คงเป็นเรื่องปวดใจไม่น้อยสำหรับชาวเอเชียส่วนใหญ่ที่ไปเที่ยว (หรือใช้ชีวิต) อยู่ในแผ่นดินฝั่งตะวันตก และประสบกับปัญหาการเข้าห้องน้ำโดยที่ไม่มี “สายชำระ” มีเพียงแค่ “กระดาษชำระ” หรือทิชชู่วางอยู่เพียงเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรสำหรับชาวเอเชียจนถึงขั้นที่ว่าได้มีการผลิต “สายชำระแบบพกพา” เพื่อพกติดตัวไปใช้งานในสถานที่ต่างๆ กันเลยทีเดียว
ภาพจาก : https://ca.dhgate.com/product/portable-bidet-sprayer-and-travel-bidet-bottle/399728922.html
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้โลกตะวันตกก็ได้เริ่มเปิดใจกับสายชำระกันมากขึ้น และหลายคนที่เคยใช้งานแล้วก็เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะมีติดห้องน้ำเอาไว้ ทำให้ธุรกิจสายชำระในสหรัฐอเมริกาเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดที่บริษัท Tushy (บริษัทผลิตสายชำระชื่อดังในสหรัฐอเมริกา) ได้มีการจัดงาน Butt-Con (คล้ายงาน Comic-Con ในเวอร์ชันที่โฟกัสไปที่สุขอนามัยของลำไส้ใหญ่เป็นส่วนมาก) ขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา
ภาพจาก : https://buttcon.splashthat.com/
ซึ่งภายในงาน Butt Con นี้ Dr. Evan Goldstein ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Rectal Surgeon) ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ออกมากล่าว สนับสนุนแนวคิดในการใช้สายชำระแทนการใช้ทิชชู่ ว่า การทำล้างทำความสะอาดหลังเสร็จธุระด้วยน้ำนั้น สะอาดและดีต่อสุขอนามัยของลำไส้ใหญ่มากกว่าการเช็ดทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระเพียงอย่างเดียว
โดยเขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า ทุกครั้งที่เราเผลอไปเหยียบสิ่งปฏิกูลโดยไม่ตั้งใจ เราก็ต้องการที่จะใช้น้ำในการล้างรองเท้าของเราให้สะอาดหมดจดมากกว่าการเช็ดรองเท้าที่เปื้อนนั้นด้วยทิชชู่ เพราะคนส่วนมากรู้สึกว่าการใช้ทิชชู่เช็ดเพียงอย่างเดียวนั้นทำให้รองเท้ายังไม่สะอาดมากเพียงพอนั่นเอง
และนอกจากเหตุผลเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยแล้ว การชำระล้างด้วยน้ำยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลบริเวณทวารหนักได้อีกด้วย เพราะการเช็ดทำความสะอาดด้วยทิชชู่เพียงอย่างเดียวนั้นจะทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างผิวเนื้อและกระดาษที่ค่อนข้างแห้งสาก จนทำให้รู้สึกระคายเคือง รวมทั้งเกิดแผลและริดสีดวงทวารได้ง่ายกว่าการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและใช้ทิชชู่ซับให้แห้งในภายหลัง
Dr. Evan Goldstein
ภาพจาก : https://metrosource.com/dr-evan-goldstein-people-we-love-2018/
Dr. Evan Goldstein ไม่ได้ยกเรื่องนี้มากล่าวจากการอิงประสบการณ์การรักษาของตนเองเพียงเท่านั้น เพราะจากงานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 และ ค.ศ. 2011 ที่ทำการศึกษากับบุคคลที่เคยเป็นโรคริดสีดวงทวารนั้นก็พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 90% เห็นตรงกันว่าการใช้น้ำในการชำระล้างทำความสะอาดหลังการทำธุระนั้น ช่วยลดความระคายเคืองและอาการเจ็บปวด จากการเป็นแผลบริเวณทวารหนักได้มากกว่าการใช้ทิชชู่เช็ดทำความสะอาดอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ การใช้น้ำยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะจากผลการสำรวจในอเมริกานั้นพบว่า ชาวอเมริกัน 1 คนใช้กระดาษชำระเพื่อเช็ดสิ่งปฏิกูลประมาณ 3 ม้วนต่อสัปดาห์ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยแล้วพบว่ามีการใช้ทิชชู่กว่า 36,500 ล้านม้วนต่อปี เลยทีเดียว และกระบวนการผลิตกระดาษทิชชู่ 1 ม้วนนั้นต้องใช้น้ำกว่า 140 ลิตร ยังไม่นับต้นไม้จำนวนมากและสารเคมีอย่างคลอรีนในการฟอกเยื่อกระดาษให้มีสีขาว และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมเครื่องจักรในการผลิต, เชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง รวมไปถึงจำนวนขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ของกระดาษทิชชู่ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้สายชำระในการชำระล้างทำความสะอาดหลังทำธุระเสร็จนั้นก็ควรที่จะมี แรงดันน้ำที่ไม่สูงจนเกินไปและมีอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมด้วย (เพื่อความปลอดภัย) ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการพัฒนานวัตกรรมที่จะมาตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ของผู้บริโภคด้วยการผลิต โถสุขภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Toilet) ที่มีปุ่มกดควบคุมฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้ เช่น ปุ่มกดในการปรับอุณหภูมิและความแรงของน้ำ รวมทั้งยังมีปุ่มกดสำหรับทำความสะอาดของผู้หญิงโดยเฉพาะอีกด้วย
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |