ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 14,804
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%86%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9D%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Intro! “ปัญหาการโฆษณาแฝงในภาพยนตร์”

“โฆษณา” ปกติแล้วเรามักเลี่ยงโฆษณาสินค้า เพราะรู้ว่ามาขายของ ทำให้ไม่อยากจะเปิดใจรับ เช่น เวลาดู YouTube ก็มักจะกดปุ่มข้ามโฆษณาทันที, โฆษณาแทรกตอนที่ละครกำลังสนุกๆ ก็รู้สึกขัด ชวนให้อารมณ์เสีย แม้แต่ในโรงหนังหลายคนก็ยอมเข้าช้าๆ ก่อนภาพยนตร์จะเริ่มแป๊บหนึ่ง เพื่อที่จะข้ามโฆษณาไป แต่ไม่ว่าจะยังไง เราก็หนีการโฆษณาไม่พ้น "เพราะในเนื้อหาของภาพยนตร์มันมีโฆษณาแฝง ถูกสอดแทรกเข้ามาให้เราดูโดยที่ไม่ทันรู้ตัว"

ผู้อ่าน : ตอนไหน ฉากไหน ไม่เห็นจำได้เลย? 

ผู้เขียน : มาดูวิดีโอนี้กัน


โฆษณาตั้ง 36 แบรนด์ เยอะขนาดนี้ต้องมีเห็นกับบ้างล่ะ!

เชื่อว่าหลายคนคงเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว สำหรับฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ บางคนก็สังเกตเห็นว่ามันมี บางคนก็ไม่เคยสังเกต บางคนเห็นแต่ไม่รู้ว่ามันเป็นโฆษณา แต่จะยังไงก็แล้วแต่ มันก็คือโฆษณาที่ผู้สร้างภาพยนตร์เขาใส่เข้ามาให้ผู้ชมดู แบบนี้เขาเรียกว่า "โฆษณาแฝง” นั่นเอง

บ่อยครั้งที่เราพยายามเลี่ยงโฆษณา แต่ในภาพยนตร์เรากลับเลี่ยงมันไม่ได้ เพราะมันแฝงมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์โดยที่เราเลือกไม่ได้เลย แต่เคยสงสัยไหมว่าการมีอยู่ของมันส่งผลอะไรกับการดูภาพยนตร์ของเราบ้าง? เราได้ประโยชน์อะไรจากมัน? และเรารับมันได้หรือไม่? มาหาคำตอบจากในบทความนี้เลย 

 

โฆษณาแฝง คืออะไร?

โฆษณาแฝง เห็นได้ในสื่อทุกวงการ จะเป็น รายการทีวี รายการข่าว ละครหัวค่ำ ละครซิทคอม หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯลฯ ก็มีหมด ไม่เว้นแม้แต่ วงการภาพยนตร์

โฆษณาแฝงในภาพยนตร์ คือการที่ ผู้สร้างภาพยนตร์แอบใส่สินค้าหรือโลโก้เข้าไปในฉาก, ตัวละคร, เนื้อเรื่อง แบบเนียนๆ(ไม่เนียนก็มี) เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่างจากแบรนด์สินค้า และตัวแบรนด์เองก็ต้องพื้นที่โฆษณาในภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักรู้ (Awareness) ว่ามีสินค้า/แบรนด์นี้อยู่ และคาดหวังผลทางการตลาด เช่น ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมอยากซื้อสินค้า

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
ตัวอย่างการใส่สินค้าเข้าไปแบบตั้งใจ — จากภาพยนตร์ James Bond 007: Skyfall

สำหรับการแฝงโฆษณาเข้าไปในภาพยนตร์ ค่อนข้างซับซ้อนและมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ เริ่มตั้งแต่แบบเบสิคอย่างการใส่โลโก้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฉาก (ตึกรามบ้านช่อง ป้ายบิลบอร์ด ข้างรถตู้ หรือรถเมล์ ฯลฯ), การให้ตัวละครเข้าไปอยู่ในสถานที่ของแบรนด์ (ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ), การให้ตัวละครใช้สินค้าที่มีโลโก้ (เช่น รถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า) และ การให้ตัวละครจงใจหยิบจับสินค้าและเอ่ยชื่อแบรนด์ รวมไปถึงการใส่สินค้าเข้าไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของบทภาพยนตร์เลยก็มี 

 การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
ลูกวอลเลย์บอล Wilson ถูกใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ ในฐานะของเพื่อนของพระเอก — รูปจากเรื่อง Cast Away

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
บุหรี่ Marlboro ถูกขนโดยเอเลี่ยนตัวจิ๋ว — รูปจากเรื่อง Men in Black

รูปแบบการใส่โฆษณาแฝงมีทั้งที่เนียน(กลมกลืนไปกับฉากหรือเนื้อเรื่อง ใส่แล้วดูสมเหตุสมผล) และแบบที่ “ไม่เนียน(น่าเกลียด เด่นสะดุดตาจนเกินพอดี ไม่กลมกลืน ไม่สมเหตุสมผล) แต่มันจะเป็นแบบไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตของคนดูแต่ละคน และศิลปะในการจัดวาง รวมถึงความเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องของผู้สร้าง ดังตัวอย่างด่านล่าง


ตัวอย่างที่เนียน : ในภาพยนตร์เรื่อง Cast Away ตลอดเกือบทั้งเรื่อง มีการเอ่ยถึงชื่อ Wilson (ชื่อแบรนด์ลูกวอลเลย์บอล) จากพระเอกที่ติดเกาะ แต่กลับไม่ได้รู้สึกโดนโฆษณา เพราะมันอยู่ในฐานะ "ตัวละคร" อีกตัวหนึ่ง ดูมีเหตุผลที่เหมาะสม ในการนำมาใส่ในภาพยนตร์


ตัวอย่างที่เนียน : สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Fast And Feruous ถือเป็นการใส่สินค้าและแบรนด์สินค้าที่แนบเนียนมากๆ เพราะว่าภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับการแข่งรถยนต์ในยุคปัจจุบัน ทำให้การใส่รถยนต์รุ่นต่างๆ เข้าไปดูไม่แปลก และไม่สะดุดตา


ตัวอย่างที่เนียน : สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One อาจนับได้ว่าเป็นการใส่ตัวละครทั้งจากการ์ตูน เกมส์ และหนังภาพยนต์ด้วยกันเองเข้ามาแบบเยอะแบบสุดๆ แต่มันก็ดูไม่เหมือนการโฆษณาเลย เพราะว่าเนื้อเรื่องหลังมันเกี่ยวกับของเกมส์ และ Popular Culture (วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัย) ว่ากันตามตรงจะมองว่ามันเป็นการโฆษณาหรือ Easter Eggs ก็ได้


 


ตัวอย่างที่ไม่เนียน : ในภาพยนตร์เรื่อง Transformers หนุ่มนักธุรกิจกำลังทดสอบโลหะเปลี่ยนรูปในห้องทดลอง มีการเปลี่ยนโลหะให้กลายเป็นลำโพงไร้สายแบรนด์ Beat แบบไม่มีเหตุผล แถมมุมกล้องก็ยังโฟกัสเข้าไปที่ลำโพงแบบเต็มๆ แช่ค้างเป็นวินาที และยังมีฉากถ่ายขวดเบียร์ Bud Light และเปิดกินแบบงงๆ แถมด้านหลังยังแปะโลโก้ Goodyear ไว้หราเลย 

ตัวอย่างที่ไม่เนียน : ในภาพยนตร์เรื่อง James Bond มีการใส่สินค้าเข้าไปในหลายๆ ฉาก ทั้งรถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องดื่ม มีทั้งชัดบ้างและไม่ชัดบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมีการซูมกล้องเข้าไปจับที่ตัวสินค้า หรือโลโด้เพื่อจงใจให้คนดูเห็น

ตัวอย่างที่ไม่เนียน : ในภาพยนตร์เรื่อง Return of the Killer Tomatoes ถือเป็นตัวอย่างการใส่โฆณษาแฝงที่ไม่เนียนแบบสุดๆ หรือจะเรียกว่าใส่ให้เห็นกับแบบโต้งๆ เลยก็ว่าได้ มีทั้งการตั้งกระป๋องเป๊ปซี่ไว้บนโต๊ะ ซูมช็อกโกแลต มีกล่องอาหารเช้าโผล่ขึ้นมาแบบงงๆ 

 

ทำไมต้องใส่โฆษณาแฝง?

หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไมต้องใส่มันเข้ามาด้วย ไม่ใส่ไม่ได้หรอ? คำถามนี้ตอบไม่ยากเลย เพราะเราอาศัยอยู่ในโลกของ “ทุนนิยม” การจะปั้นไอเดียให้กลายเป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ต้องมีวัตถุดิบสำคัญที่ชื่อว่า “เงิน” เพื่อใช้เป็นทุนสร้าง ถ้าทุนไม่พอก็ผลิตภาพยนตร์ออกมาไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ตรงกับต้องการ และการที่จะได้วัตถุดิบสำคัญนี้ ผู้อำนวยการสร้าง (Producer) ก็ต้องเข้าไปเสนอขายไอเดียภาพยนตร์/บทภาพยนตร์ แก่นายทุนหรือค่ายผลิตภาพยนตร์ ซึ่งถ้าเขาสนใจก็จะช่วยออกทุนสร้างให้ภาพยนตร์เรื่องนั้น 


สองสาวในภาพยนตร์ Power Ranger กำลังประลองฝีมือ เพื่อแย่งขนมในร้าน KRISPY KREME

แต่ในบางครั้งอาจมีปัญหา “ทุนสร้างไม่พอ” จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม (ไม่ขอพูดถึง เพราะเยอะมาก) ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์มองหาวิธีเพิ่มเงินอื่นๆ และดูเหมือนว่าวิธีใส่โฆษณาแฝง (สินค้า/โลโก้) ดูจะเป็นอะไรที่นิยมทำกัน สังเกตได้จากภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ใส่แบรนด์สินค้าเข้าไป 

หนึ่งสาเหตุที่นิยมทำกันอาจเป็นเพราะว่า ในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจะมีอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือพวกเครื่องแต่งกายตัวละครอยู่แล้ว มันจึงเป็นเหมือนกับช่องว่างๆ ที่สามารถใส่โลโก้หรือสินค้าเข้าไปได้ 

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
ฉากที่มีโลโก้ Burger King โชว์หราอยู่ด้านหลัง — จากซีรีส์ Stranger Things

นอกเหนือจากการหาเงินทุนเพิ่มแล้ว บางครั้งการใส่โฆษณาแฝงเข้าไปยังสร้างรายให้กับผู้สร้างก่อนที่ภาพยนตร์จะเริ่มฉายอีกด้วย เพื่อลดการขาดทุนเวลามีคนดูน้อย หรือสร้างกำไรเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น 

แต่ยังไงก็ตามผู้เขียนมองว่า ภาพยนตร์ก็คืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง ถ้างานศิลปะของเรามันถูกแทรกแซงด้วยผลประโยชน์ของคนอื่น ในฐานะเจ้าของผลงานคงจะไม่ปลื้มใจนัก (ลองคิดในมุมของผู้สร้างดู) เป็นแบบนี้คงไม่มีใครอยากใส่โฆษณาเข้ามาหรอก 

ที่สุดแล้ว "ศิลปะในโลกทุนนิยม มันก็ต้องสร้างกำไร" กำไรที่ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์อยู่ได้ และสามารถผลิตภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ต่อออกมาได้อีก ฉะนั้นแล้วทำอะไรได้ก็ต้องทำ แต่จะทำให้มันกลมกลืนไปกับภาพยนตร์มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้สร้างและความต้องการของแบรนด์สินค้า

 

แล้วใครได้ประโยชน์จากโฆษณาแฝงบ้าง?

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
พระเอกกำลังพูดถึงชื่อรองเท้า Converse อย่างภูมิใจ ในภาพยนตร์เรื่อง I, Robot

"ผลประโยชน์ของผู้สร้างภาพยนตร์"

เมื่อเรารู้แล้วว่าผู้สร้างภาพยนตร์รับผลประโยชน์ เช่น เงินทุนหรือรายได้เสริม จากแบรนด์เพื่อแลกกับการใส่โลโก้/สินค้าเข้าไปในภาพยนตร์ แต่มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างเดียว แต่มันรวมไปถึงพวกสิ่งของที่ใช้ประกอบในฉาก/ตัวละคร รวมถึงสถานที่อีกด้วย ส่วนจะเป็นอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าผู้สร้างต้องการอะไร และแบรนด์มีอะไรให้ เช่น ถ้าต้องการเครื่องแต่งกายก็ไปหาแบรนด์เสื้อผ้า ถ้าต้องการ มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ก็ไปหาพวกแบรนด์ในวงการยานยนต์

"ผลประโยชน์ของแบรนด์สินค้า"

ส่วนแบรนด์จะได้ประโยชน์จากการมีพื้นที่สื่อโฆษณาสินค้าในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เป็นพื้นที่ที่มีอายุยืนยาว (ภาพยนตร์บางเรื่องผ่านไป 10 ปีแล้วยังมีคนดูซ้ำ) 

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
แว่นตา Ray Brand ที่ใส่โดยดาราหนุ่มสุดฮ็อต Tom Cruise — TOP GUN

นอกจากผลประโยชน์ด้านสื่อโฆษณา ในบางครั้งยังสร้างยอดขายในโลกจริงได้อีกด้วย โดยสินค้าที่เห็นในภาพยนตร์ สามารถกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราๆ อยากซื้อหามาเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่ภาพยนตร์ E.T. ออกฉาย ช็อกโกแลต Reese's Pieces ที่ปรากฏในเรื่อง ก็ขายดีขึ้นเป็นเทน้ำเทท่าถึง 65%, แว่นกันแดด Ray Brand ที่ Tom Cruise ใส่ในภาพยนตร์ TOP GUN ก็ทำยอดสูงขึ้น 40% หลังจากที่ออกฉาย 

สรุปคือเมื่อมีคนเห็นเยอะขึ้น แบรนด์ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น มันอาจส่งผลถึงยอดขายด้วย และยอดขายก็สร้างกำไร ดังนั้นการโฆษณาแฝงผ่านทางภาพยนตร์จึงเป็นการแลกผลประโยชน์ระหว่างผู้สร้างและแบรนด์ แต่ผลลัพท์ของโฆษณาแฝงไม่อาจคาดเดาได้ เพราะว่าถ้าใส่แล้วเด่นเกินไปจนผู้ชมสังเกตเห็นอาจโดนต่อต้าน หรือถ้าใส่แล้วเนียนเกินไป ก็ไม่สร้างความตะหนักรู้ 


แต่ผู้ชมล่ะ... ได้ประโยชน์อะไรจากโฆษณาแฝงบ้าง?

ประโยชน์จากการดูโฆษณาแฝงในภาพยนตร์น่ะหรือ? เป็นคำถามที่ดีมาก แต่ตอบยากเหลือเกิน เพราะนอกจากทำให้ผู้ชมเกิดการรับรู้ รู้ว่าหน้าตาเป็นยังไงแล้วนั้น ก็ไม่น่าจะมีอะไรอีก (หรือถ้าใครรู้ช่วยบอกที) 

การโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ กลมกลืนหรือยัดเยียด?
โฆษณาแฝงของ Nokia ที่อยู่ในภาพยนตร์ The Matrix

แต่พอมีเข้าเค้าอยู่อย่างหนึ่ง มันเป็นประโยชน์จากโฆษณาแฝงที่อ้อมมากๆ จนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าประโยชน์ได้หรือเปล่า (ลองตัดสินดูละกัน) คือ โฆษณาแฝงจากแบรนด์ทำให้มีอุปกรณ์ประกอบฉากมากขึ้น เช่น ฉากที่ต้องใช้รถยนต์มาชนกัน ถ้าใช้รถยนต์ CG มันก็น่าจะดูไม่เนียนเท่าไร แต่ถ้าใช้เป็นรถยนต์จริงๆ น่าจะสมจริงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ชมดูแล้วรู้สึกลื่นไหล แต่ยังไงมันก็ไม่ใช่ประโยชน์ตรงๆ อยู่ดีนั่นแหละ มันเป็นแค่ผลพลอยได้จากการที่ผู้สร้างมีอุปกรณ์หรือทุนสร้างเพียงพอทำให้ผลิตภาพยนตร์ได้ตามคุณภาพที่ต้องการ

ถึงอย่างนั้น ว่าตามตรงมันอาจจะไม่แฟร์กับผู้ชมด้วย เพราะว่าจ่ายตังค์ค่าตั๋วเข้าไปดู เราย่อมอยากดูแต่ภาพยนตร์ แต่ดันมีโฆษณาแทรกมาแบบไม่รู้ตัว คล้ายกับการยัดเยียดสิ่งที่ไม่ต้องการเข้ามา 

 

ถ้ามีโฆษณาแฝง แล้วแบบไหนที่รับได้หรือไม่ได้?

หลังจากที่ฟังเหตุผลไปแล้วว่า ทำไมผู้สร้างภาพยนตร์ต้องใส่โฆษณาเข้าไป แบรนด์ต้องอะไร แล้วคนดูอย่างเราได้อะไรบ้าง ทีนี้มาตั้งคำถามว่า การใส่โฆษณาแฝงเข้ามาในภาพยนตร์ แบบที่ผู้ชมไม่รู้มาก่อน แบบไหนที่รับได้หรือไม่ได้? 

ผู้เขียนมีตัวอย่าง 4 แบบจากภาพยนตร์สี่เรื่องมาให้ดูกัน ว่าแบบไหนที่เรารับได้บ้าง มาดูกันเลย

จากที่ได้ดูทั้งหมดถ้ารู้สึกว่า โอเคมันลื่นไหล ไม่มีอะไรแปลกตา ก็หมายความว่าผู้สร้างเขาใส่มันมาแต่พอดี ไม่เด่นสะดุดตาจนเกินไป แต่กลับกันถ้าดูแล้วรู้สึกว่า มันน่าตะหงิดใจ สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติในฉาก ดูแล้วรู้สึกไม่ลื่นไหล จนเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมต้องมีโลโก้หรือสินค้าด้วย หมายว่า ผู้สร้างใส่สินค้าไว้สะดุดตาเกินไป ดึงความสนใจคุณออกเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วคุณรู้สึกยังไงบ้าง? ยังรับได้อยู่หรือไม่?

 

เมื่อรู้แล้วว่ามี จะทำอะไรกับมันได้บ้าง?

เมื่อผู้สร้างภาพยนตร์ใส่โฆษณาแฝงเข้าไปในหนังแล้ว เราเหล่าผู้ชมคนดูก็คงทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากจะหลับตาในฉากนั้น เอาเข้าจริงคงไม่มีใครทำหรอก เพราะเรากำลังดูภาพยนตร์อยู่ใครจะไปหลับตาได้ทุกครั้งที่เห็นโฆษณาแฝง สิ่งที่พอจะทำได้คือออกมาวิจารณ์ทีหลัง ให้ผู้สร้างหรือแบรนด์รับรู้ว่าการทำแบบนี้มันดูไม่เหมาะสม และอีกอย่างที่ทำได้คือ ตะหนักรู้ว่ามันเป็นโฆษณาที่หวังจะโน้มน้าวให้เราคิดหรือทำตามในสิ่งที่เขาต้องการ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการตลาด

 

บทสรุปของโฆษณาแฝง

สำหรับการโฆษณาแฝงนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเจอในภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง บางเรื่องก็เนียน บางเรื่องก็ใส่เข้ามาแบบโต้งๆ แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้สร้างเปิดรับเข้ามาแค่ไหน และมีกี่แบรนด์ที่อยากมีส่วนร่วม โดยผลประโยชน์มีแค่ผู้สร้างและแบรนด์เท่านั้นที่ได้ไป ส่วนผู้ชมคนดูอย่างเราที่จ่ายเงินค่าตั๋วให้กับผู้สร้าง กลับแทบไม่ได้อะไรจากโฆษณาแฝงเลย (ไม่นับรวมถึงความสนุกจากภาพยนตร์) ที่สำคัญเราไม่มีสิทธิ์เลือกด้วยว่าจะดูหรือไม่ดู 

ส่วนมันจะเนียนหรือไม่เนียนก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตของแต่ละคน และเมื่อเห็นแล้วจะรับได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้สึกว่ามันเป็นการยัดเยียดโฆษณาให้ดู หรือเห็นเป็นเพียงแค่ฉากในภาพยนตร์ ก็สุดแล้วแต่คุณจะคิด คุณต้องเป็นคนตอบคำถามนั้นเอง


ที่มา : www.mdgadvertising.com , www.vivelapub.fr , www.fortressofsolitude.co.za , metro.co.uk , www.grunge.com

 

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%86%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9D%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
How to ....
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ