ในยุคที่อี-สปอร์ตได้รับการสนับสนุนในประเทศอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลก วงการเกมไทยก็เจอศึกหนักหลายด้าน เมื่อผู้ใหญ่บางกลุ่มโทษว่าเกมเป็นต้นเหตุของความก้าวร้าว หรือความไม่ก้าวหน้าในชีวิตของเด็กๆ ใครจะรู้ว่าที่มุมหนึ่ง มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการเป็นกระบอกเสียงว่าเกมไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างที่ใครเข้าใจ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหนัง Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ที่กำลังไต่ชาร์ตติดท็อปของ Netflix อยู่ในช่วงนี้
ที่มาภาพ https://thestandard.co/mother-gamer-3/
หนัง ภาพยนตร์ Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ เล่าเรื่องของเบญ ครูคณิตศาสตร์โรงเรียนรัฐตามขนบ ที่เคี่ยวเข็ญให้ลูกชายคนเดียวของเธอ-โอม ตั้งใจเรียนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต โดยที่เบญไม่รู้เลยว่า เบื้องหลังความเป็นนักเรียนดีเด่นของโอมนั้น เขาเป็นสตรีมเมอร์เกม RoV ตัวท็อป ที่มีผู้ติดตามมากพอจะทำรายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำ
โดยความมาแตกตอนที่โอมถูกซื้อตัวไปเล่นให้กับ Higher ทีมอี-สปอร์ตระดับประเทศ ที่มีเป้าหมายไปแข่งที่เกาหลี เบญใจสลายจากเรื่องนี้ และพยายามบังคับโอมให้ออกจากทีม แต่มันต้องแลกกับการจ่ายเงินหลายแสนเพื่อยกเลิกสัญญา เบญจึงคิดแผนเด็ดขึ้น คือการฟอร์มทีมไปสู้กับลูกตัวเอง เพื่อตัดอนาคตการไปแข่งต่างประเทศ ด้วยความช่วยเหลือจากกอบศักดิ์ เด็กหลังห้องตัวป่วน และเพื่อนๆ อีก 3 คน
ที่มาภาพ https://thestandard.co/mother-gamer-3/
ความเป็นดราม่าในหนัง ภาพยนตร์ Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเบญและโอมผิดใจกันเรื่องการแข่งเกม ซึ่งหนังก็ได้ทำให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัย และความไม่เข้าใจที่ผู้ใหญ่มีต่อเกม เบญถึงกับพูดว่าเกมทำให้โอม “ก้าวร้าว” และโยนความผิดทุกอย่างไปที่เกม โดยไม่เปิดใจฟังว่าโอมมีความทะเยอทะยานและฝันอยากจะทำอะไร ทั้งๆ ที่เกมเป็นตัวทำรายได้ให้โอมและทำให้เขามีอาชีพที่จริงจังได้
แต่เบญผู้มากับชุดความคิดของคนรุ่นเก่าก็ไม่สามารถเข้าใจ และนั่นทำให้เราได้รับชมซีนอารมณ์ระหว่างแม่ลูกที่มีการปะทะกันจนต้องเสียน้ำตา ทำให้หนังช่วงแรกมีความเป็นดราม่าพอสมควร ใครที่ชอบเล่นเกมและพ่อแม่ไม่เข้าใจอาจรู้สึกอินไปกับบทตรงนี้ได้ไม่ยาก
ที่มาภาพ https://thestandard.co/mother-gamer-3/
ในช่วงกลางเรื่อง หนัง ภาพยนตร์ Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ เข้าสู่ความเป็นเกมอย่างเต็มตัว เบญต้องมาเป็นผู้เล่นหนึ่งในทีมที่ฟอร์มขึ้นมา และเธอก็ได้เรียนรู้ระบบเกมใหม่ทั้งหมด ซึ่งในจุดนี้ หนังแนะนำระบบเกมได้ดีทีเดียว โดยใช้คนจริงแสดงแทนตัวละครในเกม และแนะนำสกิลรวมถึงหน้าที่ของตัวละครบางสาย ชนิดที่คนไม่เล่นเกมก็สามารถสนุกไปด้วยได้ เบญได้เรียนรู้ว่า เกมทำให้เธอรู้จักทำงานเป็นทีม
และนอกจากนั้น ทักษะบางอย่างในชีวิตประจำวันอย่างเช่นการคำนวณก็สามารถนำมาใช้เพื่อเอื้อประโยชน์กับเพื่อนในทีมได้ กล่าวได้ว่า เกมที่เธอเคยเข้าใจว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ที่จริงแล้วเป็นมากกว่าเกม เพราะมันทำให้เธอได้ฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และเรียนรู้อะไรบางอย่างที่หลักสูตรในโรงเรียนสอนไม่ได้ อย่างเช่นการสนับสนุนจุดแข็งของเพื่อน การเรียนรู้จุดอ่อนของตนเอง การมองเห็นว่าคนทุกคนมีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
ที่มาภาพ https://www.zoominstyle.com/movies-update/mother-gamer/
ตัวละครสำคัญอย่างกอบศักดิ์เป็นเพียงเด็กเกเรหลังห้องในสายตาของอาจารย์ทุกคน สำหรับผู้ใหญ่ เขาอาจเป็นเพียงเด็กขี้แพ้คนหนึ่งที่ทำอะไรได้ไม่ดีสักเรื่อง แต่เมื่ออยู่ในโลกของเกม เขากลับมีทักษะความเป็นผู้นำที่โดดเด่น และตัดสินใจในสถานการณ์คับขันได้อย่างดี จนอาจเรียกว่าเขามีความเป็นฮีโร่เลยก็ว่าได้ เบญได้เรียนรู้จากกอบศักดิ์
ในขณะที่กอบศักดิ์ได้เติมเต็มช่องว่างของหัวใจที่ไม่เคยมีใครมองว่าเขาได้เรื่องได้ราว อาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการของตัวละครสองตัวนี้เป็นเส้นเรื่องสำคัญที่ทำให้หนังเดินหน้าไป โดยที่คนดูอดเอาใจช่วยตามไปด้วยไม่ได้ ซึ่งอ้อม พิยดา ที่รับบทเบญ และเติร์ด ลภัส ผู้รับบทกอบศักดิ์ สามารถรับส่งบทกันได้อย่างดีและเป็นธรรมชาติ จนสามารถแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ได้
ที่มาภาพ https://thestandard.co/mother-gamer-2/
อาจกล่าวได้ว่า Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ เป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย และช่องว่างทางทัศนคติที่ผู้ใหญ่มีในแง่ลบต่อเกม เป็นหนังที่ดูได้ทุกวัย และคนทำงานด้านการศึกษาควรได้ดู
รับชมหนัง Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ ได้แล้ว ทาง Netflix
ที่มาภาพ https://sahamongkolfilm.com/saha-movie/mother-gamer-thai-movie-2563/
|
นักเขียนอิสระให้กับสื่อออนไลน์ ชอบวิจารณ์หนังและหนังสือ |