จริงจังแค่ไหนถามใจดูแอดแอ๊ด! (ผู้เขียนรีวิวนี้)
ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป สำหรับเทคโนโลยีโลกเสมือนหรือ VR (Virtual Reality) เพราะในปัจจุบัน หลากหลายแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างก็พัฒนาและสร้างเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้ออกมาเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ผู้ที่มีความต้องการจะสัมผัสประสบการณ์สุดอัศจรรย์ดังกล่าวจากพวกเขาทั้งหลาย และ HTC เอง ก็เป็นอีกหนึ่งเจ้า ที่ในปัจจุบัน ได้เป็นหนึ่งในตัวเต็งเจ้าสำคัญแห่งวงการเครื่องเล่น VR ด้วยผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่าง HTC Vive ที่เด่นชัดด้านคุณภาพและประสบการณ์ที่มอบให้ผู้ใช้งานได้มากกว่าด้วยเทคโนโลยี Room-Scale ที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนไหวได้ดั่งใจบนโลกเสมือนจริง แต่กระนั้นภาพรวมทั้งหมดจะเป็นเช่นไร มันจะดีทุกภาคส่วนเลยหรือไม่? เชิญติดตามได้ในบทความรีวิวนี้เลยครับผม!
ข้อดี
| ข้อสังเกต
|
มาเริ่มกันที่เครื่องเล่นหลักชิ้นแรกเลยละกันครับกับเจ้า Headset VR HTC Vive (แว่น VR นั่นแหละ) ที่มีหน้าที่ในการพาผู้ใช้งานได้ท่องเข้าไปในโลกเสมือนจริงเพียงสวมใส่ โดยสัมผัสในขณะที่สวมใส่อยู่นั้น ต้องบอกเลยว่าผู้เขียนรู้สึกชอบ เพราะน้ำหนักของแว่นที่หัวของผู้ใช้งานต้องประคองเมื่อใส่ ไม่ได้หนักมากจนหัวทิ่มลงพื้นคอหัก แต่ก็ไม่เบาจนเป็นกังวลว่าจะหลุดในขณะที่เพลิดเพลินอยู่หรือเปล่า อีกทั้งวัสดุที่ภายนอกเองก็เป็นพลาสติกเกรดดีที่ให้ผิวสัมผัสเรียบ ไม่ติดมือ (คาดว่าคงไว้รองรับในกรณีที่เหงื่อออกเยอะแล้วต้องจับแว่น)
ส่วนทางฝั่งของคอนโทรลเลอร์เองก็ได้ใช้วัสดุแบบเดียวกันครับ ฉะนั้นหมดห่วงเรื่องน้ำหนักที่ไม่ลงตัวไปต่อกันที่ด้านสัมผัสการใช้งานได้เลย เพราะในส่วนนี้ มีจุดที่ทำได้ดีและต้องปรับปรุงในคราเดียวกัน
โดย สิ่งที่ทำดี ก็คือดีไซน์ของคอนโทรลเลอร์ที่ออกแบบมาให้การจับนั้น รู้สึกกระชับมือมากๆ และหลายปุ่มบังคับนั้น ก็อยู่ในบริเวณที่กดง่ายสามารถตอบสนองในขณะที่เล่นอยู่ได้อย่างทันท่วงที ได้แก่ Trigger ปุ่มที่มีลักษณะคล้ายไกปืนจะอยู่บริเวณนิ้วชี้เมื่อถือ อันเป็นปุ่มบังคับหลักเกือบแทบจะทุกเกมส์และแอปพลิเคชัน VR และ Touchpad ปุ่มที่มีการบังคับหลากหลายตามแต่ละเกมส์และแอปฯ
ซึ่งในขณะเดียวกัน สิ่งที่ควรติติง ก็ยังคงเป็นเรื่องของปุ่มบังคับนั่นแหละครับ โดยปุ่มที่ผู้เขียนค่อนข้างรู้สึกว่า กดยากไปสักนิด ก็ดูจะเป็นเจ้าปุ่ม Grip ที่อยู่บริเวณข้างซ้ายและขวาของคอนโทรลเลอร์ ซึ่งในบางเกมส์หรือแอปพลิเคชัน ปุ่มที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการบังคับอะไรเท่าไหร่นัก และในบางกรณีที่ดีๆ ละก็ ทั้งสองฝั่งสามารถใช้บังคับคำสั่งแทนกันได้ แต่ในกรณีแย่ที่สุดน่ะหรอ? ปุ่มทั้งสองแยกการควบคุมกันเนี้ยสิ...
คือในตอนที่ถือเจ้าคอนโทรลเลอร์อยู่ไม่ว่าจะมือข้างใดก็ตาม นิ้วของเราจะมีแรงกด/กดถึงได้โดยไม่ต้องพยายามมากแค่ฝั่งเดียวเท่านั้น (ถ้าถือคอนโทรลเลอร์ข้างซ้าย เราจะมีแรงกดปุ่ม Grip และกดถึงโดยไม่ต้องพยายามแค่ฝั่งขวา เป็นต้น) ซึ่งครั้น การจะไปกดบังคับอีกฝั่งมันก็ดูจะเป็นความพยายามอย่างสูงสุดจนเกินไป ทำให้ในเกมส์/แอปพลิเคชันที่แบ่งการบังคับของ Grip นั้น ผู้เขียนไม่สามารถใช้ฟังก์ชั่นปุ่มที่มีมาให้ครบได้เลย
แต่นอกเหนือจากนี้ ปุ่มที่เหลือทั้ง 2 อย่าง Application Menu (เหนือ Touchpad) และ System Menu (ล่างปุ่ม Touchpad) ก็ไม่ได้สร้างความรบกวนอะไรมากมายนักหากวัดจากจุดประสงค์ของทั้งคู่ ที่โดยมากจะเป็นเพียงการเปิดเมนูหรือการกลับไปเลือกของแต่ละเกมส์/แอปพลิเคชันขึ้นมา ซึ่งก็ถือได้ว่าอยู่ถูกที่ถูกทางแล้วละครับ
ก่อนเล่นต้องตั้งค่าตัวเครื่องก่อน ในภาพคือการเซ็ตให้เคลื่อนที่ได้หรือ Room-Scale นั่นเอง
HTC Vive ค่อนข้างมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งเยอะพอสมควรครับ อีกทั้งหากต้องการรับประสบการณ์ในการเล่นได้อย่างสูงสุดจากฟีเจอร์ Room-Scale ของเครื่องเล่นนี้แล้วละก็ พื้นที่หรือห้องที่ใช้ในการเล่นควรกว้างเสียหน่อยครับ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมี 2 x 1.5 เมตร ขึ้นไปครับ แต่ทั้งนี้ ถ้าพื้นที่มีจำกัดจริงๆ ก็ความกว้าง x ยาวขั้นแนะนำก่อนหน้านี้ก็สามารถเล่นได้ในโหมด Stand-Only อยู่นะ (แต่ก็นะ HTC Vive เขาเด่นเรื่องเทคโนโลยี/ฟีเจอร์ Room-Scale ไม่ใช้มันก็จะกระไรอยู่)
มาเริ่มต้นกันที่การเชื่อมต่อหลักๆ ของ HTC Vive กันเลยครับ แม้สิ่งที่อยู่ในกล่องจะมีเยอะแยะจนน่าปวดหัว แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีเพียง Headset หรือแว่น VR ที่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ของเราตลอดการทำงาน (คอนโทรลเลอร์และเซ็นเซอร์จะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ในกรณีอัพเดทเฟิร์มแวร์) โดยช่องเสียบใช้งานบนคอมพิวเตอร์นั้นมีเพียง HDMI และ USB 3.0 (ส่วนอีกสายมีหน้าที่ให้ไฟกับแว่นด้วยหัวปลั๊กสามตา) เมื่อดูแล้วว่าคอมพิวเตอร์เรามีช่องตามที่เครื่องต้องการ ก็ทำการเสียบสายทั้งสองที่มีอยู่บนแว่น VR เข้ากับ Link Box และนำสายสองแบบอีกหนึ่งชุดที่อยู่ในกล่องอุปกรณ์ นำมาเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ของเราอีกทอดหนึ่ง เท่านี้ตัวเครื่องหลักก็พร้อมทำงานแล้ว ส่วนคอนโทรลเลอร์ไร้สายทั้งสองจะชาร์จผ่านคอมพิวเตอร์ (usb 2.0 ธรรมดา) หรือจะผ่านปลั้กบ้านสองตา (ในกล่องอุปกรณ์มี Adapter ให้) ก็ได้ครับ
ต่อมาเป็นการเซ็ตติ้งพื้นที่ในการเล่น (Room-Scale) ซึ่งอันดับแรกเราต้องหาพื้นที่ในการวางหรือแขวน (ในกล่องอุปกรณ์มีเครื่องมือช่วยในการแขวนอยู่) Lighthouse base station หรือกล่องเซ็นเซอร์รับการเคลื่อนไหวของ HTC Vive เสียก่อน โดยการวางนั้น เซ็นเซอร์ทั้งสองชิ้น ต้องอยู่ในมุมตรงข้ามกัน (ตามรูปด้านบน) และทิ้งระยะห่างอย่างน้อยๆ 2 เมตร x 1.5 เมตร (ระยะขั้นต่ำที่แนะนำนี้ยังใช้เป็นพื้นที่ในการเคลื่อนที่ระหว่างการเล่นไปในตัวด้วยอีกทอดหนึ่ง) ครับ และหากเป็นไปได้ เซ็นเซอร์ทั้งสองควรถูกตั้งหรือแขวนอยู่ในความสูง 2 เมตรโดยประมาณ เพื่อให้มุมมองรับภาพในเกมส์มีระนาบสายตาที่ไม่ผิดเพี้ยน
การกำหนดพื้นที่ในการเล่นในโหมดการเล่นแบบ Room-Scale
เมื่อเสียบสายทั้งหมดพร้อมจัดวางกล่องเซ็นเซอร์ให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสมของพื้นที่ในการเล่นแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการเซ็ตติ้งพื้นที่ในการเล่น VR โดยเจ้าตัว HTC Vive นี้ จะต้องเล่นผ่าน SteamVR (แพลตฟอร์มไว้ใช้ในการซื้อ/เล่นเกมส์พีซีที่รู้จักกันนั่นแหละ) โปรแกรมที่ใช้ในการเล่นเกมส์ VR บนแพลตฟอร์มเล่นเกมส์พีซีอย่าง Steam นั่นเอง (ดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์นี้ได้เลย https://store.steampowered.com/about/)
ก่อนจะเซ็ตติ้งรูปแบบพื้นที่ในการเล่น ต้องเอาให้อุปกรณ์หลักทุกชิ้นพร้อมก่อน
ถ้าจะเล่นโหมด Room-Scale หรือมีพื้นที่ในการเล่นแบบอิสระ ก็ต้องกำหนดพื้นที่ในการเล่นเองด้วยการเดินร่างพื้นที่ตามนี้เลย
เมื่อพร้อมแล้วก็ทำการเปิด SteamVR ขึ้นมาแล้วเลือกไปที่ Room Setup โดยในส่วนนี้ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกได้ว่าจะเซ็ตติ้งพื้นที่การเล่นเป็นแบบไหนระหว่าง Stand-Only: ขยับตัวเอี้ยวตัวได้ปกติ แต่การเคลื่อนที่จะถูกจำกัด หรือ Room-Scale: ได้รับอิสระในการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ภายในพื้นที่ๆ เราเป็นคนกำหนด ซึ่งทั้งสองโหมด จะมีสิ่งที่ต้องตั้งค่าคล้ายกันอยู่ 2 สิ่ง คือการหาแนวระนาบพื้น (Calibration Floor) และการทำให้ทุกอุปกรณ์เชื่อมต่อกันทั้งหมดโดยสมบูรณ์เสียก่อน (เปิดการทำงานของแว่น VR, เปิดการทำงานของคอนโทรลเลอร์ และตั้งกล่องเซ็นเซอร์ให้เชื่อมถึงกัน) นอกนั้นแล้วโหมด Room-Scale จะมีมากกว่าเพียงสิ่งเดียวคือการร่างหรือกำหนดพื้นที่ในการเล่นครับ
Roller Coaster VR สักหน่อยไหม?
เกมส์มัลติเล่นสองคนก็มีนะ แถมมันส์ด้วย!
หลบหอกด้วยการเอี้ยวตัวใน Deadly Hunter VR
ในที่สุดก็มาถึงหัวข้อที่ผู้เขียนอยากนำเสนอและกล่าวถึงที่สุดเสียที กับประสิทธิภาพการแสดงผลในระหว่างที่อยู่บนโลกเสมือนจริงของเจ้า HTC Vive ที่ก็ต้องบอกละครับว่า "ชอบมาก!" เกือบทุกเกมส์ที่ผู้เขียนได้นำมาใช้ทดสอบมีการตอบรับตอบขานการเคลื่อนไหวได้ดีและเถรตรงเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวไปหาวัตถุในเกมส์ที่เราต้องการ, การหลบหลีกการโจมตีต่างๆ ด้วยการก้มหรือเอี้ยวตัว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ คืออิสระการเคลื่อนตัว/เคลื่อนไหวในโลกเสมือนที่ HTC Vive มอบให้ผู้เล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
Counter Fight เกมส์ทำอาหารน่ารักๆ
แต่ในส่วนของเกมส์และแอปฯ ก็มีข้อเสียอยู่หนึ่งข้อ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของตัวเครื่อง หากแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่ากาลเวลาครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยี VR ในปัจจุบัน ยังไม่ใช่เครื่องเล่น/อุปกรณ์หลักบนโลกไอที ทำให้เกมส์/แอปฯ ทั้งหลายมีลูกเล่นที่ไม่ได้เยอะสักเท่าไหร่ และยิ่งในฝั่งของเกมส์ เกมส์ส่วนใหญ่ก็จะมีระดับความยากหรือการเล่นในรูปแบบแคชชวล (Casual) เป็นหลัก เน้นง่ายๆ จบในด่าน หรือใช้เวลาในการเล่นแต่ละครั้งไม่มากนัก ฉะนั้นใครที่ใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าในการตัดสินใจซื้อของสักอย่าง HTC Vive ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ แต่หากต้องการสัมผัส อยากรู้อยากลองเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วละก็ เจ้าเครื่องนี้พร้อมจะให้คุณได้เจอสิ่งนั้นอย่างมีคุณภาพครับ
เมามันส์กันเหลือเกิน!
และสำหรับใครที่มักจะมีอาการ Motion Sickness (เมาภาพในเกมส์มีอาการคล้ายเมารถ) อันเกิดจากการเล่นเกมส์ที่มีมุมรับภาพแทนสายตาปกติ (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง) แล้วละก็ ไม่ต้องเป็นกังวลไปครับ HTC Vive จะไม่ก่อให้เกิดอาการนั้นแน่นอน และในส่วนนี้พิสูจน์ด้วยตัวผู้เขียนเองได้เลย เพราะผู้เขียนมักจะถูกอาการ Motion Sickness รุมเร้าตลอดเมื่อเล่นเกมส์ที่มีมุมรับภาพแบบบุคคลที่หนึ่ง แต่สำหรับเจ้า HTC Vive ผลที่ปรากฎออกมานั้น ผู้เขียนกลับไม่ได้ถูกอาการดังกล่าวมาเยี่ยมเยือนเลย
บุกตะลุยพร้อมดูหน้าดูหลังให้เพื่อนในเกมส์ HordeZ!
แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเครื่องที่ผู้เขียนใช้ทดสอบ มีสเปคตามที่ตัวเครื่องเล่นกำหนดอย่างพอดิบพอดี ซึ่งหากคอมพิวเตอร์ที่ใช้เชื่อมต่อกับ HTC Vive ไม่ได้มีสเปคที่สูงหรือตามที่แนะนำขั้นต่ำแล้วละก็ (การ์ดจอ: Nvidia GeForce GTX 970 หรือ AMD Radeon R9 290 ขึ้นไป, ซีพียู: Intel i5-4590 หรือ AMD FX 8350 ขึ้นไป และแรมที่ต้อง 4 GB เป็นอย่างต่ำ) หลายเกมส์และแอปฯ จะมีอาการกระตุก จนก่อให้เกิดการคลื่นไส้หรืออาการ Motion Sickness ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนในข้อเดียวกันของ HTC Vive ครับ เพราะถ้าทุกอย่างพร้อม ประตูแห่งการพาไปสู่โลกเสมือนของ HTC บานนี้ จะมอบประสบการณ์ได้ชนิดที่เรียกว่าดำดิ่งเลยละ แต่หากไม่แล้วละก็ "อย่าได้ไปแหยมเชียว"
โดยรวม HTC Vive ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์/เครื่องเล่นโลกเสมือนที่มีประสิทธิภาพสูงเอามากๆ ทั้งวัสดุภายนอก ที่ออกแบบมาได้สวยงามและเข้าใจสรีระมือของคน ปุ่มบังคับส่วนใหญ่ที่คลำหาเจอและกดใช้ได้ง่าย (มีบ้างบางปุ่มที่ไม่สะดวกต่อการกด) ประสิทธิภาพของตัวเครื่องทั้งแว่น VR และคอนโทรลเลอร์ที่มีการตอบสนองคำสั่งได้อย่างแม่นยำและเถรตรง เกมส์และแอปฯ ที่ใช้ศักยภาพของฟีเจอร์ Room-Scale (ให้ผู้เล่นได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระภายในพื้นที่ที่กำหนด) ของ HTC Vive ได้อย่างดีเยี่ยม
แต่กระนั้น ผู้ใช้ก็จำต้องมีคอมพิวเตอร์สเปคที่สูงตามที่ตัวเครื่องต้องการ (เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของตัวผู้เล่นเป็นหลักนั่นแหละ) และราคาค่าตัวที่แม้จะสูงไปสักนิดหากเทียบกับคอนเทนท์หรือสิ่งที่เทคโนโลยี VR ในปัจจุบันรองรับอยู่ แต่ยังไงเสียผู้เขียนเชื่อว่าปัจจัยด้านดังกล่าว จะไม่ใช่ปัญหา หากผู้ใช้ทั้งหลายเข้าใจว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้ จะสามารถตอบโจทย์และเป็นตัวช่วยสนับสนุนด้านต่างๆ ได้ (การศึกษา, การแพทย์ หรือแม้แต่ด้านธุรกิจ) หรือเอาง่ายๆ ว่า จ่ายเงินเพื่ออนาคตนั่นเอง
|
ทำไมไม่เรียกแมว! รักหนัง รักเกม ร๊ากกทุกคนนน ~ <3 |