มีหลากหลายเหตุผลที่หลายๆ คนชื่นชอบในการไปคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็นการได้ไปพบปะศิลปินที่ชื่นชอบ (แบบไกลๆ ถ้าไม่ได้โชคดีมากพอที่จะได้สิทธิ Meet & Greet หรือซื้อบัตรยืนไปเกาะรั้วแถบหน้าสุด) การพูดคุยกับกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบในสิ่งๆ เดียวกัน หรืออาจเป็นการหลีกหนีจากความเครียดของการทำงาน, การเรียน หรือการใช้ชีวิตต่างๆ เพราะการได้ไปคอนเสิร์ตนั้นเหมือนได้ปลดล็อกอะไรบางอย่างในสมองของเราให้ไหลไปกับเสียงเพลง และเราก็ไม่ได้คิดไปเองคนเดียว เพราะมีงานวิจัยจากหลายสำนักทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาออกมายืนยันแล้วว่า การฟังเพลงจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด และการได้ไปคอนเสิร์ตนั้นจะช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งมากขึ้น เพราะมันจะไปช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดลงได้ นอกจากนี้อาจช่วยให้คุณอายุยืนกว่าเดิมอีกด้วย!
ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Deakin ประเทศออสเตรเลีย ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับกลุ่มตัวอย่างราว 1,000 คน พบว่า กลุ่มคนที่ไปงานดนตรี, คอนเสิร์ต, มิวสิคเฟสติวัล หรือเต้นอยู่เป็นประจำนั้นจะมีเปอร์เซ็นต์ของความสุขที่สูงมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ไปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่งานแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ หรือมิวสิคเฟสติวัลเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการฟัง Gigs เล็กๆ ภายในคลับก็เช่นกัน
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/rock-band-silhouettes-stage-concert_1191530.htm#page=1&query=concert&position=25
และงานวิจัยของ O2 ที่ทำการศึกษาร่วมกับนักพฤติกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Goldsmith ประเทศอังกฤษ ก็ได้ออกมายืนยันในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกว่า การรับชม Gigs เพียงแค่ 20 นาทีนั้นจะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความสุขให้เราได้ถึง 21%เลยทีเดียว (เมื่อเทียบกับการเล่นโยคะและการพาสุนัขไปเดินเล่นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน) ซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นมานี้แบ่งได้เป็นความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (ในกรณีที่ไปคอนเสิร์ตคนเดียว) และความรู้สึกใกล้ชิดกับบุคคลรอบข้าง (ในกรณีที่ไปกับคนรู้จัก) 25% และความสุขจากความรู้สึกประทับใจทั้งจากตัวศิลปิน, บรรยากาศ และปัจจัยอื่นๆ ถึง 75%
บางคนอาจแย้งว่าการไปดูคอนเสิร์ตก็เหมือนๆ กับการนั่งฟังเพลงอยู่ที่บ้าน และเห็นว่ามันไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป เพราะเราเองก็ทราบเซ็ตลิสต์เพลงที่ศิลปินจะเล่นอยู่ก่อนแล้ว (และหากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบเพลงหน้า B-Side บางคอนเสิร์ตก็อาจไม่มีเพลงโปรดของคุณอยู่ในนั้นก็เป็นได้)
แต่งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Ritsumeikan (立命館大学) ในประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ทำการทดลองเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกันของอัตราการเต้นหัวใจของกลุ่มตัวอย่างที่ฟังเพลงที่ถูกบันทึกไว้ผ่านทางหูฟังหรือลำโพง เทียบกับการฟังเพลงในการแสดงดนตรีสด โดยให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 37 คน ได้รับชมการแสดงเปียโนและวัดชีพจรขณะชมการแสดงเอาไว้ หลังจากนั้นอีก 10 สัปดาห์ต่อมาก็ให้กลับมาฟังการแสดงเปียโนจากนักเปียโนกลุ่มเดิมในลักษณะเดียวกันผ่านทางสปีกเกอร์ ผลพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่ฟังเพลงในงานแสดงดนตรี (ในที่นี้คือเปียโน) สูงกว่าการฟังเพลงผ่านสปีกเกอร์จากห้องอัดเสียงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งนั่นหมายความว่า การฟังเพลงแบบ Live Session (ทั้งในคอนเสิร์ต, มิวสิคเฟสติวัล หรือ Gigs ต่างๆ ) ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าการฟังเพลงที่อัดไว้ก่อนหน้านี้ (Record Music) นั่นเอง
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Fall_out_Boy_Monumentour.jpg
นอกจากนี้ ความสุขของการได้ไปคอนเสิร์ตไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะแค่ช่วงเวลาที่เราอยู่ในคอนเสิร์ตเพียงเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่เราเห็นประกาศว่าศิลปินที่ชื่นชอบจะมาทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศไทย (หรือประเทศใดๆ ในโลกที่คุณอาศัยอยู่) แล้ว และความสุขนั้นก็เพิ่มขึ้นสูงไปอีกเมื่อกดบัตรคอนเสิร์ตได้ เพราะแค่การได้ใช้จ่ายเงินซื้อสิ่งที่เราชื่นชอบนั้นก็เพิ่มระดับของความสุขให้กับเราได้มากแล้ว แต่เมื่อได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศภายในงานแสดงคอนเสิร์ตที่นอกจากเราจะได้ฟังเพลงจากศิลปินที่เราชื่นชอบแล้ว การได้รายล้อมไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบในสิ่งๆ เดียวกันและพูดคุยกันถูกคอก็ทำให้เปอร์เซ็นต์ความสุขเพิ่มขึ้นและช่วยลดความเครียดลงได้มากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่ได้ชื่นชอบในการไปคอนเสิร์ตและมีความสุขกับการได้นั่งฟังเพลงอยู่ที่บ้านเงียบๆ คนเดียวก็ไม่ได้แปลกอะไร คุณแค่อาจไม่ได้เป็น Concertgoers (คนที่ชื่นชอบและมีความสุขกับการไปคอนเสิร์ต) ก็เท่านั้น แต่สำหรับเรามองว่าการไปคอนเสิร์ตเหมือนเป็นการจ่ายเงินซื้อประสบการณ์ เพราะคุณไม่มีทางที่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศในงานคอนเสิร์ตได้จากที่ไหนอีก ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายความเครียดอย่างการดูหนัง, อ่านหนังสือ หรือไปเที่ยวก็ตาม
ภาพจาก : https://www.morrisonhotelgallery.com/photographs/51S1Mw/Post-Concert-Mayhem
แต่การไปคอนเสิร์ตเองก็มีข้อเสียเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินหลังจากที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตไปเป็นที่เรียบร้อย หรือจะเป็นในเรื่องของ Post Concert Depression (PCD) หรืออาการซึมเศร้าหลังจากการไปคอนเสิร์ต ที่เป็นความรู้สึกเคว้งคว้างและหดหู่หลังจากที่ไปดูคอนเสิร์ตจบมาแล้ว โดยเกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงเวลาที่เราอยู่ในคอนเสิร์ตนั้นร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมน Endorphin และ Epinephrine (หรือ Adrenaline) ออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อจบคอนเสิร์ตแล้วร่างกายและสมองของเรานั้นยังปรับสมดุลไม่ทัน เพราะเรายังคงมีความต้องการความสุขในปริมาณที่เท่ากันกับในขณะที่อยู่ในคอนเสิร์ต แต่ไม่มีสิ่งกระตุ้นเดิม (คอนเสิร์ต) อีกแล้ว ทำให้การหลั่งสารแห่งความสุขของร่างกายนั้นออกมาอย่างไม่สมดุลกับปริมาณที่ต้องการจนทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวนี้ขึ้นได้ ซึ่งอาการนี้อาจเกิดขึ้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากจบคอนเสิร์ต หรือบางรายอาจเกิดความรู้สึกนี้ลากยาวไปจนถึง 2 เดือนถัดมาหลังจากนั้นเลยก็เป็นได้ (และสำหรับวิธีการแก้อาการนี้คุณอาจต้องงดเว้นการฟังเพลงของศิลปินนั้นๆ ไปสักระยะหนึ่งและหากิจกรรมอื่นนอกจากการฟังเพลงที่ทำแล้วมีความสุขทำไปก่อน)
ส่วนตัวไม่เคยสัมผัสกับอาการ PCD นี้ แต่สำหรับผลกระทบทางการเงินนั้นก็รุนแรงอยู่พอสมควรเลยทีเดียว เพราะหลังจากเสียเงินซื้อบัตรคอนเสิร์ตแล้วก็กลับมานั่งสำนึกผิดในทุกครั้งไป แต่ถามว่าไปไหม ก็ไปอยู่ดีแหละ เพราะกว่าศิลปินที่เราชื่นชอบจะมาทัวร์ที่ประเทศไทยนั้นไม่ง่ายเลย ถึงแม้ว่าในช่วงสองสามปีมานี้จะมีประกาศคอนเสิร์ตกันถี่เหลือเกินจนเก็บเงินแทบไม่ทัน แต่ศิลปินที่เราอยากให้มามากที่สุดก็ยังคงบินข้ามประเทศไปหน้าตาเฉย (นอกจากนี้ บางวงก็ยุบไปแล้วและไม่มีทีท่าว่าจะกลับมารียูเนียนแต่อย่างใดอีกต่างหาก)
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/anirudhkoul/2841482484
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |