ข้อเด่น
| ข้อสังเกต
|
เมื่อปลายปี 2019 ทาง ASUS เปิดตัวโน้ตบุ๊ค ZenBook Duo | Pro Duo ที่มาพร้อมกับจอที่สอง แหวกแนวไม่ซ้ำใคร เพื่อเอาใจเหล่านักสร้างสรรค์ผลงานคอนเทนต์ (Content Creator) ใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรติดตามอ่านและดูรีวิวได้ที่นี่เลย
และล่าสุดทาง ASUS ก็ต่อยอดความสำเร็จโดยการเปิดตัว "โน้ตบุ๊คสองจอ" อีกหนึ่งรุ่นอย่าง ASUS ZenBook 13 / 14 / 15 ที่มาพร้อมทัชแพดที่เปลี่ยนเป็นหน้าจอเล็กๆ เพื่อใช้งานอเนกประสงค์ได้ ซึ่งทาง ASUS ก็ส่งมาให้เรารีวิวหนึ่งรุ่นคือ ZenBook 15 รหัส UX534F ที่มีจุดเด่นด้วยกัน 3 อย่างคือ ดีไซน์พรีเมียมตามสไตล์ ZenBook — สเปคจัดหนักการ์ดจอเกมมิ่ง — จอที่สองอเนกประสงค์ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ติดตามรับชมได้เลย
เริ่มกันที่ไฮไลท์ของ ASUS ZenBook 15 UX534F อย่างเรื่องของสเปคกันก่อนเลย ผู้เขียนไม่รู้ว่าจะจัดให้มันเป็นโน้ตบุ๊คพรีเมียมที่ดีไซน์หรูหราแถมเน้นเรื่องการประหยัดไฟหรือจะเป็นโน้ตบุ๊คสำหรับเล่นเกมส์ระดับเริ่มต้นดี นั่นก็เพราะว่ามันมีจุดเด่นของทั้งสองอย่างรวมกันอยู่ในตัวเดียวคือ ใช้ซีพียูประหยัดไฟและการ์ดจอระดับเกมมิ่ง ถ้าว่ากันตรงๆ เรียกว่า "ลูกครึ่งโน้ตบุ๊คพรีเมียมและเกมมิ่ง" น่าจะถูกต้องที่สุด ข้อดีของการเป็นลูกครึ่งก็คือสเปคมันยืดหยุ่นมาก คือถ้าจะใช้แบบทั่วไปประหยัดไฟก็ได้ แต่ถ้าต้องประมวลผลภาพเยอะๆ เช่น ตัดต่อ ทำ 3D หรือ เล่นเกมส์ เป็นต้น สเปคมันก็เพียงพอที่จะรันงานได้แบบสบายๆ ถือว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว
แต่เรื่องสเปคติดอยู่อย่างเดียวคือแรมเป็นแบบติดบอร์ดและไม่มีสล็อตให้ใส่เพิ่ม ทำให้การอัพเกรดแรมนั้นตัดออกไปได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นแรม 16GB ในปัจจุบันก็ยังถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานอยู่ แต่ในอนาคตล่ะก็ไม่แน่ อันนี้ถือว่าเป็นจุดสังเกตหนึ่งจุดที่เราเจอมา
ต่อกันที่เรื่องดีไซน์ของ ASUS ZenBook 15 UX534F เจ้าตัวนี้ยังคงคอนเซ็ปต์ Zen เหมือนรุ่นก่อนๆ ทำให้มันยังคงดูมีความหรูหราตามสไตล์โน้ตบุ๊คพรีเมียม
ด้านฝาหลังยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือใช้ลวดลายโลหะแบบวงกลมที่เน้นให้โลโก้ ASUS ดูเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง เวลากระทบแสงจะเกิดเส้นของแสงบนตัวเครื่องตัดผ่านโลโก้ค่อนข้างสวยงาม สำหรับผิวสัมผัสของฝาหลังถือว่าทำได้ดีมีความสากๆ เล็กน้อย เวลาจับถือไม่ลื่นหลุดมือง่ายๆ
ด้านท้ายเครื่องยังมีคำว่า ZENBOOK SERIES อยู่ตรงกลางไม่เปลี่ยนไป รวมถึงช่องระบายลมร้อนจากตัวเครื่อง (ฝั่งซ้าย) และช่องรับลมเย็น (ฝั่งขวา)
พลิกใต้เครื่องขึ้นมาจะเจอกับฝาปิดเครื่องแบบชิ้นเดียว ที่จะมียางกันลื่นทั้ง 4 มุม ลำโพงซ้ายและขวา และช่องรับลมเย็น พร้อมกับข้อมูลรายละเอียดต่างๆ
เมื่อเปิดจอขึ้นจะเห็นว่าตัวเครื่องถูกยกขึ้นเล็กน้อย เจ้าเทคโนโลยีนี้ถูกเรียกว่า ErgoLift ซึ่งมันมีอยู่ใน ZenBook ทุกรุ่น โดยฟังก์ชั่นการทำงานคือ เมื่อเปิดจอเครื่องจะถูกยกขึ้นประมาณ 3 องศา ข้อดีคือช่วยให้อากาศใต้เครื่องถ่ายเทสะดวก ลดความร้อนสะสมได้ รวมถึงช่วยเรื่ององศาการพิมพ์ของมืออีกด้วย อันนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นที่อยู่ในโน้ตบุ๊คของ ASUS หลายๆ รุ่นเลยล่ะ
ส่วนดีไซน์ของหน้าจอหลักก็ใช้แบบขอบบางมากๆ จนเกือบจะไร้ขอบเลยทีเดียว ดีไซน์แบบนี้ทาง ASUS ให้ชื่อว่า NanoEdge ซึ่งข้อดีคือมันทำให้ตัวเครื่องดูเล็กลงและดูกะทัดรัด เพราะตัดพื้นที่สิ้นเปลืองออกไป ทำให้ตัวหน้าจอกว้างถึง 92% ของตัวเครื่องทั้งหมดเลยทีเดียว
ส่วนขอบจอด้านบนก็มีกล้องหน้าความละเอียด 720p ที่มาพร้อมกับระบบสแกนใบหน้าด้วย IR (Infrared) ปลดล็อกเครื่องด้วยใบหน้าได้คล้ายกับมือถือสมาร์ทโฟน อันนี้ถือว่าดีมากปลดล็อกรวดเร็ว แถมถ้าไม่มองกล้องตรงๆ มันก็ไม่ปลดล็อกให้ด้วยนะ
สำหรับพอร์ตที่มาพร้อมกับ ASUS ZenBook 15 UX534F ก็มี USB-A | ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ส่วนฝั่งขวาอันนี้พอร์ตจะเยอะหน่อย มีช่องเสียบอะแดปเตอร์ | HDMI | USB-A | USB-C และช่องอ่านการ์ด (Card Reader) ดูครบครันดี แต่ผู้เขียนรู้สึกว่ามันติดอยู่อย่างหนึ่งคือซีพียูก็ใช้ Intel Gen-10th ที่รองรับเทคโนโลยี Thunderbolt 3 แต่เจ้ารุ่นนี้ดันไม่มีพอร์ต Thunderbolt มาให้ใช้งานกัน อันนี้ถือว่าเป็นจุดสังเกตเลย
ด้านในตัวเครื่องจะมีแถบโลหะสี Rose Gold พร้อมโลโก้ที่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของ ZenBook ถัดลงมาจะเป็นตัวคีย์บอร์ด Backlit ที่มีไฟส่องสว่างแบบ Full-Size พร้อมแผงตัวเลขที่มีตำแหน่งปุ่มหลายปุ่มก็จะแปลก เวลาใช้งานจริงต้องปรับตัวสักพัก
ถัดลงมาเป็น TouchPad ขนาดใหญ่ที่มีหน้าจอในตัว โดยทาง ASUS เรียกเจ้าส่วนนี้ว่า ScreenPad 2.0 มันมีขนาดหน้าจออยู่ที่ 5.65 นิ้ว ขนาดไล่ๆ กับมือถือ สามารถเปิด-ปิดได้ตามต้องการ
สำหรับขนาดตัวเครื่องถือว่ากะทัดรัด แม้จะใช้หน้าจอ 15.6 นิ้วแต่ก็มีสัดส่วนเท่าๆ กับโน้ตบุ๊คขนาด 14 นิ้วทั่วไปเลย ความกว้างxลึกจะอยู่ที่ 35.4 x 22 ซม. ส่วนความสูง 1.89 ซม. และน้ำหนัก 1.65 กก. ถือว่าไม่มากหากเทียบกับโน้ตบุ๊คเกมมิ่ง แต่ถ้าไปเทียบกับโน้ตบุ๊คพรีเมียมอันนี้ถือว่าหนาและหนักไปนิดหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่สร้างความลำบากให้กับการพกพาไปใช้งานนอกสถานที่
ส่วนสีตัวเครื่องของ ASUS ZenBook 15 UX534F ที่วางจำหน่ายในไทย มีอยู่สองสี คือ สีเงิน Icicle Silver และ สีน้ำเงินเข้ม Royal Blue สำหรับสีที่ได้มารีวิวคือ Icicle Silver ส่วนตัวชอบสีนี้เพราะดูแลง่ายกว่าไม่ค่อยมีรอยนิ้วมือ และมันทำให้ตัวเครื่องดูพรีเมียมเลยทีเดียว
สำหรับอุปกรณ์ที่ได้มาพร้อมกับเจ้า ASUS ZenBook 15 UX534F ในกล่องนั้น มีอยู่ไม่เยอะเลย
เรื่องหน้าจอของ ASUS ZenBook 15 UX534F ถือว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะมัน "มีสองหน้าจอ" โดยจอหลักเป็นจอ IPS ความละเอียด 4K ขนาด 15.6 นิ้ว แบบขอบบาง NanoEdge
ด้วยความที่มันเป็นจอ IPS ที่คมกริบระดับ 4K แถมแสดงสี RGB ได้ตรง 100% อีกด้วยทำให้มันนั้นสามารถเอาไปใช้ทำงานกราฟฟิกจริงๆ จังๆ เช่น การแต่งรูป การทำรูปกราฟฟิก รวมถึงตัดต่อวิดีโอได้อีกด้วยนะ ถือว่าใครที่จะซื้อไปทำงานด้านภาพนี่เหมาะเลย หรือเอาไปใช้ดูหนังก็ได้นะ ภาพคม สีตรง ดูเพลินเลย
ส่วนจอที่สองหรือ ScreenPad 2.0 ขนาด 5.65 นิ้ว โดยอยู่ในตำแหน่งเดียวกับทัชแพดซึ่งสามารถเปิด-ปิดจอได้ตามต้องการ ตัวจอมีความละเอียดอยู่ที่ FHD+ (2160x1080) ประเภท Super IPS พร้อมมุมมอง 178 องศา วิธีการเปิดใช้งานไม่ยุ่งยากแค่กดปุ่ม F6 บนแป้นพิมพ์แล้วเลือกไปที่ ScreenPad Mode
สำหรับการใช้งานจอ ScreenPad ก็ไม่ยุ่งยาก เปลี่ยนจากหน้าจอเล็กๆ เป็นการใช้ทัชแพดได้โดยการรูดด้านล่างจอขึ้นมา และกดไอคอนทัชแพดที่มุมซ้ายล่าง และถ้าจะปิดทัชแพดก็กดปุ่มกากบาทที่มุมขวาบน
ตัวจอที่สองใช้งานได้อเนกประสงค์เลย เปิดดูวิดีโอได้ เปิดหน้าเว็บได้ เปิดโปรแกรมได้ แต่ตัวอักษรจะเล็กๆ ไปนิดหน่อยต้องขยายเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์เสริมช่วยเพิ่มความสบายในการใช้งาน เช่น Quick Key ตั้งคำสั่งให้กดปุ่มคีย์บอร์ดตามต้องการ, Handwriting สำหรับเขียนตัวอักษรด้วยมือ เป็นต้น
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังประสบปัญหาอย่างหนึ่งคือขนาดหน้าจอที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้ต้องเพ่งตามอง และเวลาสัมผัสโดนบ้างไม่โดนบ้างต้องปรับแก้ Scale เป็น 250-300% ถึงจะใหญ่พอดีกับการกดและการมอง แต่ว่ากันตามตรงการที่มีจอเล็กเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งจอย่อมต้องใช้พลังงานเพิ่ม ทำให้แบตฯ ที่ควรจะใช้งานได้ยาวนานถูกลดทอนลง
จากที่ได้ทดลองใช้งานอย่างสมบุกสมบันมาตลอด 2 อาทิตย์ก็สรุปออกมาได้ว่าเจ้า ASUS ZenBook 15 UX534F มีประสิทธิภาพด้านกราฟฟิกที่เหนือกว่าโน้ตบุ๊คพรีเมียมทั่วไป นั่นก็เพราะได้ขุมพลังจาก NVIDIA GeForce 1650 Max-Q Design ที่ช่วยในเรื่องการประมวลผลภาพจึงทำให้มันทั้งเก่งทั้ง การตัดต่อ ภาพ 3D และการเล่นเกมส์ อันนี้ถือว่าตอบโจทย์คนที่ต้องแวะเวียนกับโปรแกรมที่กินสเปคหนักๆ อย่าง Photoshop, Illustrator, Premiere Pro
สำหรับการใช้งานจริงก็รู้สึกว่าทำงานได้เต็มที่เลย แรงกว่าโน้ตบุ๊คทั่วไปพอสมควร แต่ถึงจะไม่เท่ากับโน้ตบุ๊คระดับเกมมิ่งก็ตาม (เพราะว่าโน้ตบุ๊คเกมมิ่งใช้ซีพียูรหัส H ที่แรงกว่า) แต่มันก็พอที่จะใช้งานโปรแกรมหนักๆ ได้แบบลื่นๆ รวมถึงการเล่นเกมส์ด้วย ส่วนตัวผู้เขียนเองได้ใช้กับการตัดต่อวิดีโอผ่าน Premiere Pro เวลาที่ดูวิดีโอพรีวิว เรนเดอร์แบบ Realtime ก็ไม่มีอาการกระตุกให้เห็นเลย
ส่วนผลคะแนนจากการทดสอบความสามารถผ่าน PCMARK 10 ก็ได้คะแนนไปถึง 4,254 คะแนนเลยทีเดียว ถือว่าสูงกว่ามาตรฐานโน้ตบุ๊คพรีเมียมทั่วไปๆ และเรายังได้ทดสอบกับโปรแกรม Cinebench R15 ในส่วนของการเรนเดอร์ภาพ และส่วนความเร็วในการอ่านเขียนของ SSD ผลก็ออกมาได้ดีพอตัวเลย
ต่อด้วยความสามารถในการเล่นเกมส์ โดยเกมส์ที่จะนำมาทดสอบมีอยู่ 4 เกมคือ Overwatch, PUBG, DOTA 2 มาดูกันว่าผลจะเป็นอย่างไร
เริ่มกันที่เกมส์ Overwatch อันนี้ถือว่าทำออกมาได้ดี ปรับภาพ Ultra ความละเอียด FHD ทำได้ 50-60 fps เล่นได้ลื่นๆ อาจจะมีจังหวะเฟรมเรทดรอปบ้างแต่ถ้าปรับลงให้เลือก Low ค่า fps จะวิ่งอยู่ที่ 100-120 เลยทีเดียว
ต่อมาเป็น PUBG อันนี้ก็เหมือนกัน เล่นได้สบายๆ 45-60fps กับการตั้งค่า Medium การเล่นจะมีจังหวะที่ fps ดรอปลงเป็นช่วงๆ เวลาเจอเมือง แต่ถ้าปรับลงการตั้งค่าลงมาก็เล่นได้สบายๆ ไม่มีกระตุก
และ สุดท้าย DOTA 2 ก็ลื่นไม่ต่างกันเลย fps 40-60 เลย ถือว่าไม่แย่ แต่มีอาการเฟรมดรอปบ้างเวลาเจอเอฟเฟคเยอะๆ อันนี้เป็นปกติของเกมส์เก่าที่ใช้ DirectX 11
โดยสรุปด้านการเล่นเกมส์คือ ASUS ZenBook 15 UX534 ที่ใช้การ์ดจอ NVIDIA GTX 1650 Max-Q Design ที่แม้ว่าจะไม่ได้แรงเท่ากับตัว PC แต่ก็ถือว่าแรงพอตัวเลย เอามาเล่นเกมส์ได้แบบกรุบกริบ มีหน่วงบ้างบางที แต่โดยรวมแล้วถือว่าโอเคเลย
ปิด ScreenPad |
แต่ก็มีปัญหาอย่างหนึ่งที่เจอระหว่างเล่นเกมส์คือ ถ้าเปิดโหมด Fullscreen พร้อมกับเปิดจอเสริม ScreenPad ภาพจะไม่เต็มจอ ต้องปิดจอเล็กก่อนจึงจะหายหรือไม่ก็เล่นเกมส์ในโหมด Windows / Windows Borderless ส่วนวิธีแก้แบบถาวรอันนี้ผู้เขียนยังหาไม่เจอ
พูดถึงเรื่องประสิทธิภาพไปแล้วเราจะมาดูเรื่องความร้อนกันบ้าง ต้องบอกเลยว่าเห็นดีไซน์พรีเมียมแบบนี้ มีระบบระบายความร้อนที่ดีเลยทีเดียว ใช้พัดลมคู่ที่เป่าลมร้อนออกคนละทาง (หลังและซ้าย) พร้อมกับฮีทไปป์สองเส้นที่พาดระหว่าง CPU และ GPU ข้อดีคือระบายความร้อนเร็วกว่าเส้นเดียว
ความร้อนขณะทำงานทั่วไป เช่น พิมพ์เอกสาร ดูหนัง ท่องเว็บ ซีพียูจะอยู่ที่ 40-60 องศา ส่วนการ์ดจอจะยืนพื้นที่ 40 องศาถือว่าไม่ร้อนมากสำหรับโน้ตบุ๊คที่ใช้สเปคแบบนี้ แต่พอสลับไปใช้การ์ดจอหนักๆ ความร้อนของ CPU จะพุ่งไปที่ 60-89 องศา ส่วนการ์ดจอจะรักษาระดับอยู่ที่ประมาณ 70 องศาตลอดการใช้งาน
ถึงแม้ว่าความร้อนจะสูงขึ้นมากขณะใช้งาน แต่พอหยุดใช้ความร้อนก็ลดลงเร็วเช่นกัน นั่นก็เพราะว่าบอดี้ทำจากโลหะอะลูมิเนียมที่ระบายความร้อนได้ดี ทำให้ไม่เกิดความร้อนสะสมในตัวเครื่อง ข้อดีคือมือไม่รู้สึกร้อนทำให้ใช้งานนานๆ ได้สบายๆ
ต่อด้วยเรื่องสำคัญของโน้ตบุ๊คกันบ้างอย่างเรื่องแบตเตอรี่ ตามสเปคแล้ว ASUS ZenBook 15 UX534F มาพร้อมกับแบตฯ ขนาด 4480 mAh ที่ใช้สูงสุด 7-10 ชั่วโมง ซึ่งจากที่ทดลองใช้งานมามันก็อึดจริงๆ เนี่ยแหละ หากเปิดโหมดประหยัดพลังงาน Battery Life และไม่เปิดโปรแกรมที่กินสเปคหนักๆ จะอยู่ได้ถึงจริงๆ
กลับกันถ้าใช้สเปคหนักๆ มีการประมวลผลเยอะๆ แบตฯ จะใช้งานได้เหลือประมาณ 4 ชั่วโมงเท่านั้น และถ้าใช้งาน Full-Load ตลอดเวลาจะใช้งานได้แค่ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องปกติของโน้ตบุ๊คอยู่แล้วไม่น่าแปลกใจสักเท่าไร ส่วนการชาร์จไฟจาก 2-100% ก็ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง ไม่นานมากเท่าๆ กับโน้ตบุ๊คทั่วไป โดยรวมเรื่องแบตถือว่าประทับใจ พกพาไปพิมพ์งานนอกสถานที่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องหาที่ชาร์จ ใช้งานชิลๆ
ในส่วนนี้เราจะมาบอกเล่าเกี่ยวกับการพกพามันไปใช้งานนอกสถานที่บ้าง สำหรับตัวผู้เขียนเองที่ต้องพกเจ้าโน้ตบุ๊ค ASUS ZenBook 15 UX534F ตัวนี้ออกไปใช้ทำงานอยู่บ่อยๆ ก็รู้สึกว่าน้ำหนักของมันก็ไม่ได้มากมายอะไรหากเทียบกับสเปคและความสามารถในการประมวลผลที่ได้มา ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ ส่วนขนาดความหนานั้นก็ถือว่าหนากว่าโน้ตบุ๊คระดับพรีเมียมทั่วไป แต่ก็ยังบางน้อยกว่าโน้ตบุ๊คเกมมิ่งเกียร์อยู่เยอะๆ ถือว่าไม่หนามากขนาดกำลังดี สำหรับหน้าจอขอบบางอันนี้ช่วยประหยัดพื้นที่ไปได้เยอะมาก ทำให้มันมีสัดส่วนเท่าๆ กับโน้ตบุ๊คขนาด 14 นิ้วทั้งที่มีขนาดหน้าจอ 15.6 นิ้ว อันนี้ถือว่าขนาดตัวกะทัดรัด สรุปเรื่องการพกพาคือมันเป็นโน้ตบุ๊คมีขนาดตัวกำลังพอเหมาะและน้ำหนักที่กำลังพอดี ทำให้การพกพาไปใช้งานนอกสถานที่เป็นเรื่องที่สะดวกสบาย
ปกติแล้วด้านลำโพงของซีรีส์ ZenBook รุ่นก่อนหน้า จะมาพร้อมป้ายแบรนด์เครื่องเสียงระดับโลก harman/kardon แต่ในรุ่น ZenBook 15 2019 ปีนี้ไร้วี่แววไม่มีชื่อแบรนด์แปะมาแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นไม่มีแบรนด์แปะมาก็ใช่ว่าจะเสียงไม่ดี จากที่ทดลองฟังเพลง ดูหนัง หรือว่าเล่นเกมส์ เสียงก็ยังดูดีเลย ไม่แย่ มิติเสียงกว้าง ระดับเสียงดังกำลังดี แต่ถ้าใครรู้สึกว่ายังไม่ถูกใจก็มีโปรแกรมให้ปรับแต่งเสียง AudioWizard อยู่ด้วย
ระบบปลดล็อกตัวเครื่องของ ASUS ZenBook 15 UX5534F มาพร้อมกับกล้อง 3D IR Camera สามารถวัดมิติลึกตื้นหนาบางของใบหน้าได้ และยังจับตำแหน่งสายตาได้อีกด้วยว่าเรามองหน้าจอหรือไม่ จุดนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการใช้งานพอสมควรเลย
สำหรับเรื่องราคาเปิดตัวอยู่ที่ 46,990 บาท อันนี้หลายคนอาจจะมองว่ามันแพง แต่ถ้าเอาสเปคมากางเทียบกับโน้ตบุ๊คที่ราคาไล่ๆ กันแล้วถือว่าคุ้มค่าตัวมาก เพราะได้ SSD มาถึง 1TB และส่วนสำคัญอย่างหน้าจอก็ยังได้ความละเอียด 4K บวกกับจอเล็ก ScreenPad 5.65 นิ้ว และการ์ดจอ GTX 1650 Max-Q Design อีกด้วย บอกได้ว่ารุ่นอื่นไม่มีให้อีกด้วยนะ แต่ถึงอย่างนั้นได้สเปคแรงก็ต้องแลกด้วยขนาดตัวที่หนากว่า และน้ำหนักที่มากกว่า
สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ชื่นชม ASUS ZenBook 15 UX534F ในเรื่องสเปคที่ทำงานได้ดี เล่นเกมส์ลื่น และมีสองหน้าจอ จอหลักคมชัดระดับ 4K จอที่สอง ScreenPad ใช้งานอเนกประสงค์ได้เล็กๆ น้อยๆ (ถึงจะไม่ค่อยได้ใช้ก็เถอะ) รวมถึงชื่นชมเรื่องดีไซน์การออกแบบตัวเครื่องก็ยังจัดว่าสวยงามตามสไตล์ ZenBook ดูพรีเมียม เวลาพกไปใช้งานนอกสถานที่หน้าตาก็ดูหล่อเหลา
|
How to .... |