อาชีพอิสระ หรือ "ฟรีแลนซ์" เชื่อว่าเป็นคำที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันดี และนับวันก็ยิ่งมีคนผันตัวเองมาเป็น ฟรีแลนเซอร์ (ผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และผลการสำรวจตลาดฟรีแลนซ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุดในปี 2015 ที่ Upwork ร่วมมือกับ Freelancers Union ผลออกมมาว่าประชากรอเมริกันกว่า 54 ล้านคน ทำอาชีพฟรีแลนซ์ คิดเป็น 34% ของจำนวนประชากรเลยทีเดียว
ภาพลักษณ์ของฟรีแลนซ์ ในสายตาผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีความคิดคล้ายๆ กันว่า เป็นอาชีพอิสระ ทำงานง่าย รายได้ดี มีเวลาว่างเยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาชีพฟรีแลนซ์จะสวยงามตามความคิดหรือไม่?
ในสกู๊ปนี้เราจะพาทุกท่านไปเจาะลึกชีวิตจริงของ 3 ฟรีแลนเซอร์ ระดับมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในสายงานมาอย่างยาวนาน กว่าที่พวกเขาจะยืนหยัดอยูในความเป็นฟรีแลนเซอร์ได้อย่างสง่างาม พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง มีหลักปฏิบัติ หรือข้อควรระวังอย่างไรบ้างในอาชีพนี้ รับรองว่าเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าสำหรับคนที่อยากเป็นฟรีแลนเซอร์อย่างแน่นอน
โดยสกู๊ปพิเศษของเราครั้งนี้ มีผู้คร่ำหวอดในสายอาชีพฟรีแลนซ์มาให้สัมภาษณ์กับเรา 3 ท่าน ได้แก่
เรื่องราวเจาะลึกในวงการฟรีแลนซ์จะน่าสนใจขนาดไหน เรามาติดตามกันเลยครับ
คุณจักราวุฒิ เสียงดี (จักร) กับมุมมองของฟรีแลนซ์ในสายงาน โปรแกรมเมอร์ และ Digital Marketing
ชายหนุ่มผู้มีความมุ่งมั่นและชัดเจนในสายอาชีพฟรีแลนซ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับเราว่า "จุดเริ่มต้นในการเป็นฟรีแลนซ์ของผมมาจากการรับงานนอก และการเป็นฟรีแลนซ์เมื่อทำงานสักชิ้นจะได้รับเงินก้อนใหญ่กว่าการทำงานประจำ เพราะฟรีแลนซ์ประเมินผลงานตามที่เราทำจริง และเป็นอิสระกว่า จะตื่นตอนไหน ทำงานตอนไหนก็ได้ แต่ข้อเสียคือรายได้ไม่คงที่ ช่วงไหนที่ไม่มีงาน ก็ต้องเอาเงินเก่าที่เก็บไว้มาใช้ ถ้าไม่ดูแลการเงินให้ดี เงินก็อาจจะหมดในช่วงที่ไม่มีงานเข้ามา และสำหรับคนที่ออกจากงานประจำมาทำฟรีแลนซ์แล้วก็อย่าท้อ สักวันงานก็จะมีเข้ามา แต่ก็จะมีขั้นตอนของมันเอง ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่อิสระจริง แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่มันไม่ค่อยมั่นคง และต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพงาน เพราะถ้าผลงานดี ผู้ว่าจ้างก็จะส่งงานให้ทำต่อเนื่องครับ"
คุณพงศธร ศิลปอุไร (เบียร์) กับมุมมองของฟรีแลนซ์ในสายงาน Video Production
คุณเบียร์ได้ถ่ายทอดหลักคิดที่สำคัญ ของงานฟรีแลนซ์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า "เมื่อเรียนจบผมก็รับจ้างเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์อยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ทำงานประจำ แล้วก็ออกมาทำเป็นฟรีแลนซ์อีกครั้งแอย่างเต็มตัว อาชีพนี้มันมีความอิสระกับตัวเรา แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะถึงป่วยก็ต้องทนทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาของลูกค้า หรือหาตัวช่วยเป็นเพื่อนมาช่วยเราทำงาน เราต้องวางแผนว่าจะทำงานกับใครบ้าง หรือมีทีมสำรองในการช่วยเหลืองานหรือเปล่า และสิ่งทีสำคัญมากของความเป็นฟรีแลนซ์คือ เรามี Contact มากพอไหมสำหรับการรับงานในแต่ละเดือน เราต้องวางแผนว่าในแต่ละเดือนเราอยากมีรายได้ประมาณไหน แล้ว Contact ที่เราดิวงานได้มันมีศักยภาพในการสร้างรายได้ประมาณไหน ช่วงแรกที่ออกมาทำฟรีแลนซ์ทางบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมไม่ไปทำงาน แต่พอทำไปเรื่อยๆ คนทางบ้านก็เห็นว่าเราทำงาน เรามีรายได้ เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ากำลังทำอะไร และในทีสุดคนรอบข้างก็เข้าใจครับ"
คุณกาญจน์ชิตา อาทิตยา (มน) กับมุมมองจากฟรีแลนซ์ในสายงาน นักแปลภาษา
หญิงสาวที่มีความน่าสนใจในวิถีแห่งความเป็นฟรีแลนซ์เซอร์ของเธอ ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ฟรีแลนซ์เป็นตัวเลือกหนึ่งที่อยากจะทำตั้งแต่สมัยเรียนจบ แต่ในตอนนั้นไม่มี Connection ก็เลยตัดสินใจทำงานประจำมาก่อน จุดเปลี่ยนแปลงคือไปเจอทีมงานทำซับไตเติ้ลที่มีงานเข้ามาเรื่อยๆ บวกกับในเวลานั้นบริษัทที่ทำงานประจำอยู่ได้ปิดกิจการ ทำให้ตัดสินใจออกมาทำเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว และในระหว่างที่ทำงานประจำ เราก็ค้นหาข้อมูลใน Google ไปเรื่อยๆ ว่าที่ไหนมีงานให้ทำเป็นจ๊อบๆ บ้าง เราก็ส่ง Resume ไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกๆ ก็ยังไม่มีที่ไหนส่งงานมาให้ทำ ต้องใช้เวลา 1-2 ปีถึงจะเริ่มมีคนส่งงานมาให้ทำ พอเราทำงานชุดแรกส่งกลับไป เขาก็เห็นว่าเราทำงานได้ แล้วก็ส่งงานมาให้ทำเรื่อยๆ และการเป็นฟรีแลนซ์ไม่ใช่ว่าขี้เกียจทำงานเลยออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ตรงข้ามต้องขยันกว่าตอนทำงานประจำ 10 เท่า ต้องมีวินัยในการส่งงานให้ลูกค้า และรักษามาตรฐานของงานเอาไว้ให้ได้ค่ะ"
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |