ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 55,299
เขียนโดย :
0 %E0%B8%AD%E0%B8%B5-%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8B+%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%28What+is+E-Commerce+Logistics+%3F%29
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

โลจิสติกส์ คือ อะไร ? (What is Logistics?)

โลจิสติกส์ (Logistics) ในความเข้าใจของคนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันหมายถึงการขนส่งสินค้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลจิสติกส์นั้นครอบคลุมไปถึงขั้นตอนหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่วิธีการจัดหาทรัพยากร จัดเก็บสินค้า และการขนส่งสินค้าไปยังสถานที่สุดท้าย

เดิมที คำว่า "โลจิสติกส์" เป็นศัพท์ที่ถูกใช้ทางทหาร โดยหมายถึงวิธีการที่ทหารจะใช้ในการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตเมื่อต้องการกล่าวถึงวิธีจัดการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทาน

เป้าหมายของระบบโลจิสติกส์ สามารถอธิบายแบบเรียบง่ายได้ว่า "เป็นระบบที่มีเป้าหมายในการบริหารจัดการให้ทรัพยากรมีพร้อมในเวลาที่สมควร ทำให้มันอยู่ในสถานที่อันเหมาะสม และขนส่งมันไปให้ถึงมือลูกค้าภายใน หรือภายนอก" 

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)
ภาพจาก https://pixabay.com/images/id-3021820/

รูปแบบของโลจิสติกส์
(Type of Logistics)

อย่างที่เราได้เกริ่นไว้ด้านบนเอาไว้ว่าโลจิสติกส์เป็นการ "เคลื่อนย้ายภายในห่วงโซ่อุปทาน" ซึ่งมันได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. โลจิสติกส์ขาเข้า (Inbound logistics) ใช้เรียกโลจิสติกส์ที่เน้นด้านการขนส่งวัตถุดิบหลัก, ชิ้นส่วน ฯลฯ จากแหล่งผลิต หรือซัพพลายเออร์ เพื่อนำไปแปรรูป, ประกอบในโรงงาน, ส่งไปยังคลังสินค้า หรือส่งไปให้ร้านค้าปลีก
  2. โลจิสติกส์ขาออก (Outbound logistics) ในส่วนนี้จะเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเป็นหลัก เช่น จากโรงงานถึงร้านค้า หรือจากร้านค้าถึงลูกค้า

ความแตกต่างระหว่างโลจิสติกส์ขาเข้า และโลจิสติกส์ขาออก

ความต่าง โลจิสติกส์ขาเข้า โลจิสติกส์ขาออก
ความหมาย การไหลเข้าวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ไปยังโรงงานผลิต การไหลออกสินค้าที่ผลิตเสร็จสิ้นแล้วไปยังผู้ที่ต้องการ
เกี่ยวข้อง การจัดการวัตถุดิบ และการจัดซื้อ การบริการลูกค้า และช่องทางการจำหน่าย
เป้าหมาย ลำเลียงวัตถุดิบ และชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ไปยังโรงงานผลิต     ลำเลียงผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วไปยังลูกค้า
ความสัมพันธ์ ระหว่างผู้ผลิต กับเจ้าของธุรกิจ ระหว่างเจ้าของธุรกิจ กับลูกค้า

โลจิสติกส์เติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่ออี-คอมเมิร์ซได้รับความนิยม
(Popularity of E-Commerce and Logistics)

หลังจากที่อินเทอร์เน็ตถูกเปิดให้ใช้งานได้แบบสาธารณะ เจฟฟ์ เบโซส์ ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ขายของออนไลน์ ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1994 ชื่อว่า Cadabra.com ซึ่งในปีถัดมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Amazon.com มันเป็นเว็บไซต์ E-Commerce แห่งแรกๆ ที่ถูกก่อตั้งบนโลกอินเทอร์เน็ต และมันก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า Amazon Effect ขึ้นมาทำให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และทั่วโลกเกิดผลกระทบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

Amazon effect ได้เปลี่ยนพฤติกรรมให้คนหันมานิยมซื้อสินค้าแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณก็สามารถช้อปปิ้งได้ สามารถหาสินค้าที่ต้องการได้ในไม่กี่คลิกเท่านั้น และหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่ Amazon ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานใหม่ก็คือระบบโลจิสติกส์

ในหนึ่งชั่วโมง Amazon ขายสินค้าได้จำนวนมหาศาล แต่ไม่ว่ารายการสั่งซื้อจะมากขนาดไหน Amazon ก็สามารถจัดส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้ภายในวันเดียว หรือแค่ไม่กี่ชั่วโมงด้วยซ้ำ นั่นก็เพราะ Amazon ได้พัฒนาระบบดิจิทัลโลจิสติกส์ขึ้นมาช่วยในขั้นตอนต่างๆ นั่นเอง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งหุ้นยนต์, AI และระบบซอฟต์แวร์มาทำงานร่วมกัน 

ปัจจุบันนี้สิ่งที่ Amazon ได้สร้างไว้ กลายเป็นต้นแบบให้มีเว็บขายของออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย และสิ่งที่เติบโตขึ้นไปพร้อมกันกับ E-Commerce ด้วย นั่นก็คือ ระบบโลจิสติกส์นั่นเอง

ในอดีต การซื้อของออนไลน์มีจุดอ่อนตรงที่ลูกค้าไม่ได้รับสินค้าในทันที ต้องเสียเวลารอรับสินค้านานหลายวัน หากต้องการรีบใช้งาน คนก็ยังจำเป็นต้องไปซื้อที่ร้านด้วยตนเองอยู่ดี แต่ปัจจุบันนี้สินค้าจะถึงมือลูกค้าเร็วกว่าเดิมมาก ร้านค้าหลายเจ้าส่งของถึงมือภายในวันเดียวกัน หรืออาจจะชั่วโมงเดียวด้วยซ้ำ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยระบบโลจิสติกส์ที่ดีด้วย

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ในประเทศไทย
(E-Commerce Logistics in Thailand)

ผลการสำรวจเมื่อเดือนกันยายนของปี 2019 พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 85% ในประเทศไทยเคยใช้บริการซื้อของออนไลน์ เป็นรองแค่อินโดนีเซียที่ครองอันดับหนึ่งด้วยอัตราส่วน 90% เท่านั้นเอง

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)

ในปี 2019 ที่ผ่านมา ตลาด E-Commerce ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง $4,313,000,000 (ประมาณ 134,738,120,000 บาท) และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)

แน่นอนว่ายอดขาย E-Commerce ที่สูงขึ้น ก็หมายถึงปริมาณสินค้าที่มีการขนส่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน จากการคำนวณของบริษัทขนส่งพัสดุในไทยรายใหญ่ประมาณ 22 ราย ในปี 2020 นี้ มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีการขนส่งสินค้ารวมไม่ต่ำกว่า 4,000,000 ชิ้นต่อวัน มูลค่าตลาดสูงประมาณ 66,000,000 ล้านบาท

โดยการเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่นิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ E-Commerce รายใหญ่ เช่น Lazada/ Shopee/ JD Central และการค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social Commerce) อย่าง Facebook/ LINE/ Instagram รวมถึง ในหน้าเว็บไซต์ของแต่ละร้านค้าเอง

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)

แม้มูลค่าตลาดจะเติบโตสูงขึ้น แต่ด้วยการอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย สังเกตว่าในปัจจุบันนั้นบริษัทด้านนี้มีการแข่งขันที่สูงมาก มีหลายเจ้า อาทิ ไปรษณีย์ไทย (เช็คพัสดุ EMS) เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (เช็คพัสดุ Kerry Express) ดีเฮชแอล (เช็คพัสดุ DHL และ เช็คพัสดุ DHL Express) นิ่ม เอ็กซ์เพรส (เช็คพัสดุ Nim Express) แฟลช เอ็กซ์เพรส (เช็คพัสดุ Flash Express) และเจ้าอื่นๆ อีกมากมาย จึงให้ค่าบริการขนส่งลดต่ำลง ซึ่งก็ส่งเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้ประกอบการ และผู้ซื้อที่จะรับภาระค่าขนส่งลดต่ำลง

อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)

ปัญหาด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย

ปัญหาท้าทายของการส่งสินค้าในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งมาจากผังเมืองที่แย่ สภาพการจราจรที่แออัด ทำให้ติดอันดับเมืองที่รถติดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การส่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งภายในเมืองที่ระยะห่างแค่ไม่กี่กิโลเมตร อาจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง สาเหตุนั้นมีจากหลายด้านมาก

  • กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอัตราประชากรหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้การวางผังเมืองมีความสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม การเติบโตภายในเมืองส่วนใหญ่อยู่ในมือของเอกชน และทางผู้มีอำนาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการผังเมืองมากนัก

    อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ คืออะไร ? (What is E-Commerce Logistics ?)
  • ระบบขนส่งภายในกรุงเทพมหานครมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยมีการลงทุนในระบบขนส่งจากเมืองหลวงไปยังนอกเมืองเท่าไหร่นัก
  • ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครทุกปีเป็นประจำ ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน

เมื่อปัญหาทุกด้านมารวมกัน จึงทำให้การส่งสินค้าภายในเมือง หรือจากในเมืองไปยังท่าเรือ และสนามบิน ไม่ใช่งานง่ายเลยสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์

นโยบายส่งเสริมของรัฐบาล
(Government Policy)

อ้างอิงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้ระบุเอาไว้ว่า

 หน้าที่ 144

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคม การกระจายความเจริญ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไร ก็ตาม ที่ผ่านมาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศประสบปัญหาความต่อเนื่อง ในการดำเนินการ และปัญหาเชิงปริมาณ คุณภาพ และการบริหารจัดการการให้บริการที่สอดคล้องกับ มาตรฐานสากล ทำให้มีข้อจำกัดในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะมุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและ พื้นที่เศรษฐกิจหลัก และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคม สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยง ในอนุภูมิภาคและในอาเซียนอย่างเป็นระบบ โดยมีโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศที่สนับสนุนการพัฒนา พื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการกำกับดูแลให้สอดคล้อง กับมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และ การคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และ การพัฒนาผู้ประกอบการในสาขาโลจิสติกส์และหน่วยงานที่มีศักยภาพเพื่อไปทำธุรกิจในต่างประเทศ

 จากหน้า 145

 เป้าหมายที่ 3 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้าน
โลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ระบบ National Single Window
(NSW) สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการนำเข้าส่งออก และโลจิสติกส์ด้วยระบบ
อิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษได้อย่างสมบูรณ์ บุคลากรด้านโลจิสติกส์ได้รับการพัฒนาให้มีผลิตภาพสูงขึ้น
รวมทั้งการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออก ณ ด่านการค้าชายแดนสำคัญที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลัก
มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • ตัวชี้วัด 3.1 อันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ และประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าดีขึ้น
  • ตัวชี้วัด 3.2 จำนวนธุรกรรมการให้บริการการนำเข้า และส่งออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นร้อยละ 100 ในปี 2564
  • ตัวชี้วัด 3.3 ปริมาณสินค้าที่ผ่านเข้า-ออก ณ ด่านการค้าชายแดนที่สำคัญเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ต่อปี

ที่มา : www.investopedia.com , en.wikipedia.org , keydifferences.com , cerasis.com , www.entrepreneur.com , whatis.techtarget.com , www.uih.co.th , www.miva.com , www.bangkokpost.com , www.statista.com , datareportal.com , www.scbeic.com , www.nesdc.go.th , eaglesthai.com , worldpopulationreview.com

 
0 %E0%B8%AD%E0%B8%B5-%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8B+%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%28What+is+E-Commerce+Logistics+%3F%29
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ