Google เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Android 10 Q Beta ออกมาแล้วนะ แม้จะยังไม่มีกำหนดการปล่อยเวอร์ชันเต็มออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากที่ผ่านๆ มา คาดว่า Android Q น่าจะเปิดตัวประมาณไตรมาสสามในเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้
ผู้ใช้น่าจะได้สัมผัสกับ Android 10 Q ในช่วงปลายปีนี้ หรือไม่ก็ปี 2020 โน่นเลย เนื่องจากผู้ผลิตจะต้องเอารอมไปทำการคัสตอมปรับแต่งก่อนตามธรรมเนียม กว่าจะถึงตอนนั้น เรามาดูกันก่อนดีกว่าระบบปฏิบัติการ Android Q มีคุณสมบัติอะไรใหม่บ้างที่น่าสนใจ
Google ได้ปรับปรุงความเข้มงวดของความเป็นส่วนตัวของ Android Q ให้ปกป้องผู้ใช้มากกว่าเก่า การทำงานจะมีความโปร่งใสมากขึ้น, ผู้ใช้จะมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลได้ตามต้องการ และมีเครื่องมือที่จะช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัวจากแอปฯ 3rd-party ที่ดีกว่าเก่า
การใช้งานระบบระบุตำแหน่งใน Android Q สามารถตั้งค่าได้ละเอียดขึ้น คือ เลือกได้ว่าจะให้ทำงานตลอดเวลา, ทำงานเฉพาะเวลาเปิดแอปฯ หรือไม่ให้ใช้งานเลยก็ได้ (เหมือนกับบน iOS), ตัวคลิปบอร์ดใน Android Q ก็ได้ปิดกั้นไม่ให้แอปฯ 3rd-party มีสิทธิ์ในการเข้าถึงได้แล้ว
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจ คือ Scoped Storage โดยใน Android Q ตัวแอปฯ จะมีการสร้างพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาเป็น Sandboxes แยกเป็นของตนเองเลย ซึ่งแอปฯ ตัวอื่นจะไม่สามารถเข้าถึงไฟล์ในโฟลเดอร์ที่ไม่ใช่ของตนเองได้ ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยกว่าเดิมหลายเท่าเลยล่ะ
Bubbles เป็นของเล่นใหม่ใน Android Q ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้งานแบบ Multitask ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆ มันเหมือนลูกเล่นของแอป Messenger ที่ผู้ใช้ Android น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ว่า Bubbles ใน Android Q จะสามารถใช้งานได้กับทุกแอปฯ เลย แน่นอนว่าแอปฯ ที่น่าจะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ก็คือพวกแอปฯ แชท นั่นเอง
มือถือพับจอได้มีออกมาแล้วหลายรุ่น เช่น Samsung Galaxy Fold หรือ Huawei Mate X เป็นต้น ไม่แปลกอะไรที่ Android Q จะได้รับการพัฒนาให้รองรับกับการแสดงผลบนจอพับด้วย ซึ่งนักพัฒนาที่ต้องการทดสอบแอปฯ สามารถใช้อีมูเลเตอร์ Android Virtual device ที่อยู่บน Android Studio 3.5 ได้เลย
ขณะนี้ Android Studio 3.5 สามารถจำลองจอพับได้สองขนาด คือ 7.3" (4.6" ตอนพับ) และ 8" (6.6" ตอนพับ) สามารถทดสอบการแสดงผลในขณะที่จอพับอยู่ หรือกางออก ได้อย่างง่ายดายเลยล่ะ
ประสบการณ์นี้ผู้ใช้ iOS อาจจะนึกภาพไม่ออก คือ ระบบปฏิบัติการ Android นั้นให้อิสระในการแชร์ไฟล์ค่อนข้างสูง เวลาเรากดแชร์ ตัวระบบปฏิบัติการจะทำการสแกนตรวจสอบแอปฯ ในเครื่องว่ามีแอปฯ อะไรที่รองรับบ้าง ซึ่งนั่นทำให้มันใช้เวลาอยู่อึดใจหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ใน Android Q ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว โดยผู้พัฒนาแอปฯ สามารถสร้างปุ่มแชร์เอาไว้ในแอปฯ ของตนเองได้เลยเพื่อแก้ปัญหาการโหลดช้าจากปุ่มแชร์แบบเดิม
ใน Android Q มี API ตัวใหม่ที่ชื่อว่า MicrophoneDirection นักพัฒนาสามารถใช้ API ตัวนี้ในการกำหนดไมโครโฟนที่จะใช้งานได้ เช่น เรากำลังถ่ายวิดีโอแบบเซลฟี่อยู่ ก็สามารถสั่งให้มันใช้ไมค์ของกล้องหน้าแทนได้ (หากว่ามือถือรุ่นนั้นมี)
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Zoomable microphones ที่อนุญาตให้แอปฯ สามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ไมค์จะทำงานได้ด้วยคำสั่ง setMicrophoneFieldDimension(float)
เมื่อเรากดดูรูปที่ถ่ายด้วยมือถือที่มีเลนส์หลายๆ ตัว ภาพเหล่านั้นจะมีค่า Depth เก็บเอาไว้อยู่ ใน Android Q จะอนุญาตให้ผู้ใช้ทำการแก้ไขความเบลอ และโบเก้ได้เลย โดยไม่ต้องหาแอปฯ อื่นมาช่วยแก้ไขอีกต่อไป
การบันทึกวิดีโอหน้าจออาจไม่ใช่ฟีเจอร์ใหม่สำหรับมือถือจากค่าย OEMs ต่างๆ แต่สำหรับ Android แบบดั้งเดิมแล้วล่ะก็ มันเพิ่งจะถูกใส่เข้ามาใน Android Q นี่แหละ
เห็นฟีเจอร์ๆ เด็ดๆ แบบนี้แล้วอยากให้ Android Q รีบปล่อยออกมาเร็วๆ จัง ใครที่อยากสัมผัสปลายปีนี้น่าจะได้ใช้งานกันอย่างแน่นอน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |