เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้เริ่มดูหนังบางเรื่องตั้งแต่ยังเด็ก และประสบการณ์ที่ชีวิตที่น้อยนั้นก็อาจทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่หนังจะสื่อทั้งหมด คงจะดีหากเราได้ดูหนังบางเรื่องอีกครั้งตอนโต และเข้าใจอะไรในนั้นมากขึ้น เราอาจจะทึ่งกับตัวเองว่าหนังพูดกับเราตรงๆขนาดนี้เลยหรือนี่ ในลิสต์นี้ เราได้รวบรวมหนังลึกซึ้ง 3 เรื่อง ที่เราจะเข้าใจได้ดีขึ้นเมื่อเราโตขึ้น
หนัง ภาพยนตร์ Her รักดังฟังชัด เป็นเรื่องราวของธีโอดอร์ หนุ่มคนหนึ่งที่ทำอาชีพเขียนจดหมายแทนคนอื่น ในเมืองลอสแองเจลีสยุคอนาคต ผู้คนต่างมี เทคโนโลยี AI มาเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ธีโอดอร์ตัดสินใจซื้อระบบปฏิบัติการอันหนึ่งและตั้งชื่อมันว่าซาแมนธา เขาเพิ่งเลิกกับภรรยาและตกอยู่ในความเหงา แต่ซาแมนธาได้กลายมาเป็นเพื่อนของเขา และเขาก็ตกหลุมรักเธอ เพียงเพื่อจะมาเรียนรู้ทีหลังว่าเธอไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด
ที่มาภาพ : : https://www.bbc.com/culture/article/20140113-how-her-makes-sci-fi-smart-again
ตอนแรกที่ดู หนัง ภาพยนตร์ Her รักดังฟังชัด เราอาจจะซึมซับได้เพียงว่า ธีโอดอร์เป็นคนเหงาคนหนึ่งที่อยากหาใครสักคนมาเติมเต็มความว่างเปล่า ซึ่งประสบการณ์ของธีโอดอร์อาจเหมือนกับใครหลาย ๆ คนในเมืองใหญ่ ทั้งที่มีคนมากมายแต่เรากลับรู้สึกโดดเดี่ยว แต่เมื่อเราโตขึ้นแล้วดูหนังเรื่องนี้อีกครั้ง อาจจะรู้สึกว่าความเหงาของธีโอดอร์นั้นดูเข้มข้นขึ้นอีกเลเวล มันเป็นความโดดเดี่ยวของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่เราต้องรับผิดชอบมวลความทุกข์เศร้าของตัวเองเพียงคนเดียว
ที่มาภาพ : https://moviemanifesto.com/2014/12/the-best-movies-of-2013-1-her_20.html
สิ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้อาจเป็นความเข้าใจว่า มนุษย์ต้องการใครสักคนเพื่อแบ่งปันความทุกข์ตรม แม้ใครคนนั้นจะเป็น AI ก็ตาม เราไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้ในโลกอันร้างไร้ใบนี้ หากมีแค่ใครสักคนมาแชร์ความเศร้ากับเรา โลกก็ดูจะเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้นมา
มาที่หนังไทยกันบ้าง สำหรับหนัง ภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ ที่สร้างจากชีวิตจริงของผู้ประพันธ์ต้นฉบับเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” คือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ หนังเล่าเรื่องของอาจินต์ อดีตนิสิตวิศวะ จุฬาฯ ที่ถูกรีไทร์ เขาต้องไปหางานทำที่เรือขุดแร่ จังหวัดพังงา จากเดิมที่เป็นนิสิตนั่งโต๊ะ เขาต้องมาตรากตรำทำงานช่างทุกอย่าง เพื่อให้เรือขุดแร่ดำเนินกิจการไปได้ ที่นั่น เขาได้ค้นพบมิตรภาพของชาวเหมือง เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับวงพนันและวงเหล้า สูดเอากลิ่นเหงื่อของกรรมกรที่ทำงานหนักของตนเอง และถูกทดสอบวัดใจโดยชาวเหมืองหลายต่อหลายครั้ง
ที่มาภาพ : https://www.fapot.or.th/main/archive/115
สิ่งที่หนัง มหา’ลัยเหมืองแร่ ทำให้เราเข้าใจ คือการเป็นตัวของตัวเองท่ามกลางสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ โลกของกรรมกร เหล้า พนัน และการทำงานหนักอาจทำให้เราหันเหออกจากตัวจริงของตัวเองได้พอ ๆ กับที่ค้นพบตนเอง อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นแง่งามของมันได้หรือไม่ คนอย่างอาจินต์สามารถสกัดแง่งามของมันออกมา ซึ่งสะท้อนอยู่ในมิตรภาพแบบใสซื่อของชาวเหมือง และนั่นทำให้เขาเป็นคนมั่นคงมากขึ้น ไม่หวั่นไหวไปกับสถานการณ์ที่อาจเกินการควบคุม
ที่มาภาพ : https://review.thaiware.com/1847.html
การอยู่ในเหมืองแร่กว่า 4 ปี เป็นเสมือนการเรียนมหาวิทยาลัยของอาจินต์ เพราะมันทำให้เขาได้ความรู้และประสบการณ์มากกว่าที่ในมหาวิทยาลัยสอนเสียอีก
ปิดท้ายลิสต์นี้ด้วยหนังไทยอีกเรื่อง คือ หนัง ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ที่สร้างความฮือฮาตั้งแต่ช่วงแรกที่ออกฉาย หนัง ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม เป็นเรื่องราวของมิวและโต้ง เพื่อนวัยมัธยมสองคนที่เจอกับวิกฤติชีวิต มิวอาศัยอยู่กับยาย และเขาก็โดดเดี่ยวเมื่อยายตายจากไป ส่วนโต้งนั้น ครอบครัวของเขาสูญเสียพี่สาวคนโตไป ทำให้พ่อกลายเป็นคนติดเหล้า เหลือเพียงแม่ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงทุกคน ในความแปรปรวนของกระแสชีวิต มิวและโต้งได้ค้นพบความอบอุ่นจากกันและกัน แม้ความสัมพันธ์นี้จะเป็นความสัมพันธ์ต้องห้าม
ที่มาภาพ : https://thestandard.co/love-of-siam/
หากเราดูหนังเรื่องนี้สมัยเด็ก เราอาจรู้สึกไม่ถูกใจที่มิวและโต้งไม่ได้ลงเอยกัน แต่เมื่อโตขึ้น เราได้รู้ว่าความรักทุกอย่างต้องอาศัยจังหวะเวลา เพียงคำว่า “รัก” คำเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะจังหวะชีวิตของแต่ละคนมีทั้งที่เอื้อและไม่เอื้อให้ความรักนั้นกลายเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวต่อไป แม้มันจะขมขื่นแต่ทุกคนที่เติบโตขึ้นมาก็ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่สมหวังบางครั้ง เพื่อจะเรียนรู้จากมันให้เราสามารถสมหวังกับสิ่งอื่นได้ต่อไป
|
นักเขียนอิสระให้กับสื่อออนไลน์ ชอบวิจารณ์หนังและหนังสือ |