ธนบัตรเป็นกระดาษที่ถูกพิมพ์ขึ้นมาเป็นพิเศษ เป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่มีมูลค่า (หรือมีใครคิดว่าเงินเป็นสิ่งไม่มีค่า) ทำให้มีคนนิสัยไม่ดีพยายามทำธนบัตรปลอมขึ้นมาใช้
หนึ่งในวิธีทำธนบัตรปลอมที่สามัญสุดๆ เลยก็คือ การเอาธนบัตรมาสแกน เสร็จแล้วก็สั่งพิมพ์ออกมาใช้ผ่านเครื่องพรินเตอร์ ก็ได้แล้ว แม้ว่างานที่ได้จะจัดว่าหยาบ และดูก็รู้ว่าเป็นแบงก์ปลอมได้ง่ายๆ แต่มันก็ยังถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม และมีคนตกเป็นเหยื่อได้อยู่เป็นประจำ
ขอยกกรณีศึกษาที่คนใกล้ตัวของผมเคยเจอมากับตัวเอง เพื่อนผมประกาศขายมือถือ แล้วมีคนมานัดรับตอนประมาณ 2 ทุ่ม ราคาถ้าจำไม่ผิดเพื่อนผมจะขายต่อไป 23,000 บาท ทางผู้ซื้อ (โจร) ได้ยื่นเงินให้นับ เพื่อนผมก็นับแล้วพบว่าครบ ก็ให้ของไป กลับมาถึงบ้านหยิบเงินออกมานับอีกที พบว่าเป็นธนบัตรจริงอยู่แค่ 4 ใบแรก กับ 2 ใบสุดท้าย ส่วนแบงก์ตรงกลางปึกที่เหลืออีก 17 ใบ เป็นธนบัตรปลอม ที่ดูออกได้ในทันที แต่คนร้ายอาศัยประโยชน์จากการนัดเจอกันตอนกลางคืนในจุดที่ค่อนข้างมืด ทำให้มองรายละเอียดได้ไม่ชัดเจน รวมกับการอาศัยธนบัตรจริงปิดหัวท้ายเพื่อให้สัมผัสไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของเนื้อกระดาษ |
เพื่อป้องกันไม่ให้การกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยง่าย จึงมีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า EURion constellation (เราไม่เจอว่าภาษาไทยมีคำเรียกเฉพาะหรือไม่ แต่มันแปลว่า กลุ่มดาวยูไรอัน)
ภาพจาก https://pixabay.com/images/id-3115984/
EURion constellation มีอีกชื่อที่เป็นที่รู้จักกัน คือ Omon rigns หรือ Doughnuts มันเป็นลวดลาย "สัญลักษณ์วงกลม" ที่พิมพ์ลงไปบนตัวธนบัตร ถูกคิดค้น และเริ่มใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายประเทศ ตั้งแต่ปี 1996
เจ้าลวดลายวงกลม EURion constellation นี้จะทำหน้าที่บอกให้เครื่องพรินเตอร์, เครื่องถ่ายเอกสาร หรือซอฟต์แวร์แก้ไขรูปภาพกราฟิกรับรู้ว่า งานที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นธนบัตร จากนั้นมันก็จะหยุดทำงานทันที เพื่อลดโอกาสการทำธนบัตรปลอม
สัญลักษณ์ EURion constellation
เครื่องสแกนเนอร์, เครื่องถ่ายเอกสารในปัจจุบัน จะมีการซอฟต์แวร์ตรวจจับ EURion constellation อยู่ในเฟิร์มแวร์เครื่องเลย ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากเราพยายามสแกน หรือถ่ายเอกสารแล้วพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับไฟล์ภาพที่ได้มา ภาพธนบัตรอาจจะแหว่งไปมาแค่บางส่วน หรือไม่ก็เหมือนมีแถบสีปิดทับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการผลิตธนบัตรปลอมนั่นเอง
ในซอฟต์แวร์แก้ไขรูป (บางค่าย) อย่าง Photoshop ก็มีระบบตรวจจับ EURion constellation ในตัวเช่นกัน หากเราได้หาทางสแกนธนบัตรได้สำเร็จด้วยวิธีการบางอย่าง และต้องการจะแก้ไขภาพ เราก็จะเจอกับหน้าต่างแจ้งเตือนอย่างชัดเจนบอกว่า ไม่รองรับการแก้ไขภาพธนบัตร
ภาพจาก https://www.reddit.com/r/graphic_design/comments/ah9s8n/tried_adding_banknotes_to_photoshop/
ธนบัตรของประเทศเทศไทย ก็เริ่มนำ EURion constellation มาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในธนบัตรแบบ 100 บาท และ 1,000 บาท ส่วนในธนบัตรของไทยแบบใหม่ล่าสุด (ฉบับที่ 17 ที่ภาพประธานด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารอากาศ) จะมีบนธนบัตรทุกแบบ ทั้งธนบัตรมูลค่า 20 บาท, 50 บาท, 100 บาท, 500 บาท และ 1,000 บาท ลองหยิบธนบัตรออกจากกระเป๋าสตางค์ออกมามองหากันได้ (ด้วยข้อกฏหมายทางด้านลิขสิทธิ์ เราจึงต้องขออภัยที่ไม่สามารถนำรูปธนบัตรมาลงให้ชมได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงตั้งแต่การออกแบบ จัดพิมพ์ จนนำออกใช้เป็นธนบัตรที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรจึงถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗
ดังนั้น การนำภาพธนบัตรไปใช้เพื่อเผยแพร่ในทุกรูปแบบ ต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก ธปท. หากการออกแบบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว โปรดส่งหนังสือการขออนุญาต พร้อมแนบตัวอย่างรูปแบบชิ้นงานให้ ธปท. ก่อนนำออกเผยแพร่หรือแจกจ่าย
ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของการวางตำแหน่งภาพมิให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ธปท.
อนึ่ง เคยมีคนพยายามเอาสัญลักษณ์ EURion constellation มาสร้างจดหมายที่ไม่สามารถสแกนได้ด้วยนะ โครงการนี้อยู่บน Github สามารถดูได้ที่ https://github.com/binfalse/stuff/tree/master/tex/eurion
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |