ไม่เพียงแต่ทวีปในแถบซีกโลกใต้อย่าง Antarctica เท่านั้นที่มี อุณหภูมิสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง แต่อุณหภูมิในแถบซีกโลกเหนืออย่าง Alaska สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยรอบ เพราะในช่วงฤดูร้อนของปีที่ผ่านมา (ช่วงปลายเดือนมิถุนายน - กันยายน) อุณหภูมิของน้ำภายในอ่าว Bristol ที่เป็นแหล่งที่อยู่ของแซลมอนพันธุ์ Sockeye ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนแซลมอนกว่าแสนตัวต้องเสียชีวิตลง
Sockeye Salmon
ภาพจาก : https://evoorestaurant.blog/2017/03/23/sockeye-salmon/
เพราะปกติแล้วอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของแซลมอนนั้นจะอยู่ที่ไม่เกิน 59 องศาฟาเรนไฮต์ (15 องศาเซลเซียส) แต่ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิภายในอ่าว Bristol นั้นพุ่งขึ้นสูงถึง 79 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 24.5 องศาเซลเซียส) ซึ่งการที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นนี้ก็ทำให้อัตราการเจริญเติบโตและอัตราการอยู่รอดของแซลมอนนั้นลดต่ำลงอย่างมากเลยทีเดียว
การที่อุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นก็ทำให้ ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง จนก่อให้เกิดความเครียดของปลาในแหล่งน้ำได้ง่าย ประกอบกับในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกๆ ปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่แซลมอนพันธุ์ Sockeye จะเดินทางกลับมาจากทะเลเพื่อวางไข่ในแม่น้ำ ซึ่งการว่ายทวนน้ำของแซลมอนนั้นก็ต้องใช้ออกซิเจนในปริมาณที่มากกว่าปกติ แต่การที่อุณหภูมิของน้ำในอ่าวสูงขึ้นจนออกซิเจนภายในน้ำลดลงนั้นก็ทำให้แซลมอนบางส่วนเริ่มป่วยและทยอยตายลงนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.ktoo.org/2020/01/16/record-summer-heat-wiped-out-at-least-100000-fish-in-bristol-bay-scientists-say/
ซึ่งจากการคำนวณอย่างคร่าวๆ แล้วก็คาดว่า แซลมอนน่าจะตายไปกว่าแสนตัว เลยทีเดียว และด้วยจำนวนของแซลมอนที่สูญเสียไปจำนวนมากนี้ก็ทำให้นักชีววิทยาตัดสินใจปิดอ่าว Bristol ลงในช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมาเพื่อคงจำนวนของปลาในอ่าวไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศน์ โดย Tim Sands นักชีววิทยาประจำกรมการประมงของ Alaska ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า
เราเห็นปลาเพียงแค่ 700 กว่าตัวเท่านั้นที่ว่ายไปวางไข่ยังแม่น้ำ Igushik ในวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมันเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ จนน่าเป็นห่วง เพราะปกติแล้วในช่วงนี้เราควรได้เห็นแซลมอนเฉลี่ยวันละหมื่นตัว
แต่หลังจากช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม อุณหภูมิของน้ำก็ได้ลดต่ำลงจากเดิมก็ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเปิดอ่าวอีกครั้ง และเมื่อเปิดอ่าวก็ทำให้แซลมอนหลายล้านตัวแห่กันว่ายออกมา และเนื่องจาก กฎการจับแซลมอนใน Alaska ที่มีการจำกัดจำนวนการจับในแต่ละวันและไม่อนุญาตให้จับแซลมอนที่มีขนาดเล็กกว่า 16 นิ้ว ก็ทำให้แซลมอนจำนวนมากรอดชีวิตจากฤดูจับปลาในปีก่อน
ภาพจาก : https://www.adfg.alaska.gov/static/regulations/fishregulations/PDFs/southeast/2018se_sfregs_general_saltwater.pdf
ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ออกมาว่า ฤดูร้อนในปีนี้จะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังเชื่อมั่นว่าแซลมอนน่าจะเดินทางกลับมายังอ่าว Bristol เพื่อวางไข่ตามปกติ และน่าจะทำให้ปริมาณของแซลมอนในอ่าวไม่ได้ลดน้อยลงไปจากเดิมเท่าไรนัก
เพราะช่วงฤดูร้อนปีที่แล้วมีแซลมอนกว่า 56.6 ล้านตัวได้ว่ายกลับมาวางไข่ที่บริเวณ Bristol Bay ซึ่งก็ถือได้ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงจากค่าเฉลี่ยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาถึง 45% เลยทีเดียว ไม่แน่ว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจยังอยู่ในอุณหภูมิที่แซลมอนและ Smolt (แซลมอนวัยรุ่น) สามารถรับมือได้ จึงทำให้มันรอดชีวิตในทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก
และถึงแม้ว่าจำนวนแซลมอนตามธรรมชาติในพื้นที่อื่นๆ จะลดน้อยลงจากเดิม แต่สำหรับแซลมอนใน Alaska กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม ดังนั้น Daniel Scheinder นักนิเวศวิทยาประจำมหาวิทยาลัย Washington ที่ศึกษาพฤติกรรมแซลมอนในอ่าว Bristol มากว่า 20 ปี จึงได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
พวกแซลมอน Sockeye นั้นมีวงจรชีวิตที่ยืดหยุ่น และผมก็สังเกตว่าแซลมอน Sockeye ใน Alaska เริ่มมีการปรับตัวตามสภาพอากาศมากขึ้น และเราก็น่าจะให้โอกาสพวกมันในการปรับตัวโดยลดการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแซลมอนลงบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะลดการเพาะเลี้ยงแซลมอนและลดอัตราการจับแซลมอนลงจนพวกมันสามารถปรับตัวตามสภาพอากาศได้หรือไม่ก็ตาม แต่การที่อุณหภูมิภายในแหล่งน้ำสูงขึ้นนี้ก็ทำให้แซลมอนส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |