แอปพลิเคชันบางตัวก็เหมือนลูกกวาดสีหวานน่ารับประทาน มันมาในหน้าตาที่เป็นมิตร คุณสมบัติน่าสนใจ ตัวแอปพลิเคชันนี้มักจะปล่อยให้ดาวน์โหลดไปใช้งานกันได้แบบฟรีๆ จึงไม่น่าแปลกที่มันจะได้รับความนิยมมีการดาวน์โหลดไปใช้งานจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันฟรีเหล่านี้ มักมีสิ่งที่ผู้ใช้ต้องจ่ายแทนเงิน นั่นคือ ปัญหาด้านความปลอดภัย และข้อมูลส่วนตัว
โดยปัญหานี้เกิดขึ้นได้ทั้งใน App Store และ Google Play อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้จะค่อนข้างเกิดขึ้นบ่อยครั้งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เนื่องจากมีการตรวจสอบที่เข้มงวดน้อยกว่า
ในบทความนี้ก็จะมาเตือนผู้ใช้ถึงแอปพลิเคชันอันตรายที่มียอดดาวน์โหลดสูง บางตัวถูกถอดออกจาก Google Play ไปแล้ว แต่บางตัวก็ยังอยู่ จะมีตัวไหนบ้าง มาอ่านกันเลยครับ
;
เดิมที QuickPic เป็นแอปพลิเคชันอัลบัมรูปที่ดีมากตัวหนึ่ง ใช้งานง่าย และนักพัฒนาขยันอัปเดตอย่างเป็นประจำ ทำให้มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) Cheetah Mobile ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือสัญชาติจีนได้ทำการซื้อกิจการแอปพลิเคชันนี้จากผู้พัฒนาเดิม หลังจากนั้นมันก็มีการอัปเดต แล้วถูกจับได้ว่าตัวแอปพลิเคชันได้แอบแฝง มัลแวร์ (Malware) เข้ามาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และ โฆษณาที่อันตราย (Malvertising)
แอป QuickPic Gallery ได้ถูกถอดออกจาก Play Store ไปในช่วงปลายปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) แต่มันก็กลับมาใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) โดยทาง Cheetah Mobile ได้เปิดเผยกับทาง Android Police ว่า "ไม่ได้ถูกลบออกไปเพราะมัลแวร์นะ แต่เราแค่ไม่ต้องการดูแลมันแล้วต่างหาก"
ปัจจุบันนี้ มีแอปพลิเคชันเลียนแบบ QuickPic ให้โหลดมากมาย หากต้องการใช้งานจริงๆ ตอนดาวน์โหลดก็ต้องดูชื่อผู้พัฒนาให้ละเอียด ระวังอย่าเผลอดาวน์โหลดผิดลิงก์ล่ะ
ES File Explorer เป็นแอปพลิเคชัน File explorer บน Android ที่ใช้งานง่าย และมีความสามารถที่ครบครัน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันสามัญประจำเครื่องที่หลายคนนิยมใช้เลยล่ะ
เวอร์ชันฟรีของแอปนี้ เต็มไปด้วย Bloatware และ แอดแวร์ (Adware) ที่พยายามหลอกล่อให้คุณติดตั้งผ่านหน้าต่างแจ้งเตือนที่คุณไม่สามารถปิดได้ ซึ่งเอาจริงๆ นั่นยังพอรับได้ เพราะแอปพลิเคชันฟรีหลายๆ ตัวก็นิยมทำกัน อย่างไรก็ตามสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) เมื่อมันถูกจับได้ว่ามีการทำ Click fraud เพื่อหาผลประโยชน์
Click fraud หมายถึง การคลิกโฆษณาอัตโนมัติ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของโฆษณา โดยมันจะแอบทำงานอยู่เบื้องหลัง โดยที่เจ้าของอุปกรณ์ไม่รู้ตัว
ถึงแม้ว่า แอปพลิเคชัน ES File Explorer จะถูกถอดออกจาก Play Store ไปแล้ว แต่ยังมีหลายเว็บแจกจ่ายไฟล์ .APK ของแอปพลิเคชันนี้อยู่เพียบ รวมถึงมีแอปพลิเคชันเลียนแบบอีกเพียบบน Play Store ซึ่งเลี่ยงได้ก็เลี่ยงดีกว่า เพราะมีแอปพลิเคชันประเภท File Explorer อีกหลายตัว ที่เราสามารถเลือกใช้งานแทนได้ เช่น Files จาก Google, Total Commander - file manager ฯลฯ
แอปพลิเคชัน UC Browser เป็น เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) หรือ โปรแกรมเปิดเว็บ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน และประเทศอินเดีย ชูดจุดเด่นด้านความเร็วในการทำงาน และมีโหมดประหยัดดาต้า ด้วยเทคนิคบีบอัดข้อมูลเพื่อลดขนาดไฟล์
เว็บเบราว์เซอร์ตัวนี้มีการเก็บข้อมูลการค้นหาของเราส่งไปยัง Yahoo India และ Google โดยไม่มีการเข้ารหัสรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ข้อมูลส่วนอย่าง IMSI number, IMEI number, Android ID, และ Wi-Fi MAC Address ก็ถูกส่งไปยัง Umeng (Alibaba Analytics Tool) และตำแหน่งของผู้ใช้ ทั้งค่าลองจิจูด, ละติจูด และชื่อถนนก็ถูกส่งไปยัง AMAP (Alibaba Mapping Tool) โดยทั้งคู่ไม่มีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อรักษาความปลอดภัย
แอปพลิเคชัน CLEANit จะช่วยให้สามารถลบไฟล์ขยะโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้แล้วยังช่วย ล้างหน่วยความจำ และช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้ด้วย
แอปพลิเคชัน CLEANit ไม่ได้หลอกลวง มันมีความสามารถตามที่ระบุไว้จริงๆ แต่ปัญหา คือ การล้างไฟล์ขยะ ที่ส่วนใหญ่จะเป็น Cache ของระบบ นั้นไม่ได้เพิ่มพื้นที่ในเครื่องให้เรามากขึ้นสักเท่าไหร่ และทำให้ระบบต้องสร้างไฟล์ Cache ใหม่ขึ้นมาทุกครั้ง ในส่วนของการเคลียร์แรมใน Android สมัยนี้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ยิ่งทำยิ่งช้าลงเสียด้วยซ้ำ (อ่านรายละเอียดเรื่องการทำงานของ RAM ใน Android อย่างละเอียดได้ที่ https://tips.thaiware.com/1351.html)
ภาพจาก https://www.facebook.com/du.battery.saver.app.android/
แอปพลิเคชัน DU Battery Saver & Fast Charge เพิ่มความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ มีโหมดประหยัดแบตเตอรี่ และลูกเล่นอื่นๆ เกี่ยวกับแบตเตอรี่อีกเพียบ !
ไม่มีแอปพลิเคชันไหนสามารถสั่งให้สมาร์ทโฟนของคุณชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วขึ้นได้กว่าที่กำหนดมาอยู่แล้ว ที่เราเห็นก็เป็นแค่กราฟิกหลอกตา ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนชาร์จเร็วขึ้นเท่านั้นเอง
ในส่วนของการประหยัดแบตเตอรี่ มันก็เป็นการสั่งปิดการทำงานของ Services ต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากเรามีแอปพลิเคชันที่ใช้ Services เหล่านั้น อยู่ระบบก็จะต้องประมวลผลเปิดการทำงานของ Services ขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้พลังงานมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
แอป DU Battery Saver & Fast Charge ถูกถอดออกจาก Play Store เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) หลังถูกตรวจพบว่ามีการ Click fraud อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันนี้ยังมีแจกจ่ายตามเว็บไซต์สำหรับดาวน์โหลด APK และยังมีผู้ใช้ติดตั้งอยู่อีกเพียบ
แอปพลิเคชัน Clean Master ถือเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันยอดนิยม ที่เคลมว่าช่วยเพิ่มความเร็ว, ประหยัดแบตเตอรี่ และรีดประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนให้ดีขึ้นได้ มีผู้ใช้มากถึง 600 ล้านคน ก่อนที่จะถูกลบออกไปเมื่อปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562)
ประการแรก แอปพลิเคชันนี้เจ้าของ คือ Cheetah Mobile ที่เราเกริ่นไว้ในด้านบน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการยัดโฆษณา และ Bloatware เอาไว้จำนวนมาก
ประการที่สอง การเคลียร์แรมไม่ช่วยให้ Android ทำงานเร็วขึ้นจริง กลับทำให้ช้ากว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ระบบปฏิบัติการ Android ในตอนนี้มีระบบบริหารพื้นที่แรม ที่ดีพออยู่แล้ว ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปจัดการเองให้วุ่นวายแต่อย่างใด
แอปพลิเคชันหลายตัวที่เราหยิบมาพูดถึงในบทความนี้ หลายตัวถูกถอดออกจาก Play Store ไปแล้ว แต่ด้วยความที่ Android สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันแบบ Sideload ได้ ทำให้แม้แอปพลิเคชันเหล่านี้ยังคงวนเวียนไม่หายไปไหนจากโลกอินเทอร์เน็ต ก่อนติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตาม ผู้ใช้จึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |