มีภาษิตหนึ่งที่ใครก็ไม่รู้เคยกล่าวเอาไว้ว่า "หนึ่งภาพแทนได้ล้านคำพูด" ซึ่งเราก็เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้นะ อย่างเวลาที่เราดูรูปที่ถ่ายกับเพื่อน ความทรงจำของช่วงเวลานั้นก็พรั่งพรูขึ้นมาในใจทันทีเลย
เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์สามารถใช้รูปภาพ หรือสัญลักษณ์บางอย่างมาช่วยในการแสดงความรู้สึก หรืออารมณ์ที่ยากจะพิมพ์ออกมาเป็นตัวอักษรได้ ยิ่งเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารในปัจจุบัน ที่เราสามารถส่งข้อความเพื่อพูดคุยกันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทางแอปฯ อย่าง LINE, Facebook, อีเมล ฯลฯ ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่าในแอปเหล่านี้จะรองรับการใช้ภาพเพื่อการติดต่อสื่อสารด้วย ไม่ว่าจะเป็นสติ๊กเกอร์, ภาพ GIFs และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ Emoji
นับตั้งแต่ Emoji ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ มันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้ใช้ทั่วโลก ถึงขนาดที่ในปี พ.ศ. 2558 Oxford Dictionary เคยประกาศให้ Emoji "Face With Tears of Joy" รูปใบหน้าเปรื้อนน้ำตาแห่งความยินดี (😂) เป็นคำแห่งปี แล้วใครกันที่เป็นคนคิดค้น Emoji ขึ้นมา ไปรู้จักกับคนๆ นั้นกันสักหน่อยดีกว่า
Shigetaka Kurita (ชิเกตากะ คูริตะ) คือ ผู้ที่คิดค้น Emoji ขึ้นมาเป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2541 ขณะนั้นเขาได้ทำงานอยู่ในบริษัท NTT DoComo ผู้ให้บริการระบบสื่อสารยักษ์ใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นเขาอยู่ในทีมที่กำลังพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตบนมือถืออยู่ ซึ่งระบบในเวลานั้นจำกัดจำนวนตัวอักษรในการส่งข้อความได้เพียงครั้งละ 250 ตัวอักษรเท่านั้น
นั่นทำให้เขานึกหาวิธีใหม่ๆ ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถสนทนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของขนาดข้อมูลที่จำกัด และคำตอบที่เขาได้มาก็คือ การสื่อสารด้วยภาพที่ถูกเรียกว่า Emoji นั่นเอง
Emoji ชุดแรกของ Kurita ถูกปล่อยออกมาให้ใช้งานในเป็นภาพขนาดเล็กที่มีความละเอียดเพียง 12x12 พิกเซลเท่านั้น มีจำนวนภาพทั้งหมด 176 ภาพ (หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามันมีแค่ 6 สีด้วย) สำหรับใช้แสดงความหมายต่างๆ เช่น สภาพอากาศ, อาหาร, เครื่องดื่ม, ความรู้สึก และอารมณ์ โดย Kurita ได้เผยว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น, และตัวอักษรภาษาจีนที่ใช้ในการเขียนตัวคันจิ
เรื่องน่าสนใจที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ คือ ในภาษาญี่ปุ่นนั้น Emoji จะใช้คำว่า 絵文字 (อ่านว่าเอโมจิ) โดยมาจากคำว่า 絵 ที่แปลว่าภาพ มาผสมกับ 文字 ที่แปลว่าตัวหนังสือ ซึ่งไปบังเอิญออกเสียงคล้ายกับคำว่า Emoji, Emotion และ Emoticon ในรูปตัวอักษรโรมันของคำนี้ในภาษาอังกฤษ |
Emoji ของ Kurita ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น จนผู้ให้บริการรายอื่นในประเทศญี่ปุ่นต้องพัฒนาระบบมาให้รองรับการใช้งาน Emoji ด้วย และความนิยมนี้ก็ได้เริ่มแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ
ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 Emoji ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ Apple ได้จำ Emoji มาใส่ในระบบปฏิบัติการ iOS ด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 ระบบ Emoji ได้ถูกกำหนดมาตรฐานโดยองค์กร Unicode เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนา Emoji เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้แสดงผลได้อย่างถูกต้องไม่ว่าจะใช้บนอุปกรณ์ของผู้ผลิตรายไหนก็ตาม
ตัวอย่าง Emoji "Face With Tears of Joy" ของแต่ละบริษัทจะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน
ในปี พ.ศ. 2559 Museum of Modern Art (หรือที่รู้จักกันในชื่อ MoMA) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนครนิวยอร์ก ได้ทำขอภาพ Emoji ชุดแรกของ Shigetaka Kurita มาจัดแสดงแบบถาวร Paola Antonelli ผู้ดูแลอาวุโสในภาควิชาสถาปัตยกรรม และการออกแบบแห่ง MoMA ได้กล่าวว่า "มันสวยงาม และแสดงพลังออกมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ แม้ว่าในเวลานั้นเทคโนโลยีจะมีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก"
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |