (ลักษณะคล้ายแอ๊บผึ้งของภาคเหนือ), Beondegi (번데기) หรือดักแด้ทอดของเกาหลี และ Inago no tsukudani (いなごの佃煮) หรือตั๊กแตนต้มโชยุของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ภาพจาก : https://www.tofugu.com/japan/eating-bugs/
ไม่ใช่แค่ประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น แต่ประเทศในแถบ แอฟริกาและอเมริกาใต้ เองก็มีอาหารท้องถิ่นที่ใช้แมลงเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย โดยในประเทศแม็กซิโกนั้นจะนิยมรับประทานตั๊กแตนคั่วที่เรียกว่า Chapulines, ในประเทศยูกันดาก็มีการรับประทานปลวกทอดที่เรียกว่า Nswaa หรือแม้กระทั่งชนเผ่าพื้นเมืองในเกาะซาร์ดิเนียของประเทศอิตาลีเองก็มีการทำชีสนมแกะที่ใช้ตัวอ่อนแมลงเป็นส่วนผสมในการหมักที่มีชื่อว่า Casu marzu ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมการรับประทานแมลง แต่ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าแมลงเป็นอาหารประจำชาติหรือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะในทุกประเทศที่กล่าวมาข้างต้นและประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนั้นก็ถือได้ว่า กลุ่มบุคคลที่ชื่นชอบในการรับประทานแมลงเป็น คนส่วนน้อย ภายในประเทศนั้นๆ และแมลงก็ยังถูกมองว่าเป็น “ของแปลก” ที่จะนำมารับประทานอยู่ดี ทำให้หลายคนน่าจะรู้สึกแปลกๆ กับการตัดสินใจในครั้งนี้ของทาง EU อยู่มากเลยทีเดียว
ดูเหมือนว่าจุดเริ่มต้นของการรับประทานแมลงนั้นจะเป็นในเรื่องของความจำเป็นกันเสียส่วนมาก และเมื่อเวลาผ่านไปบางคนก็เกิดความรู้สึก ติดใจในรสชาติ จึงทำให้ยังคงรับประทานแมลงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับเหตุผลที่ผู้คนในหลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสนใจกับการรับประทานแมลงนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้สึกที่ว่าต้องการจะ ลองของแปลก หรือชื่นชอบในรสชาติและรสสัมผัส (Texture) ที่แปลกใหม่เท่านั้น แต่เป็นเพราะคุณค่าทางโภชนาการของพวกมันต่างหาก
แมลงตัวเล็กๆ เหล่านี้อุดมไปด้วย แร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นกับร่างกายมนุษย์ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในตัวของแมลงแต่ละชนิดก็มีจำนวนสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อนำเอาไปเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์และโปรตีนชนิดอื่นๆ อย่างเนื้อไก่, เนื้อหมู, เนื้อวัว, เนื้อปลา, ไข่ หรือแม้กระทั่งเต้าหู้ในปริมาณที่เท่ากันแล้วนั้น เฉลี่ยแล้วแมลงมีจำนวนสารอาหารโดยรวมที่มากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ อยู่มากเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีปริมาณไขมันที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บุคคลที่ รักสุขภาพ บางคนหันมารับประทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของแมลงกันเพิ่มมากขึ้น
ภาพจาก : https://foodsecurityfoodjustice.com/2017/12/07/the-edible-insect-a-solution-to-global-food-security/
และนอกจากจะได้รับความสนใจในแง่ของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แมลงถูกมองว่าเป็น อาหารยุคใหม่ เป็นเพราะว่า การเพาะเลี้ยงหรือการทำฟาร์มแมลงนั้น “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มากกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนจำนวนมากในชั้นบรรยากาศอยู่มาก และจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้านั้น ประชากรโลกน่าจะเพิ่มขึ้นอีกราวหมื่นล้านคน ส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ภาพจาก : https://bugsfarm.jp/html/page1.html
ซึ่งหากจำนวนประชากรโลกและปัญหาภาวะโลกร้อนยังเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี ก็น่าจะทำให้ต้องแบ่งพื้นที่ออกไปเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ และพื้นที่บางส่วนอาจจมหายไปจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นการทำฟาร์มปศุสัตว์ในรูปแบบเดิมที่ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ก็น่าจะไม่ตอบโจทย์ของโลกอนาคตเท่าไรนัก ในขณะที่ การเพาะเลี้ยงแมลง นั้นใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงดูง่าย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลมากกว่า อีกทั้งยังมีคุณค่าทางสารอาหารที่มากกว่า
แม้จะทราบว่าแมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่เหมาะกับการเป็นอาหารของโลกอนาคตอันใกล้ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนที่ ไม่กล้ารับประทาน เพราะติดปัญหาอยู่ที่ว่า แมลงเหล่านี้ดูเป็นสัตว์แปลกปลอมที่ “ไม่ถูกสุขอนามัย และลักษณะหน้าตาดูไม่เป็นมิตร” และไม่ชวนให้รับประทานเท่าไรนัก
แต่ทางผู้ประกอบการก็เข้าใจข้อจำกัดในจุดนี้เป็นอย่างดี จึงได้ผลักดันให้การเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อการบริโภคนั้นถูกกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้มีมาตรฐานด้านความสะอาดในการเลี้ยงดูแมลงเหล่านี้ และได้พยายามที่จะพลิกแพลงผลิตภัณฑ์จากแมลงออกมาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่กล้ารับประทานแมลง โดยได้นำเอาแมลงเหล่านี้มาผ่านกระบวนการ แปรรูป ออกมาในลักษณะต่างๆ ได้แก่
แป้งจากแมลงชนิดต่างๆ ที่สามารถนำเอาไปเป็นส่วนผสมของอาหารหรือขนมได้หลายชนิดเหมือนกับแป้งอเนกประสงค์ทั่วไป แต่มีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าแป้งปกติถึงหลายเท่า
ภาพจาก : https://www.thailandunique.com/insect-bug-flour-powder
เส้นพาสตา และเบียร์ที่สกัดจากแมลง
ภาพจาก : https://www.bugburger.se/foretag/the-eating-insects-startups-here-is-the-list-of-entopreneurs-around-the-world/
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแมลงชนิดอื่นๆ
ภาพจาก : https://www.bugburger.se/foretag/the-eating-insects-startups-here-is-the-list-of-entopreneurs-around-the-world/
ก็ยอมรับว่าหลังจากผ่านการแปรรูปออกมาแล้วมันก็ดูน่ารับประทานมากขึ้นกว่าเดิมอยู่มากจนอยากจะทดลองชิมดูเหมือนกันนะ..
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |