หลายคนน่าจะทราบกันดีว่า ราคาน้ำมันดิบจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ และโดยปกติแล้วการลงราคาของน้ำมันนั้นดูเผินๆ เหมือนว่าจะเป็นเรื่องดีกับทุกภาคส่วน (ยกเว้นผู้ถือสัมปทานการขุดเจาะบ่อน้ำมัน) ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมัน, บริษัทจัดจำหน่ายปิโตรเคมีที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ รวมทั้งศูนย์กระจายน้ำมันและลูกค้ารายย่อย เพราะบริษัทผู้ผลิตซื้อน้ำมันดิบในราคาต้นทุนที่ถูกลง จึงทำให้สามารถขายน้ำมันและเคมีภัณฑ์อื่นๆ ได้ในราคาที่ถูกกว่าปกติ ผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาที่ถูกลง และมีเงินเหลือไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอื่นๆ ทำให้ มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ไปในทางที่ดีมากขึ้น ซึ่งในเวลาไม่นานราคาน้ำมันก็จะเริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งตามสภาพเศรษฐกิจ
แต่ในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เราจะพบเห็นข่าวว่า ราคาน้ำมันดิบได้ลดต่ำลงในทุกๆ วัน และดูเหมือนว่าจะไม่สามารถกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่ดีได้เลย แถมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็มีท่าทีว่าจะตกลงเรื่อยๆ ตามราคาน้ำมันดิบเช่นกัน และที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงเดือนเมษายนนี้มีข่าวออกมาว่าราคาน้ำมันดิบ WTI (West Texas Intermediate) ของอเมริกาลดต่ำลงจนถึงขึ้น “ติดลบ” นั่นก็น่าจะหมายความได้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอาจดำเนินมาถึงภาวะวิกฤตแล้วก็เป็นได้
ภาพจาก : https://www.forbes.com/sites/mikepatton/2020/04/21/oil-prices-turn-negative-amid-declining-economic-activity/#4715fcca4d83
การที่ราคาน้ำมันติดลบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยหลักๆ อยู่ที่อุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) ของผู้บริโภคนั้นมีน้อยกว่าอุปทาน (ความต้องการขาย) ของผู้ผลิตน้ำมัน จึงทำให้มีน้ำมันคงคลังเหลืออยู่เป็นจำนวนมากแต่ ไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้ อีกทั้งบริษัทน้ำมันบางส่วนก็ได้ทำการผูกขาดการซื้อน้ำมันไปล่วงหน้าแล้ว ทำให้นอกจากน้ำมันจะล้นตลาดแล้วก็ยังจำเป็นจะต้องรับเอาน้ำมันที่เซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วมา
โดยปกติแล้วสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าจะตัดรอบทุกๆ สิ้นเดือน แต่ในช่วงปี 2020 นี้จะเห็นว่าราคาน้ำมันตกติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายเดือนและไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น แถมจำนวนน้ำมันคงคลังก็ไม่ลดน้อยไปเท่าไรนัก จึงทำให้บริษัทน้ำมันต่างๆ ตัดสินใจเทขายสัญญาก่อนหมดอายุลง และไม่ขยายการต่ออายุสัญญาเพราะเกรงว่าราคาน้ำมันจะตกลงไปมากกว่านี้ จนทำให้วันที่ปิดตลาดการซื้อขายสัญญา (20 เมษายน 2020) ราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงสูงสุดถึง 300% โดยจากเดิมที่ราคาราว 17.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ร่วงลงไปอยู่ที่ -37.63 ดอลลาห์ต่อบาร์เรลภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราคาน้ำมันตกลงจนถึงระดับนี้
จะเห็นได้ว่าข้อมูลตั้งแต่ปี 1983 ไม่เคยมีประวัติว่าราคาน้ำมันดิบตกต่ำจนถึงขั้นติดลบมาก่อน
ภาพจาก : https://www.ft.com/content/a5292644-958d-4065-92e8-ace55d766654
ซึ่งนั่นหมายความว่าทาง WTI ได้ “จ้าง” ให้บริษัทอื่นๆ ซื้อน้ำมันของตนเอง เหตุผลที่ตัดสินใจทำแบบนี้เพราะหากปล่อยให้ราคาน้ำมันต่ำลงถึง -40 ดอลลาห์ต่อบาร์เรลต่อไปนั้น ทาง WTI จะต้องสูญเสียเงินราว -60 ดอลลาห์ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดก่อนหน้านี้อยู่ที่ราว 20 ดอลลาห์ต่อบาร์เรล จึงทำให้ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้น ในขณะที่หากทำการ “จ้างบริษัทอื่น” ให้ซื้อน้ำมันนั้นจะ ขาดทุนราวประมาณ -40 ดอลลาห์ต่อบาร์เรล เท่านั้น และยังได้ระบายน้ำมันดิบออกไปจากคลังอีกด้วย
การที่ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงจนติดลบและทำให้บริษัทน้ำมันจำนวนมากขาดทุนอย่างมหาศาลนั้นไม่ได้หมายความว่าราคาน้ำมัน, แก๊ส และปิโตรเคมีต่างๆ ในตลาดทั่วไปจะลดลงจากเดิมจนเห็นได้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด
“ราคาของแก๊สและน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนั้นจะถูกลงกว่าเดิมอย่างแน่นอน แต่ไม่มีทางที่เราจะเห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ออกมาแจกจ่ายน้ำมันให้กับประชาชนทั่วไปหรือจ้างให้คนทั่วไปซื้อน้ำมันจากบริษัทหรอก” Tom Kloza นักวิเคราะห์ราคาน้ำมันและผู้ก่อตั้งศูนย์บริการราคาน้ำมันโลกกล่าว
โดยเหตุผลที่ราคาน้ำมันในตลาดไม่ลดต่ำลงเท่ากับราคาน้ำมันดิบเป็นเพราะว่า การตั้งราคาน้ำมันไม่ได้ยึดจากราคาน้ำมันดิบของตลาดโลกเท่านั้น แต่ต้องรวมเอาปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าภาษี, ค่ากองทุน และค่าการตลาดเข้าไปด้วย หรือในบางประเทศที่ไม่มีบ่อน้ำมันก็ต้องรวมค่าขนส่งน้ำมันข้ามประเทศเพิ่มเข้ามาอีกด้วย
โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย จะเห็นได้ว่านอกจากราคาน้ำมันดิบแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
ภาพจาก : https://www.energynewscenter.com/wp-content/uploads/2019/07/Cover_OilPriceStructure-1.jpg
แน่นอนว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลงราคาของน้ำมันดิบก็คงหนีไม่พ้นผู้ถือสัมปทานบ่อน้ำมันและบริษัทธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีต่างๆ ที่ขาดทุนเป็นจำนวนมาก และทำให้หลายบริษัทก็ถูก “ยื่นฟ้องล้มละลาย” ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถยื่นขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าหลังจากถึงวันครบกำหนดแล้วทางบริษัทจะสามารถจ่ายหนี้ได้ครบเต็มจำนวนจนสามารถยกเลิกการแจ้งล้มละลายได้หรือไม่ โดย Artem Abramov หัวหน้านักวิจัยประจำสถาบันวิจัยพลังงาน Rystad Energy ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า
“การที่ราคาน้ำมันดิบลดลงไปอยู่ที่ 30 ดอลลาห์ต่อบาร์เรลก็เริ่มที่จะเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว และเมื่อราคาลงไปจนถึง 20 ดอลลาห์ก็ส่งผลห้บริษัทน้ำมันราว 533 บริษัทในสหรัฐอเมริกาถูกยื่นฟ้องล้มละลายแล้ว มันไม่น่าแปลกใจเลยว่าการที่ราคาน้ำมันร่วงลงไปจนถึง 10 ดอลลาห์หรือลดลงถึงหลักหน่วยนั้นจะสร้างความเสียหายได้มากเท่าไร เกือบทุกบริษัทในอเมริกาจะต้องได้รับหนังสือยื่นฟ้องอย่างแน่นอน”
ไม่เพียงแค่บริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เพราะมันส่งผลไปถึง ภาคธุรกิจอื่นๆ และเศรษฐกิจโลก โดยรวมด้วย ซึ่งหากใครเป็นนักเล่นหุ้นก็น่าจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงนี้ว่าดัชนีหุ้นเองก็ดิ่งลงรายวันเช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ นั่นเป็นเพราะว่าการลงราคาของน้ำมันดิบนั้นส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำมันดิบและธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมีโดยตรง
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มธุรกิจประเภทอื่นๆ เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้วน้ำมันถือว่าเป็นต้นทุนแฝงของธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกประเภท ทำให้การที่ราคาน้ำมันลดลง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาประกาศ Lockdown เมือง หรือขอความร่วมมือประชาชนให้งดการเดินทางหากไม่จำเป็น และได้มีการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าประเภทการบริการต่างๆ ก็ทำให้ธุรกิจในส่วนนี้หยุดชะงัก ภาคธุรกิจบางส่วนไม่สามารถดำเนินการได้หรือจำต้องชะลอธุรกิจและการลงทุน อีกทั้งภาคการขนส่งเองก็จำเป็นที่จะต้องงดการให้บริการของสายการบินและลดบริการขนส่งสาธารณะบางส่วน จึงส่งผลให้ ดัชนีหุ้นทุกประเภทร่วงต่ำลง ตามความต้องการของผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคทั่วโลกช่วงวันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 6 เมษายน 2020 จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าลดลง
ภาพจาก : https://www.visualcapitalist.com/every-vaccine-treatment-covid-19-so-far/
สำหรับประชาชนทั่วไปการลงราคาของน้ำมันดิบไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวบุคคลโดยตรง แต่จะได้รับผลทางอ้อมจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากกว่า โดยเฉพาะบุคคลที่ทำงานด้านการบริการ หรือภาคธุรกิจบางอย่างที่ไม่สามารถทำงานแบบ Work from Home ได้ ส่งผลให้คนเหล่านี้ อาจถูกเลิกจ้าง หรือบังคับลดเงินเดือน ในสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จำเป็นที่จะต้องประหยัดเงินให้ได้มากที่สุดเพราะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจับจ่ายใช้สอยสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือความจำเป็น ส่งผลให้อุปสงค์ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่อุปทานของธุรกิจต่างๆ กลับเพิ่มมากขึ้นเพราะต้องการเงินหมุนเวียนเข้ามาต่ออายุของบริษัทต่อไปนั่นเอง
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |