Never Have I Ever เป็นซีรีส์ดรามา-คอเมดี้น้ำดีจาก Netflix ที่พาเราไปสำรวจชีวิตของเด็กสาววัยรุ่นอายุ 15 ปี ชาวอินเดียที่ย้ายมาตั้งรกรากที่อเมริกา ตัวเอกคือ เดวี วิศวกุมาร เด็กอินเดียพลัดถิ่นที่มีความเป็นอเมริกันมากเสียยิ่งกว่าคนอเมริกันเสียอีก พ่อแม่ของเธอพยายามรักษาความเป็นอินเดียไว้เต็มร้อยแต่ดูเหมือนมันจะไม่ค่อยซึมเข้าหัวเดวีสักเท่าไหร่ ชีวิตของเธอเหมือนกำลังไปได้สวย
แต่แล้ว เธอก็สูญเสียคุณพ่อไปในวันที่เธอแสดงดนตรีที่โรงเรียน นั่นทำให้ขาเธอเกิดเป็นอัมพาตขึ้นมาเองจนเดินไม่ได้ 3 เดือน แต่ด้วยความอยากส่องหนุ่ม เดวีจึงลุกขึ้นยืนได้วันหนึ่งเพราะเธอนั้นแค่อยากจะเห็นหน้า แพ็กซ์ตัน ฮอลล์ โยชิดะ หนุ่มสุดฮ็อตของโรงเรียน! ซีรีส์เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเดวีขึ้น ม.4 และเธอวางแผนกับเพื่อนสนิทว่าจะต้องมีแฟนควงไปงานพรอมให้ได้!
ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/paultassi/2020/05/01/netflixs-never-have-i-ever-is-its-best-teen-comedy-to-date/#4542c4e62725
Never Have I Ever มีความน่าสนใจตรงที่ตัวละครหลักๆ นั้นไม่มีใครเป็นเด็กอเมริกันเลย เดวีมีเชื้อชาติอินเดีย ส่วนเพื่อนสนิททั้งสองคนของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเอเลนอร์ หว่อง ก็เป็นคนจีน หรือฟาบิโอลา ทอร์เรส ก็เป็นคนเม็กซิกัน ทั้งสามต้องตกเป็นเป้าของการแกล้งที่โรงเรียน โดยเฉพาะจากศัตรูคนสำคัญของเดวี - เบน กรอสส์ ซึ่งเรียกทั้งสามว่า The UN เป็นการล้อว่าทั้งสามมาจากหลายเชื้อชาติ ยิ่งเดวี เอเลนอร์ และฟาบิโอลาเป็นเด็กเนิร์ดเรียนดีด้วยแล้ว ยิ่งที่ให้ความป็อปในตัวติดลบเข้าไปใหญ่ เพราะไม่มีใครเห็นว่าเด็กเนิร์ดชาวต่างชาติอย่างพวกเธอน่าสนใจมากพอ นี่เป็นสาเหตุให้เดวีคิดแผนเข้าไปสารภาพกับแพ็กซ์ตันว่าเธอแอบชอบ และขอให้เขามีอะไรด้วย ซึ่งแพ็กซ์ตันก็ตอบตกลงมาอีกต่างหาก!
ที่มาภาพ: https://www.playinone.com/folkplay/never-have-i-ever-review-netflix/
ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นการพยายามปรับตัวของเดวีเพื่อให้เข้ากับสังคมอเมริกันได้ ในขณะเดียวกับก็มีความตั้งใจของคนรุ่นพ่อแม่ที่อยากเก็บรากเหง้าเดิมของตัวเองไว้ เดวีจึงต้องเนียนโกหกว่าจะไปทำการบ้านที่บ้านเพื่อนทั้งๆที่เธอตั้งใจไปงานปาร์ตี้ (ซึ่งบางครั้งไม่มีคนเชิญ) หรือพยายามแต่งตัวให้เปรี้ยวจี๊ดจนหกล้มทั้งส้นสูง เธอพยายามทุกอย่างที่จะมีชีวิต ม.ปลาย แบบเด็กอเมริกันทั่วไป แบบที่เธอเคยพูดเสมอว่าเธอแค่อยากเป็นเด็ก “ธรรมดา” ที่ไม่โดนมองหรือโดนล้อ แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับเธอ
มนุษย์มีแนวโน้มจะแบ่งแยกคนออกเป็นประเภทอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่การแบ่งแยกทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมนั้นมีมากกว่าแค่การแยกประเภทคน เพราะมันคือการทำให้ตัวเอง “เหนือกว่า” และทำให้คนที่เราแบ่งแยก “ด้อยกว่า” เราในทุกๆ ด้าน การแบ่งแยกเช่นนี้เป็นผลมาจากพื้นเพทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละคน แต่สิ่งที่ร้ายกาจมากในการแบ่งแยกเช่นนี้ ก็คือการเหมารวมแบบสุดโต่ง (overgeneralisation) ว่าคนเชื้อชาติหนึ่ง หรือคนในกลุ่มสังคมหนึ่งจะต้องเป็นเหมือนๆ กันไปหมด
ที่มาภาพ: https://www.playinone.com/folkplay/never-have-i-ever-review-netflix/
การแบ่งแยกที่รุนแรงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงล่าอาณานิคมของตะวันตกในศตวรรษที่ 19 โดยชาวตะวันตกได้เข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของชนพื้นเมือง และเหมารวมว่าชนพื้นเมืองนั้นป่าเถื่อน ล้าหลังกว่าตน และต้องได้รับการสั่งสอนโดยให้ชาวตะวันตกเข้าไปปกครอง หรือในบางกรณีก็ควรถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บ่อยครั้งพวกเขาก็ลบประวัติศาสตร์ของคนในพื้นที่เพื่อให้คนเหล่านั้นไม่เหลือหลักฐานว่าวัฒนธรรมองตัวเองก็มีสิ่งดีงามอยู่ในนั้น
การล่าอาณานิคมยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา โดยแปลงรูปเป็นการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรมแทน ด้วยการทำให้วัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่งดูสูงส่งกว่าวัฒนธรรมอื่น ในโลกปัจจุบัน วัฒนธรรมคนขาวอย่างเช่นของชาวอเมริกันหรืออังกฤษได้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก เราอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เดวีเจอเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม ซึ่งลดทอนคุณค่าของวัฒนธรรมบ้านเกิดเธอ ให้กลายเป็นเพียงสิ่งนอกกระแส และไม่ควรค่าแก่การสนใจ
ที่มาภาพ: https://thewire.in/film/review-netflix-never-have-i-ever
การที่หนังพยายามสอดแทรกวัฒนธรรมอินเดีย เช่นในฉากพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าที่ชาวอินเดียในเมืองของเดวีมารวมตัวกัน จึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่ทำให้วัฒนธรรมที่ไม่ใช่อเมริกันมีพื้นที่ขึ้นมา และเป็นการป่าวประกาศว่ายังมีวัฒนธรรมอื่นๆอีกมากมายในโลกนี้ที่มีความงดงามในตัวของมัน น่าสนใจว่า สื่อที่ถูกใช้กลับเป็นหนังฮอลลีวูดที่โดยปกติเป็นพื้นที่ของวัฒนธรรมคนขาวเสียเอง
กล่าวได้ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีสีสัน จนไม่แปลกใจเลยที่ซีรีส์เรื่องนี้ฮิตติดลมบน ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในชาร์ตของ Netflix อเมริกาในช่วงที่ออกฉาย
ที่มาภาพ: https://www.imdb.com/title/tt10062292/mediaviewer/rm2651435777
|
นักเขียนอิสระให้กับสื่อออนไลน์ ชอบวิจารณ์หนังและหนังสือ |