โปรเจคเตอร์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในสำนักงาน หรือในห้องประชุม จริงอยู่ที่สมัยนี้มีจอภาพขนาดใหญ่ให้เลือกใช้มากมาย แต่โปรเจคเตอร์ก็ยังมีจุดเด่นเหนือกว่า ตรงที่สามารถขนย้ายไปใช้งานตามห้องต่างๆ ในสำนักงานได้สะดวก หรือการขนย้ายไปมาระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และเครื่องฉายโปรเจคเตอร์สมัยใหม่ ได้ถูกพัฒนาให้มีความสว่างสูง การฉายภาพที่สวยงาม และให้ผลลัพธ์กับฉายภาพขึ้นกำแพงห้องสีขาวได้เป็นอย่างดี
Casio เป็นแบรนด์ที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์และผลิตเครื่องโปรเจคเตอร์ โดยมีทั้งซีรี่ย์โปรเจคเตอร์ที่ออกแบบมาสำหรับห้องเรียน, องค์กรธุรกิจ, โปรเจคเตอร์แบบ Ultra Short Throw สำหรับการฉายในห้องที่มีพื้นที่จำกัด, โปรเจคเตอร์แบบ 4K ที่รองรับงานทางด้านความบันเทิง และโปรเจคเตอร์ในซีรี่ย์ Slim ที่เราได้รับมาทดสอบในครั้งนี้ จุดขายอยู่ที่ขนาดกะทัดรัดแบนบาง ไซส์ใกล้เคียงกระดาษ A4 และมีความหนาตัวเครื่องเพียง 1.69 นิ้วเท่านั้น เรียกว่าฉีกภาพลักษณ์เดิมๆ ของเครื่องโปรเจคเตอร์ไปโดยสิ้นเชิง และถึงแม้จะตัวเล็ก แต่ Casio เขาออกแบบให้ Slim โปรเจคเตอร์ ฉายภาพได้สว่าง และสวยงามไม่ด้อยไปกว่าโปรเจคเตอร์ไซส์มาตรฐาน ส่วนจะน่าใช้งานขนาดไหน ติดตามอ่านได้ในรีวิวเลยครับ
คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่
จุดเด่นจุดขายของ Casio XJ-A257 คือความเป็นโปรเจคเตอร์ Slim บางเบา ขนาดความกว้างและความยาวของมัน ใกล้เคียงกับกระดาษ A4 เลย แถมยังมาพร้อมกระเป๋าสะพายไหล่สีดำขนาดพอเหมาะ ที่นอกจากจะจัดเก็บตัวเครื่องโปรเจกเตอร์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังมีช่องสำหรับการจัดเก็บสายสัญญาณ สายไฟ และตัวรีโมทด้วย และด้วยน้ำหนักตัวเครื่องที่เบาเพียง 2.3 กิโลกรัม ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระในการพกพาติดตัวไปไหนมาไหน และด้วยความที่โปรเจคเตอร์ตัวนี้ รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi ไร้สาย สามารถใช้สมาร์ทโฟนในการฉายไฟล์นำเสนอได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องพกพาเครื่องโน้ตบุ๊ค
LampFree เป็นเทคโนโลยีการฉายของ Casio ที่หลอดฉายภาพ มีอายุการใช้งานประมาณ 20,000 ชั่วโมง คิดเป็นอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดฉายภาพแบบดั้งเดิมถึง 10 เท่า (High-pressure mecury lamp) ทำให้เป็นโปรเจคเตอร์ที่ดูแลรักษาง่าย และลดต้นทุนในการเป็นเจ้าของ หรือ TCO ให้กับองค์กรธุรกิจได้เป็นอย่างดี และด้วยระดับความสว่างที่จะค่อยๆ ลดลงช้ากว่าหลอดฉายภาพแบบเดิมๆ ทำให้มีความเสถียรในแง่ของคุณภาพการฉาย
และด้วยเทคโนโลยีการฉายแบบ Laser & LED Hybrid ของ Casio ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์สีน้ำเงิน และสีแดงทำงานร่วมกัน ทำให้เครื่องโปรเจคเตอร์ขนาดกะทัดรัด สามารถให้ความสว่างได้สูงถึงระดับ 3,000 Lumens ไม่น้อยหน้าโปรเจคเตอร์ไซส์มาตรฐาน
เป็นโปรเจคเตอร์ที่นอกจากจะบางเบาแล้ว ในส่วนของดีไซน์ตัวเครื่องก็มีความเรียบง่ายสวยงามดีทีเดียวครับ ตัวเครื่องตกแต่งด้วยโทนสีขาวสะอาดตา ตัดกับโทนสีเทาอ่อนบริเวณขอบข้างตัวเครื่อง
จุดที่ชอบมากที่สุดในเรื่องของดีไซน์ ก็คือฝาปิดเลนส์ชิ้นเล็กๆ ที่ยึดติดกับตัวเครื่องด้วยแรงดึงดูดจากแม่เหล็ก ที่สามารถปิดและดึงออกได้ง่ายกว่าฝาปิดเลนส์ของโปรเจคเตอร์ทั่วๆ ไป
และจุดหนึ่งของงานดีไซน์ที่ได้ใจไปเต็มๆ คือชิ้นขาตั้งทางด้านหน้าตัวเครื่อง ที่ออกแบบมาให้ปลดล็อก และปรับองศาการเงยเชิดหน้าของเครื่องโปรเจคเตอร์ได้ง่ายมากๆ และในส่วนของชิ้นขาตั้ง 2 อันทางด้านหลังตัวเครื่อง ที่ใช้ปรับแก้ความเอียงของโต๊ะที่ใช้วางฉาย ก็อาศัยการหมุนเพื่อปรับระดับความสูงของขาตั้งเหมือนอย่างเครื่องโปรเจคเตอร์ทั่วๆ ไป
ชุดปุ่มกดบนตัวเครื่อง แลดูเรียบง่ายลงตัว และมีปุ่มที่ครอบคลุมการเซ็ตอัพทั้งหมด
ช่องพอร์ตเชื่อมต่อทางด้านหลังตัวเครื่องประกอบไปด้วย
สายอะแดปเตอร์สำหรับเชื่อมต่อสัญญาณ ภาพ/เสียง แบบ Composite
ชอบใจโปรเจคเตอร์เครื่องนี้ ตรงที่มันสามารถเซ็ตอัพเพื่อเริ่มต้นการฉายได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความจริงที่ว่า ถ้าเราไม่ได้นำโปรเจคเตอร์ไปติดตั้งตายตัวกับเพดานห้อง มันมักจะถูกนำไปเก็บไว้ และหยิบมาใช้เมื่อมีใครสักคนต้องการฉายงาน และโปรเจคเตอร์บางเครื่อง ต้องใช้เวลาในการเซ็ตอัพปรับแต่งกันนานกว่าจะเริ่มฉายได้
แต่พอได้ลองใช้ Casio XJ-A257 ก็รู้สึกว่ามันเซ็ตอัพได้ง่าย และรวดเร็วมากๆ ด้วยความกะทัดรัดหยิบจับสะดวก บวกกับชิ้นฝาปิดเลนส์ และชิ้นขาตั้งทางด้านหน้าที่ออกแบบมาได้เป็นอย่างดี ทำให้มีความคล่องตัวในการเซ็ตอัพ และอีกจุดที่เจ๋งมาก คือโปรเจคเตอร์ทั่วๆ ไป จะอาศัยการปรับโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพคมชัด และปรับ Zoom เพื่อกำหนดขนาดจอฉาย ด้วยการหมุนวงแหวนที่ตัวเลนส์ แต่โปรเจคเตอร์ตัวนี้ เปลี่ยนมาปรับโฟกัส และปรับ Zoom ผ่านปุ่มกดที่รีโมท (หรือปุ่มทางด้านบนตัวเครื่องก็ได้) ซึ่งการปรับผ่านปุ่มมันง่าย และเร็วกว่าการปรับผ่านวงแหวนมากๆ เลย โดยที่ตัวรีโมทก็ออกแบบมาได้ดี มีน้ำหนักการกดปุ่มที่เบาสบาย ไม่ต้องใช้แรงกดปุ่มเยอะ แต่ก็มีเรื่องที่ต้องขอติเบาๆ คือ การแสดงสเกลการปรับซูมบนหน้าจอนั้น ดูแล้วค่อนข้างสับสน ไม่แน่ใจว่าเราได้ซูมภาพไปถึงระดับไหนแล้ว ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ซูมภาพให้มีขนาดเล็กสุด/ใหญ่สุดแล้วหรือยัง
และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทาง Casio ภูมิใจนำเสนอคือ เมื่อเปิดเครื่อง XJ-A257 มันสามารถให้ระดับความสว่างสูงสุดที่ 3,000 Lumens โดยใช้เวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น เทียบกับโปรเจคเตอร์ที่ใช้หลอดฉายแบบ High-pressure mecury lamp ที่เมื่อเปิดเครื่อง ความสว่างจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ XJ-A257 เริ่มต้นการฉายได้เร็วกว่า
จากภาพจะเห็นว่า โปรเจคเตอร์เครื่องนี้ ถ้านำไปใช้งานกับจอฉายที่มีขนาด 60 นิ้วแบบ Widescreen เราสามารถเลือกวางตัวเครื่องได้ห่างจากจอฉายในช่วง 140 - 280 ซม. และจากการทดลองของเราพบว่า เมื่อวางตัวเครื่องห่างจาก จอฉาย/กำแพงห้อง ในระยะประมาณ 147 ซม. ก็จะได้ภาพฉายที่มีขนาดใกล้เคียง 60 นิ้วพอดี (โดยปรับอัตราการซูมขยายของเลนส์ไปที่ระดับสูงสุด) และเราทดลองฉายโปรเจคเตอร์เครื่องนี้ ด้วยขนาดการแสดงผล 60 นิ้ว
การฉายงานนำเสนอแบบไม่ปิดไฟในห้อง ให้สีสันอิ่มเข้มสวยงามน่าพอใจ
Casio XJ-A257 เป็นโปรเจคเตอร์ไซส์ Slim ที่ให้การฉายได้อย่างสวยงามน่าประทับใจมากๆ และภาพสว่าง ลืมภาพเดิมๆ ที่ว่าการฉายโปรเจคเตอร์ให้ได้ภาพสวยๆ ต้องทำเฉพาะในห้องที่มืดๆ แสงน้อยๆ ไปได้เลย และกับการฉายหน้าสไลด์งานนำเสนอที่ประกอบด้วยตัวอักษร และภาพกราฟฟิกสีสันสดใส สามารถฉายในสภาพแสงของห้องในสำนักงานได้อย่างสวยงาม ไม่จำเป็นต้องปิดไฟในห้อง สีสันของภาพกราฟฟิกประกอบสไลด์มีความอิ่มเข้มน่าพอใจเลย ไม่ออกอาการสีจืดจนไม่น่าดู
การฉายงานนำเสนอแบบปิดไฟในห้องให้มืด ความอิ่มเข้มของสีสันเพิ่มขึ้น สวยงามดีมาก
และเมื่อปิดไฟในห้องฉาย สีสันของหน้างานนำเสนอ ก็มีความอิ่มเข้มสวยงามดีมากๆ ระดับความอิ่มของสีต้องบอกว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้เห็นบนจอ LCD monitor ของเครื่องคอมฯ เลย ตัวอักษรบนหน้างานนำเสนอก็สามารถฉายได้อย่างคมชัด เป็นประสิทธิภาพการฉายที่น่าประทับใจ และไม่ทำให้ใครผิดหวัง
การฉายไฟล์ภาพถ่ายแบบไม่ปิดไฟในห้อง
การฉายไฟล์ภาพถ่ายแบบปิดไฟในห้องให้มืด ถ่ายทอดความสวยงามของภาพถ่ายออกมาได้ดีมากๆ
มาต่อกันที่การเปิดดูไฟล์ภาพถ่ายความละเอียดสูง และคลิปวิดีโอความละเอียดสูงกันบ้าง ซึ่งการฉายภาพในรูปแบบนี้ เป็นการเสพความสวยงามของการแสดงผลอย่างสูงสุด ดังนั้นควรปิดไฟในห้องลงให้มืดมิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเราจะได้สัมผัสกับคุณภาพการฉายที่แท้จริงของ Casio XJ-A257 บอกเลยว่ามันแจ่มมาก สีสันอิ่มเข้มสดใสแบบสุดๆ ความคมชัดดีเยี่ยม มิติภาพมาเต็มเหมือนว่าเรากำลังได้เห็นภาพจริงอยู่ตรงหน้า ให้อารมณ์ภาพใกล้เคียงกับการรับชมผ่าน LCD-TV จอยักษ์
การฉายไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงแบบปิดไฟในห้องให้มืด ให้ภาพออกมาสวยงามมาก
และการเชื่อมต่อสัญญาณวิดีโอ เข้ากับเครื่องโปรเจคเตอร์ผ่านสาย HDMI จะทำให้สัญญาณเสียงไปดังออกที่ลำโพงบนตัวโปรเจคเตอร์ด้วย ซึ่งคุณภาพเสียงลำโพงอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจครับ แต่ถ้าเร่งระดับเสียงจนสุด อาจเกิดอาการเสียงแตกได้
สรุปว่า Casio XJ-A257 นอกจากจะรองรับการใช้งานในออฟฟิศได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังรองรับความบันเทิงในรูปแบบการฉายโฮมเธียเตอร์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เรียกว่าตอบโจทย์ได้ดีทั้งงานและความบันเทิง
อีกหนึ่งจุดเด่นของโปรเจคเตอร์เครื่องนี้คือ มาพร้อมกับอุปกรณ์ Wireless adapter ขนาดเล็กแต่มากความสามารถ ที่เสียบเข้ากับพอร์ต USB ทางด้านหลังตัวเครื่อง เพื่อให้รองรับการฉายแบบไร้สาย Wi-Fi ทั้งจากสมาร์ทโฟน (iPhone/Android) หรือเครื่อง PC/โน้ตบุ๊ค ซึ่งการเปิดฉายไฟล์ด้วยสมาร์ทโฟน มันเป็นอะไรที่สะดวกมากๆ เลยครับ ทำให้เราไม่ต้องแบกเครื่องโน้ตบุ๊คติดตัว เวลาจะไปนำเสนองานนอกสถานที่
การฉายหน้างานนำเสนอออกจอโปรเจคเตอร์ผ่านแอป C-Assist
โดยเราต้องติดตั้งแอป C-Assist ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับโปรเจคเตอร์ ลงในสมาร์ทโฟนของเรา (มีทั้งแอปฯ บนระบบ Android และ iOS) ซึ่งรูปแบบของไฟล์ ที่รองรับการฉายจากสมาร์ทโฟนออกจอโปรเจคเตอร์ก็มี ไฟล์เอกสาร .pdf และไฟล์ภาพ .jpg, .png และ .bmp แต่น่าเสียดายเล็กน้อย ที่ไม่รองรับการฉายไฟล์นำเสนอ PowerPoint จากสมาร์ทโฟน
แต่ก็มีทางออกโดยการใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint ทำการ Save as หน้าสไลด์งานนำเสนอทั้งหมด ให้เป็นไฟล์ .jpg แล้วโหลดไฟล์เก็บไว้ในสมาร์ทโฟน เพียงแค่นี้ก็ไม่ต้องใช้โน้ตบุ๊คในการฉายงานนำเสนออีกต่อไป (แต่การแปลงหน้างานนำเสนอเป็นภาพนิ่ง ก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่สามารถเล่นอนิเมชั่น หรือคลิปวิดีโอที่แทรกอยู่ในหน้างานนำเสนอได้)
การฉายหน้าเว็บออกจอโปรเจคเตอร์ผ่านแอป C-Assist
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เจ๋งมากๆ คือการฉายหน้าเว็บไซต์ออกจอโปรเจคเตอร์ โดยการควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นประโยชน์มากในกรณีที่เราต้องการฉายข้อมูลจากหน้าอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์เพื่อประกอบการนำเสนอ แต่ก็มีข้อจำกัดเล็กๆ คือ มันจะแสดงหน้าเว็บในรูปแบบที่เหมือนว่าเราเปิดดูเว็บผ่านสมาร์ทโฟน ในมุมมองหน้าจอแบบแนวตั้ง (Portrait)
สามารถใช้สมาร์ทโฟนเป็นกล้องสำหรับการฉายภาพแบบวิชวลไลเซอร์ ผ่านแอป C-Assist
การใช้งานแบบวิชวลไลเซอร์ สามารถนำหน้าเอกสาร หรือวัตถุใดๆ มาฉายออกจอโปรเจคเตอร์ได้เลย
และลูกเล่นสุดท้ายที่เจ๋งมากๆ คือการใช้กล้องของสมาร์ทโฟน ทำในสิ่งที่คล้ายกับการฉายภาพจากเครื่องวิชวลไลเซอร์ (Visualizer) ที่เราสามารถนำเอกสารหน้ากระดาษ, รูปภาพ หรือวัตถุสิ่งของใดๆ มาส่องด้วยกล้องของสมาร์ทโฟน แล้วฉายภาพนั้นออกจอโปรเจคเตอร์ได้เลย เป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มาก เพราะมันทำให้ Casio XJ-A257 กลายเป็นเครื่องวิชวลไลเซอร์ไปด้วยในตัว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือ จะแสดงการฉายวัตถุในมุมมองหน้าจอแบบแนวตั้ง (Portrait) ถ้าสามารถหมุนให้เป็นมุมมองแนวนอนได้ ภาพก็จะฉายออกได้เต็มจอ เด่นชัดกว่า
โน้ตบุ๊ค/PC ก็สามารถเชื่อมต่อกับ Casio XJ-A257 แบบไร้สายผ่านสัญญาณ Wi-Fi ได้เช่นกัน (โดยที่ โน้ตบุ๊ค/PC ต้องรองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi) ทำให้สามารถฉายงานนำเสนอได้โดยไม่ต้องเสียบสายสัญญาณให้ยุ่งยาก และโปรแกรมที่ใช้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่าง โน้ตบุ๊ค/PC เข้ากับเครื่องโปรเจคเตอร์ มีชื่อว่า Casio Network Connection ซึ่งการฉายออกจอโปรเจคเตอร์ เลือกได้ 2 รูปแบบ แบบแรกก็คือ การ Duplicate หน้าจอโน้ตบุ๊ค/PC ไปฉายออกโปรเจคเตอร์เลย ส่วนอีกแบบหนึ่งคือการแสดงผลแบบ Extend เป็นการกำหนดให้โปรเจคเตอร์ เป็นหน้าจอที่สอง แยกการแสดงผลเป็นอิสระ ออกจากหน้าจอโน้ตบุ๊ค/PC ที่เป็นหน้าจอหลัก
ฉายภาพจากเครื่องโน้ตบุ๊ค ที่เชื่อมต่อกับโปรเจคเตอร์แบบไร้สาย
จากการที่เราลองฉายภาพแบบไร้สายจากเครื่องโน้ตบุ๊ค พบว่าการเปิดฉายหน้างานนำเสนอ ภาพนิ่ง หรือหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ทำได้ลื่นไหลดีครับ แต่กับการเปิดฉายคลิปวิดีโอจาก YouTube ออกหน้าจอโปรเจคเตอร์ผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สาย พบอาการภาพสะดุด แต่โปรแกรม Casio Network Connection ก็มีทางออกด้วยฟังก์ชั่นการฉายวิดีโอ ที่รองรับการเปิดเล่นไฟล์วิดีโอฟอร์แมต .avi ซึ่งก็ให้การเปิดฉายวิดีโอแบบไร้สายที่ลื่นไหลดีครับ และมีออปชั่นให้เราเลือกส่งสัญญาณเสียงไปดังออกลำโพงที่ตัวเครื่องโปรเจคเตอร์ด้วย
เก็บไฟล์งานนำเสนอไว้ในธัมป์ไดร์ฟ ไม่ต้องพกโน้ตบุ๊คติดตัวอีกต่อไป
ช่องพอร์ต USB ทางด้านหลังตัวเครื่อง นอกจากจะรองรับการเสียบอุปกรณ์ Wireless adapter แล้ว มันก็ยังรองรับการนำธัมป์ไดร์ฟมาเสียบ เพื่อเปิดฉายไฟล์เอกสาร .pdf ไฟล์ภาพ .jpg, .bmp, .png, .gif รวมถึงการเปิดเล่นไฟล์วิดีโอ .mov และ .mp4 จากในธัมป์ไดร์ฟด้วย ซึ่งก็ต้องบอกว่าน่าเสียดาย ที่ไม่รองรับการฉายไฟล์นำเสนอ PowerPoint แต่ก็มีทางออกอย่างที่เราได้เคยบอกไปแล้ว กับการใช้โปรแกรม Microsoft PowerPoint ทำการ Save as หน้าสไลด์งานนำเสนอทั้งหมด ให้เป็นไฟล์ .jpg แล้วโหลดไฟล์เก็บไว้ในธัมป์ไดร์ฟ ซึ่งเราลองทำแบบนี้แล้ว ผลลัพธ์ก็ออกมาดีทีเดียวครับ การเปิดเล่นไฟล์วิดีโอ .avi จากธัมป์ไดร์ฟก็ทำได้อย่างลื่นไหล และเสียงจากวิดีโอก็ดังออกลำโพงของโปรเจคเตอร์ แค่พกโปรเจคเตอร์ และธัมป์ไดร์ฟไปอีกหนึ่งอัน เพียงแค่นี้เราก็พร้อมที่จะฉายงานนำเสนอแล้ว
การเลื่อนเปลี่ยนหน้าสไลด์งานนำเสนอ ควบคุมได้ง่ายๆ ผ่านรีโมท
โปรเจคเตอร์แบบ Slim บางเบาไซส์กระดาษ A4 พกพาสะดวก ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระในการขนย้าย และให้ความสว่างในการฉายสูงเทียบเท่าโปรเจคเตอร์ขนาดปกติ และด้วยเทคโนโลยีการฉายแบบ LampFree ให้ระยะเวลาการฉายนานถึง 20,000 ชั่วโมงไม่ต้องเปลี่ยนหลอดฉายกันบ่อยๆ และใช้เวลาในการเร่งความสว่างให้ถึงระดับสูงสุดแค่เพียง 5 วินาทีเท่านั้น ทำให้เริ่มต้นการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และที่เจ๋งมากคือ รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย Wi-Fi เพื่อการเปิดฉายไฟล์ผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่ต้องพกพาโน้ตบุ๊คไปฉายงานนำเสนออีกต่อไป และยังรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi กับโน้ตบุ๊ค/PC ด้วย เป็นโปรเจคเตอร์เครื่องเล็กๆ ที่เพิ่มความคล่องตัว ให้กับงานนำเสนอของคุณได้เป็นอย่างดี
ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |