บีลลี บีนส์ อดีตนักกีฬาเบสบอลดาวรุ่งผู้ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีม กำลังนั่งมองสนามที่ว่างเปล่า แสงไฟตกกระทบใบหน้าของเขาแสดงให้เห็นริ้วรอยและความตึงเครียด เสียงวิทยุบรรยายเกมดังขึ้นในห้องใกล้ๆ เป็นเพียงเสียงเดียวที่ดึงความสนใจของเขาไว้ แต่มันไม่ใช่ในแง่ดี - วันนี้ทีมของเขาแพ้ย่อยยับให้แก่แยงกี้ส์ และนั่นทำให้เขาหัวเสียเอามากๆ
ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/2011/09/23/movies/brad-pitt-in-moneyball-by-bennett-miller.html
นี่เป็นฉากเปิดของ Moneyball หนังกีฬาฉลาดๆที่ดูเหมือนจะสอนธุรกิจกับเราอยู่ในที หนังได้แอรอน ซอร์คิน จาก The Social Network เป็นคนเขียนบท นั่นรับประกันได้ว่าเราจะได้ฟังบทพูดสั้นๆ แต่กระแทกตรงใจเหมือนหมัดอัปเปอร์คัตเสยเข้าเต็มคาง หนังขายความแมนของพระเอกอย่างแบรด พิตต์ ที่แสดงเป็นผู้จัดการทีม Oakland Athletics ผู้มีทักษะเซลส์แมนสูงมากจนเราคิดว่าเขาควรทำอาชีพนั้นจริงๆ เรื่องมันเริ่มจากแค่เขาจะไปขอซื้อตัวนักกีฬา แต่แล้วเขาก็สังเกตเห็นว่ามีหนุ่มคนหนึ่งคอยให้คำแนะนำคู่ค้าของเขาอยู่ในห้อง
“นายเป็นใคร” บิลลีถาม
“ปีเตอร์ แบรนด์” หนุ่มหุ่นหมีตอบกลับมาอย่างซื่อๆ
“ฉันไม่สนว่านายชื่ออะไร เกิดอะไรขึ้นในนั้น” บิลลีหมายถึงในห้องทำงานของมาร์ค คู่ค้าของเขา
“นายบอกอะไรกับบรูซ” บีลลีจี้
“ผมบอกว่าผมชอบการ์เซีย” ปีเตอร์หมายถึงนักกีฬาที่บิลลีพยายามซื้อ
“เขาถูกประเมินค่าไว้ต่ำเกินไป คุณฉลาดที่เลือกเขา” ปีเตอร์บอก
อะไรบางอย่างบอกกับบิลลีว่าหนุ่มคนนี้อ่านเกมขาด - ใช่ เขาเป็นแมวมองมานับสิบปี เขาย่อมรู้ว่านักกีฬาคนไหนมีแวว แต่หนุ่มคนนี้ - นายปีเตอร์ เรียนจบเศรษฐศาสตร์จากเยลและเพิ่งมาฝึกงานกับทีมเบสบอลเป็นที่แรก
ที่มาภาพ: https://www.baltimoresun.com/bs-mtblog-2011-10-moneyball_not_just_for_basebal-story.html
สัญชาตญาณบอกว่าเขาต้องซื้อตัวปีเตอร์ไว้ และนั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุดของเขา ใช่อยู่ - สัญชาตญาณ - สิ่งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญของแมวมอง และเขาก็ใช้มันอย่างเฉียบคมมาเสมอ รวมทั้งกับการเลือกตัวผู้เล่นให้กับทีม เขาเพิ่งจะมารู้ภายหลังว่าปีเตอร์นี่แหละ จะมาโละแนวคิดนี้ทิ้งทั้งหมด
ปีเตอร์เสนอทฤษฎีการเล่นชื่อเดียวกับหนัง นั่นคือ Moneyball หลักการคือใช้สถิติมาคำนวณหาผู้เล่นที่ถูกประเมินค่าไว้ต่ำเกินไป และทำเบสได้มาก ผู้เล่นแต่ละคนอาจไม่ได้เก่งหรือโดดเด่นอะไรเลย ซ้ำยังอาจมีจุดบกพร่องด้วยซ้ำ แต่เมื่อนำสถิติของผู้เล่นทั้งหมดมารวมกัน จะเท่ากับได้นักกีฬาฝีมือฉกาจ และเมื่อเล่นตามการคำนวณอันซับซ้อนที่วางไว้ จะทำให้มีโอกาสชนะมาก ทั้งที่ลงทุนน้อยกว่าทีมอื่นหลายเท่า
จุดนี้นี่เองที่ทักษะเซลส์แมนของบิลลีต้องถูกนำมาใช้ เพราะเขาต้องขายไอเดียให้กับคนทั้งทีม ซึ่งประกอบไปด้วยแมวมองรุ่นลุงผู้เชื่อใน ‘สัญชาตญาณ’ มากกว่าตัวเลข นอกจากนั้นยังมีเจ้าของทีม และโค้ชของนักกีฬา ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาบ้าไปแล้ว บางคนบอกกับเขาว่าเบสบอลไม่ใช่เรื่องของสถิติหรือวิทยาศาตร์ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ซึ่งบิลลีนั้นก็มีปมกับการเลือกโดยใช้สัญชาตญาณ เพราะมันเคยทำเขาผิดหวังครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตมาแล้ว
ที่มาภาพ: https://waydev.co/three-valuable-business-lessons-we-were-reminded-of-while-rewatching-moneyball/
ความฉับไวของหนังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเท่ เราจะได้เห็นการต่อรองซื้อขายนักกีฬาสองสามคนรวดเดียวภายในหนึ่งนาที การล็อบบี้และต่อรองเพื่อให้ได้ผลที่คาดหวังไว้ ความชำนาญในสถิติของปีเตอร์ที่ทำให้เขาระบุตัวนักกีฬาที่จะมาอยู่ในสมการอันชวนพิศวงได้ในเวลาแค่เสี้ยววินาที แค่ดูบิลลีกับปีเตอร์ซื้อขายนักกีฬากันก็คุ้มแล้วสำหรับหนังเรื่องนี้
นิสัยหนึ่งของบิลลีคือเขาจะไม่ทำตัวสนิทสนมกับผู้เล่นมากจนเกินไป เพราะเมื่อต้องขายตัวผู้เล่นให้ทีมอื่นหรือไล่ออก เขาจะได้ไม่รู้สึกผิดมาก หนังได้ฉายให้เห็นอีกด้านหนึ่งของแวดวงกีฬาซึ่งจริงๆแล้วคือธุรกิจดีๆนี่เอง ในธุรกิจ การทำกำไรให้ได้มากที่สุดคือเป้าหมายหลัก บิลลีที่เป็นผู้จัดการทีมนั้นต้องทำเหมือนนักกีฬาเป็นสินค้า ที่จะต้องปั้นแบรนด์ สร้างมูลค่าให้ได้มากๆ เพื่อขายเอากำไร เราไม่อาจรู้ได้ว่าบิลลีคิดอย่างไรกับระบบเช่นนี้ แต่ช่วงท้ายเรื่องก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราเห็นอยู่บ้างเหมือนกันว่าเขาไม่ได้เข้ามาอยู่ที่นี่เพื่อเงิน แต่เพื่อตอบสนองเป้าหมายบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า อย่างไรก็ตาม วงการนักกีฬาอาชีพไม่ได้สวยหรู มีหลายคนต้องผิดหวังจากมัน จะมีก็เพียงแฟนๆเบสบอลเท่านั้นแหละที่จะเห็นว่ากีฬานี้แสนโรแมนติก
ที่มาภาพ: https://www.hollywoodreporter.com/news/making-moneyball-272655
ด้วยบทพูดและพล็อตอันฉลาดและคมคาย ทำให้หนังเรื่องนี้ได้คะแนนจาก Rotten Tomatoes อย่างท่วมท้นถึง 94% ถือเป็นหนังดีอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาด
รับชม Moneyball ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix
ที่มาภาพ: https://www.imdb.com/title/tt1210166/mediaviewer/rm330480640
|
นักเขียนอิสระให้กับสื่อออนไลน์ ชอบวิจารณ์หนังและหนังสือ |