ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 11,049
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%9C%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%21%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

การปลูกต้นไม้ทดแทนถือว่าเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในขณะนี้ เพราะเราเชื่อว่าต้นไม้ต่างๆ จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เมื่อมันเติบโตขึ้น ผู้นำหลายประเทศทั่วโลกออกมากล่าวว่าพวกเขาคาดว่าจะคืนพื้นที่ป่าให้กับโลกใบนี้ราว 350 ล้านเฮคเตอร์ (หรือราว 2817.5 ไร่) ในปี 2030 และคาดว่าการฟื้นฟูป่าเป็นจำนวนหลายล้านเฮคเตอร์นี้จะสามารถฟอกก๊าซคาร์บอน (ทั้งคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขอเรียกรวมว่า ก๊าซคาร์บอน) ในอากาศได้กว่า 205 Gigatonnes (205 พันล้านตัน) ซึ่งจะนับเป็น 2 ใน 3 ของก๊าซคาร์บอนในอากาศถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

ภาพจาก : https://onetreeplanted.giv.sh/fundraisers/fnd_cb1c3c962cc511ed

อย่างที่ทราบกันดีว่าระบบนิเวศของโลกใบนี้สามารถแบ่งย่อยออกไปได้หลายประเภท เช่นเดียวกับป่าต่างๆ ระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยปรับความสมดุลของระบบนิเวศโลกโดยรวมเช่นเดียวกัน จากการศึกษาวิจัยพบว่าพื้นที่ว่างเปล่าที่ปกคลุมด้วยหญ้านั้นช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนราว 30% เอาไว้ในดิน ซึ่งพื้นที่ทุ่งหญ้าเหล่านี้เมื่อตีเป็นสัดส่วนแล้วจะอยู่ประมาณ 20 % ของพื้นผิวโลกทั้งหมด แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้เองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพของโลกด้วย เพราะพื้นที่เหล่านี้นอกจากจะเป็นบ้านของสัตว์ป่าจำพวกสิงโต ช้าง และสัตว์อื่นๆ แล้วยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ และเนื่องด้วยภูมิปัญญาของชนเผ่านี้เองที่เป็นจุดกำเนิดและจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ของมนุษย์อย่างการเพาะปลูก, การล่าสัตว์, การทำปศุสัตว์ และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การทำลายระบบนิเวศทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์เกินความจำเป็นจนก่อให้เกิดปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม และในตอนนี้ก็มีอีกหนึ่งสิ่งที่กำลังทำลายระบบนิเวศจากฝีมือของมนุษย์เพิ่มขึ้นมา นั่นคือการปลูกต้นไม้ หรือการปลูกป่าทดแทน (Afforestation) ที่เรามักเข้าใจผิดไปว่ามันคือ การฟื้นฟูป่า (Reforestation)

น่าแปลกที่กิจกรรมที่ดูเหมือนจะมีประโยชน์นี้กลับทำร้ายโลกได้ในคราวเดียวกัน?

แม้ว่าการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยโลกจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แต่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวนั้นก็อาจทำร้ายโลกได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกต้นไม้ในบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้า เพราะมันจะส่งผลให้ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นถูกรุกราน ทำให้เอกลักษณ์ของที่แห่งนั้นเลือนหายไป นอกจากนี้แล้วระบบนิเวศที่เป็นทุ่งหญ้าเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของผู้คนและสัตว์ต่างๆ อย่างจำกัด การที่มีต้นไม้มากขึ้นทำให้ความต้องการน้ำในดินเพิ่มขึ้นสูงด้วยเช่นเดียวกัน เพราะต้นไม้ทุกต้นต่างก็ต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยงรากและลำต้นให้เติบโตต่อไป แต่สำหรับในพื้นที่อย่างทุ่งหญ้าที่มีน้ำจำนวนน้อยอยู่แล้วก็จะเกิดการแย่งน้ำกันจนสุดท้ายนอกจากจะไม่ได้เพิ่มต้นไม้ในทุ่งหญ้าแล้วยังทำให้ต้นไม้เดิมล้มตายเพราะขาดน้ำอีกต่างหาก

ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มต้นไม้เข้าไปสู่พื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการเกิดไฟป่ามากขึ้นอีกด้วย เพราะดินในพื้นที่ป่าจะมีสีของหน้าดินที่เข้มกว่าหน้าดินปกติ ซึ่งสีที่เข้มขึ้นของดินแสดงว่ามันซึมซับและกักเก็บความร้อนที่มากขึ้น และอาจตามมาด้วยการเกิดไฟป่าจากความร้อนในดินและความแห้งของอากาศในระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้า ที่ไม่เพียงแค่สัตว์กินพืชอย่างม้าลายหรือกวางจะขาดอาหารจากการเกิดไฟป่าเพียงเท่านั้น แต่การเกิดไฟป่าเองก็ทำให้เพิ่มระดับของก๊าซคาร์บอนในบรรยากาศมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากทุ่งหญ้าให้เป็นป่าไม้นั้นอาจไม่ได้ตอบโจทย์ของการช่วยโลกใบนี้สักเท่าไรนัก

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

ภาพจาก : https://www.bbc.com/earth/story/20160722-why-we-should-let-raging-wildfires-burn

ไม่ใช่แค่เฉพาะระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าเท่านั้นที่ได้รับความเสียหายจากการปลูกต้นไม้ทดแทน แต่ระบบนิเวศในรูปแบบอื่นๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นทุนดรา, ป่าดิบชื้น, ป่าผลัดใบ, ป่าสน หรือระบบนิเวศอื่นๆ เองก็เช่นกัน เพราะต้นไม้ที่นำไปปลูกใหม่ส่วนมากไม่ใช่พืชท้องถิ่น จึงกลายเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับพื้นที่นั้นๆ ทำให้ต้นไม้เดิมในระบบนิเวศนั้นถูกรุกรานไปด้วย ส่งผลให้พื้นที่ป่าเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพจาก “ป่า (Forest) ” เป็น “ป่าที่ถูกรุกราน (Forest Invasive Alien Species - FIAs) ” จากแมลงหรือจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ติดมากับต้นไม้ต่างถิ่นที่มนุษย์นำมาปลูกใหม่

ซึ่งต้นไม้ที่มนุษย์ลงปลูกใหม่นี้ไม่ได้ไปทำลายต้นไม้ที่มีอยู่เดิม แต่มันจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในป่าและปรับสภาพของดินที่มีอยู่เดิมทีละน้อย ทำให้แร่ธาตุ ความชื้น และอุณหภูมิในดินนั้นเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จากป่าไม้ที่มีพืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆ หลายร้อยสายพันธุ์กลายเป็น “สวนป่า” ที่ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีเพียงพืชและสัตว์หรือแมลงไม่กี่ชนิดที่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนั้นได้ และถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือนไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนักเพราะถึงอย่างไรก็ถือว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ธรรมชาติ แต่หากเกิดโรคระบาดบางอย่างกับพืชเหล่านั้นมันก็จะทำให้ “สวนป่า” แห่งนั้นเกิดความเสียหายและล้มตายกันเป็นจำนวนมากได้ แต่ “ป่า” ตามธรรมชาติที่มีพืชพันธุ์หลายร้อยชนิดนั้นไม่มีทางที่จะติดโรคระบาดและล้มตายพร้อมกันทั้งหมดได้ เพราะหากพืชชนิดหนึ่งหายไปก็ยังมีพืชชนิดอื่นๆ หลงเหลืออยู่นั่นเอง

นอกจากนี้สำหรับระบบนิเวศที่เป็นป่าไม้แล้ว หากเกิดเหตุบางอย่างที่ทำให้ต้นไม้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคระบาด, น้ำป่าไหลหลาก, ไฟป่า หรือแม้กระทั่งการตัดไม้ทำลายป่าจากฝีมือมนุษย์ ป่าเหล่านั้นก็ยังสามารถฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาได้เนื่องจากมีเมล็ดพันธุ์ของพืชต่างๆ อยู่ภายในดินของผืนป่าเหล่านั้นอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูสักระยะ 

และแน่นอนว่าการรอคอยให้ป่าไม้ต่างๆ ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมานั้นใช้ระยะเวลานาน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีโครงการปลูกป่าเกิดขึ้น ซึ่งเราอาจเข้าใจว่าเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณของต้นไม้ภายในป่าที่เสื่อมโทรมลงจากภัยธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงแค่การปลูกต้นไม้ต่างถิ่นเข้าไปเพิ่มในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ไม่ได้เป็นการฟื้นฟู “ป่าเสื่อมโทรม” ที่ต้องการการดูแลแต่อย่างใด เพราะป่าเสื่อมโทรมในประเทศไทยส่วนมากนั้น ทางรัฐบาลได้แจกจ่ายให้กับประชาชนเป็นพื้นที่ทำกินเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่นั้นเป็นป่าไม้ร้างที่ไม่มีต้นไม้และพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ ขึ้นอยู่ ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าดังเดิมได้

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

ภาพจาก : https://blog.liu.se/rebeckalemoine/tag/primary-forest/

ตัวอย่างของโครงการปลูกป่าที่ทำลายระบบนิเวศนั้นมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป อย่างในประเทศสวีเดน (ภาพบน) ที่ในตอนแรกพื้นที่นี้เป็นป่าไทกาที่มีพืชเมืองหนาวและต้นสนหลากชนิด แต่เมื่อมนุษย์เข้าไปปลูกต้นสน Spruce เพิ่มในป่า ต้นสนนี้ก็เริ่มขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เปลี่ยนให้ป่าไทกาแห่งนี้กลายเป็น “สวนสน” เช่นเดียวกับในประเทศกัมพูชา (ภาพล่าง) ที่มนุษย์เข้าไปจัดการปลูกต้นยางขึ้นมาทดแทนต้นไม้ที่โดนตัดไปจากป่าดิบชื้น เมื่อเวลาผ่านไป ป่าดิบชื้นก็แปรสภาพเป็น “สวนยาง” ซึ่งหากมนุษย์ยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูป่าแบบผิดๆ อยู่ สุดท้ายแล้วป่าตามธรรมชาติก็คงกลายเป็น “สวนป่า” เหมือนอย่างป่าของทั้งสองประเทศนี้อย่างแน่นอน และการจะแปลงสภาพของ "สวนป่า" ให้กลับมาเป็น "ป่า" ดังเดิมนั้นจะต้องกำจัดพืชต่างถิ่นที่เป็นสิ่งแปลกปลอมของระบบนิเวศนี้ออกไปให้หมดก่อนที่จะเริ่มฟื้นฟูสภาพป่าขึ้นใหม่ แต่หากเราปล่อยให้พืชต่างถิ่นนี้เติบโตขึ้นจนกินเนื้อที่ของผืนป่าเดิมไปจนหมดแล้วนั้น การฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปพืชต่างถิ่นที่เติบโตขึ้นมานั้นจะแปรสภาพเป็นพืชท้องถิ่นภายในป่าแห่งนั้นโดยอัตโนมัติ

ปัญหาหลักสำคัญของการฟื้นฟูระบบนิเวศในปัจจุบันน่าจะเป็นการที่คนส่วนมากมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบนิเวศในรูปแบบต่างๆ กันเสียมากกว่า เพราะถึงแม้ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะดูเหมือนไม่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจเป็น “รูปแบบหนึ่ง” ของระบบนิเวศเพียงเท่านั้น เพราะระบบนิเวศที่ดีไม่ได้มีเพียงแค่ป่าที่มีต้นไม้สีเขียวเรียงรายกันเป็นจำนวนมากอย่างที่เราเข้าใจผิดกัน แต่มันยังมีระบบนิเวศรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นทุ่งหญ้า, ทะเลทราย, ป่าชายทะเล, ป่าพรุ, ป่าเบญจพรรณ และระบบนิเวศรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้มีเพียงต้นไม้สีเขียวเพียงเท่านั้น

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

ภาพจาก : https://www.fao.org/3/i0670e10.htm

เพราะหลักการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ (Forest Landscape Restoration - FLR) เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ควรจะต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจถึงสภาพระบบนิเวศและลักษณะของพืชท้องถิ่นโดยรอบเสียก่อน นอกจากนี้ยังต้องมีการรวบรวมต้นไม้ท้องถิ่นหลายสายพันธุ์ หลายกลุ่มประเภท ทั้งแบบโตเร็วและโตช้า เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเกิดการเกื้อหนุนกันภายในระบบนิเวศนั้น รวมทั้งอาจมีการปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ร่วมด้วย เมื่อสัตว์กินแล้วก็จะไปขับถ่ายทิ้งไว้อีกที่หนึ่ง เป็นการกระจายพันธุ์พืชออกไปบริเวณรอบข้างที่จะช่วยให้เราสามารถฟื้นฟูป่าที่สมบูรณ์ได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้คือเราควรที่จะทำให้พื้นที่ในบริเวณข้างเคียงนั้นสามารถที่จะเพาะปลูกการเกษตรขนาดเล็กสำหรับคนพื้นที่ได้อีกด้วย เพราะการที่เราฟื้นฟูป่าและให้ความใส่ใจกับชุมชนโดยรอบไปพร้อมกันนั้นจะช่วยให้คนในชุมชนได้เล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ร่วมด้วย

ไม่ได้หมายความว่าโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้นนั้นเป็นสิ่งไม่ดี

เพียงแต่หากจะจัดโครงการ CSR ที่ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าไม้ขึ้นก็ควรที่จะศึกษาสภาพของระบบนิเวศโดยรอบและทำความเข้าใจถึงหลักการฟื้นฟูป่าเสียก่อน เพราะต้นไม้ควรที่จะได้รับการปลูกอย่างถูกชนิดและถูกที่ เพื่อที่จะได้ฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เพราะหากเราปลูกต้นไม้ด้วยความหวังดีโดยที่ไม่ได้ใส่ใจว่าสภาพป่าหรือต้นไม้ในบริเวณนั้นเป็นอย่างไรแล้วก็จะส่งผลเสียให้กับระบบนิเวศได้อย่างมากเลยทีเดียว

การปลูกป่าทดแทนไม่ใช่การฟื้นฟูผืนป่า แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว!?

ภาพจาก : https://www.cyberhelpindia.com/csr-activities

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ป่าไม้จะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง แต่สำหรับในพื้นที่ใจกลางเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น การช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างการสร้างสวนหย่อมหรือการจัดสวนแนวตั้งตามอาคารต่างๆ ก็เป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน เพราะแน่นอนว่าด้วยสภาพของผังเมืองและมลพิษโดยรอบแล้วเราไม่สามารถที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่หรือรักษาสภาพของ “ป่าในเมือง” เช่นนี้ได้ ดังนั้นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เหล่านี้จึงเป็นวิธีเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้มีส่วนทำลายระบบนิเวศรอบข้าง และอีกวิธีที่จะช่วยโลกได้อย่างยั่งยืนนั้นคือการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือจะเป็นการช่วยลดการใช้พลาสติกที่ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังให้ความสนใจกันอย่างมากในขณะนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีเช่นกัน


ที่มา : qz.com , academic.oup.com , www.exoticpests.gc.ca , www.scimath.org , www.siamensis.org , www.citizenthaipbs.net , www.seub.or.th , blog.liu.se

 

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%9C%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%21%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
10 ตุลาคม 2562 20:38:10
GUEST
Comment Bubble Triangle
Magic water
เป็นบทความที่ดีมาก ได้ความรู้ใหม่ๆ และเพิ่มเติมความเข้าใจเรื่องการฟื้นฟูป่ามากขึ้น
 


 

รีวิวแนะนำ