ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

รีวิว Dreame Bot L10s Ultra VS Roborock S7 MaxV Ultra หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น แท่นชาร์จ All-in-1 ซื้อตัวไหนดี ?

Dreame Bot L10s Ultra VS Roborock S7 MaxV Ultra หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น แท่นชาร์จ All-in-1 ซื้อตัวไหนดี ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 8,012
เขียนโดย :
0 %E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7+Dreame+Bot+L10s+Ultra+VS+Roborock+S7+MaxV+Ultra+%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99+%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%88+All-in-1+%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Dreame Bot L10s Ultra VS Roborock S7 MaxV Ultra
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น แท่นชาร์จ All-in-1 ซื้อตัวไหนดี ?

หุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ดี มักจะมีความสามารถรอบด้าน ทั้งในเรื่องของการดูด การถู และยังต้องมีการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดเพื่อหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างแม่นยำ คุณสมบัติเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไป แต่ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra ไม่เพียงแต่มีทุกอย่างครบ แต่มันยังมาพร้อมกับแท่นชาร์จที่นอกจากจะใช้ชาร์จไฟได้แล้ว มันยังสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ทั้งการซักผ้า เป่าแห้ง และดูดฝุ่นไปเก็บไว้ในถังเป็นเดือน ๆ โดยที่คุณไม่ต้องมานั่งจัดการเองเลย

บทความเกี่ยวกับ Robot Vacuum Cleaner อื่นๆ

บทความรีวิว จะเป็นการ เปรียบเทียบระหว่างหุ่นยนต์ ดูดฝุ่น ถูพื้น Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra เนื่องจากทั้งคู่มีคุณสมบัติที่คล้ายกันหลายอย่าง แถมยังเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดรุ่นท็อปของทั้งสองแบรนด์ที่เปิดตัวใหม่ล่าสุด ความแตกต่างของพวกมันจะเป็นอย่างไร ถ้าเทียบกัน ช็อต ต่อ ช็อต รุ่นไหนที่น่าซื้อมากกว่ากัน

เนื้อหาภายในบทความ

เกริ่นนำ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

เกริ่นนำ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra
Dreame Bot L10s Ultra (ซ้าย) Roborock S7 MaxV Ultra (ขวา)

Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra เป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ใช้งานได้ทั้งการดูดฝุ่น (Vacuuming) และ การถูพื้น (Floor Mopping) ที่มีจุดเด่นที่ตัวแท่นชาร์จ ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการทำความสะอาดตัวเอง นับว่าเป็นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์พ่อบ้านแม่บ้านสายขี้เกียจสุด ๆ โดยแท่นชาร์จ จะมีทั้งระบบซักผ้าม็อบและดูดขยะไปเก็บไว้ได้ ทำให้เราไม่ต้องดูแลหุ่นยนต์บ่อย ๆ ปล่อยให้มันทำงานด้วยตัวมันเอง นานเป็นเดือน ๆ ถึงจะมาคอยเติมน้ำ หรือไปเทขยะทิ้ง

จุดเด่นอีกอย่าง ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือฟังก์ชันการทำแผนที่ 3D ที่หุ่นยนต์สามารถสร้างรูปแบบจำลองห้องของคุณพร้อมเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาบนแอปพลิเคชันแบบ 3 มิติ 

สำหรับฟังก์หลัก ๆ อย่างการทำความสะอาดทั่วไป ไม่แพ้หุ่นยนต์ตามท้องตลาดแน่นอน ระบบนำทางและเซ็นเซอร์เทพมาก การวิ่งชนสิ่งกีดขวางหรือข้าวของจะเกิดขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจจับพรม ที่จะปรับการทำงานของหุ่นยนต์เวลาเจอพื้นพรมให้เหมาะสม และความสามารถอื่น ๆ ที่เราอธิบายจบในหัวข้อเดียวก็คงไม่หมด

อุปกรณ์ในกล่อง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

อุปกรณ์ในผลิตภัณฑ์ + อุปกรณ์เสริม
Dreame Bot L10s Ultra Roborock S7 Maxv Ultra 
  • หุ่นยนต์ทำความสะอาด Dreame Bot L10s Ultra x 1
  • แท่นชาร์จ x 1
  • สายไฟ x 1
  • แปรงกวาดฝุ่น x 1
  • แผ่นม็อบ x 2 (นับเป็น 1 คู่)
  • แปรงทำความสะอาด x 1
  • คู่มือการใช้งาน x 1
  • น้ำยาทำความสะอาด x 1
  • ถุงเก็บฝุ่น x 2 (ติดตั้งในเครื่อง 1 สำรอง 1)
  • หุ่นยนต์ Roborock S7 Maxv Ultra  x 1
  • แท่นชาร์จไฟ x 1
  • ปลั๊กสายไฟ x 1
  • แท่นชาร์จรองต่อจากตัวเครื่องหลัก (Dock Base)
  • ผ้าถูพื้น x 1 (ติดตั้งพร้อมตัวเครื่องแล้ว)
  • แผ่นวางรองพื้น เพื่อป้องกันความชื้น x 1
  • คู่มือการใช้งาน (Product Manual) x 1
  • คู่มือแนะนำการใช้งานเบื้องต้น (Quickstart Guide) x 1
  • ถุงเก็บฝุ่น x 2 (ติดตั้งในเครื่อง 1 สำรอง 1)

สำหรับอุปกรณ์ที่ให้มาพร้อมกล่อง ก็ถือว่าครบ ทั้งสองรุ่น มีให้ถุงเก็บฝุ่นเพิ่มมาสำรองคนละถุง สำหรับ Dreame Bot L10s Ultra พิเศษหน่อยตรงที่มีแถมน้ำยาถูพื้นแบบ Multi-Surface สำหรับใช้บนพื้นบ้านทุกประเภทให้ด้วย ตัวน้ำยาเป็นแบบตลับ ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีการรีวิว Dreame Bot L10s Ultra ทุกคนก็น่าจะทราบกันดีว่ามันใช้อย่างไร สามารถตามไปอ่านกันได้

อ่านเพิ่มเติม : รีวิว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Dreame Bot L10s Ultra 

Dreame Bot L10s Ultra

Dreame Bot L10s Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

ประเมินการออกแบบตัวเครื่อง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

สำหรับส่วนนี้ เราจะมาประเมินการออกแบบหุ่นยนต์และเปรียบเทียบคุณสมบัติภาพรวมของทั้ง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra พร้อมให้คะแนนตามความเห็นของ Thaiware กันดูว่าตัวไหนจะน่าสนใจกว่ากัน  

ข้อมูลหุ่นยนต์
รายละเอียด Dreame Bot L10s Ultra Roborock S7 MaxV Ultra 
ขนาด 350 x 350 x 97 มิลลิเมตร 353 x 350 x 96.5 มิลลิเมตร
น้ำหนัก 3.7 กิโลกรัม 4.7 กิโลกรัม
ความจุแบตเตอรี่ 5,200 mAh 5,200 mAh
ความจุถังเก็บฝุ่น 350 มิลลิลิตร 400 มิลลิลิตร
ความจุถังเก็บน้ำ 80 มิลลิลิตร 200 มิลลิลิตร
แรงดูดสูงสุด 5,300 ปาสคาล (Pa) 5,100 ปาสคาล (Pa)
เสียงรบกวนต่ำสุด 59 dB (ขณะถูพื้น) 67 dB (ขณะถูพื้น)
ระบบนำทาง LDS  LDS
ตรวจจับพรม Yes Yes
ตรวจจับสิ่งกีดขวาง Dual Lasers + AI Dual Lasers + AI
Mop Rasing (ยกผ้าม็อบเวลาเจอพรม) 7 มิลลิลิตร 5 มิลลิเมตร

ดีไซน์ และ ขนาดของ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

ดีไซน์ และ ขนาด

จากรูปลักษณ์ภายนอก ถือว่า Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra มีความแตกต่างกันคนละสไตล์อย่างชัดเจน หน้าตาและส่วนประกอบต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งรูปร่าง ปุ่มคำสั่ง มีความคล้ายกันในบางมุม โดยเฉพาะเรื่องของขนาดที่ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันมาก แต่ถ้าจับยกดู จะรู้ว่า Dreame Bot L10s Ultra มีความเบากว่า เพียง 3.7 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra มีน้ำหนักอยู่ 4.7 กิโลกรัม ประเด็นของน้ำหนักอาจทำให้ฝั่ง Dreame Bot L10s Ultra ได้เปรียบในเรื่องของความคล่องตัว

มุมมองด้านหน้า

  มุมมองของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

มุมมองของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 MaxV  
Roborock S7 MaxV

ตัวแท่นด้านบนที่เราเห็นของทั้ง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra มีฟังก์ชันเป็นระบบนำทางแบบ LDS (Laser Distance Sensor) เหมือนกัน ด้านหน้ายังมีกล้องเซ็นเซอร์แบบ AI ที่ใช้วิเคราะห์วัตถุ พร้อมเซ็นเซอร์ด้านข้างที่คอยทำงานร่วมกัน

หากมองตามความสามารถของข้อมูล อาจใช้เปรียบเทียบอะไรไม่ได้ เพราะที่กล่าวมาของทั้ง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra พูดง่าย ๆ ก็คือใช้ ตรวจจับ หลบหลีก และบันทึกแผนที่รวมถึงสร้างแผนที่ 3 มิติตามที่บอกไว้ก่อนหน้านี้

กล่องเก็บฝุ่น และ ถังน้ำในเครื่อง

  กล่องเก็บฝุ่นของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

  กล่องเก็บฝุ่นของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 MaxV Roborock S7 MaxV

มาดูที่กล่องเก็บฝุ่นบนตัวเครื่อง มีฝาครอบปิดในตำแหน่งเหมือนกัน ทว่ากล่องเก็บฝุ่นของ Roborock S7 MaxV Ultra จะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และถังน้ำก็ยังมีขนาดใหญ่กว่า คุณสามารถถอดถังน้ำที่ด้านหลังมาเช็คได้ ขณะที่ Dreame Bot L10s Ultra ดูเหมือนจะไม่ค่อยเน้นคุณสมบัติส่วนนี้เท่าไหร่ น่าจะเพราะว่าปกติมันก็มีการดูดขยะไปเก็บที่แท่นชาร์จ หรือ ใช้น้ำจากแท่นแบบอัตโนมัติอยู่แล้ว 

ใต้หุ่นยนต์

  ใต้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

  ใต้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 MaxV Ultra
Roborock S7 MaxV

ด้านใต้ การจัดวางช่องดูดฝุ่น แปรงปัดกวาด และผ้าม็อบ อยู่ในตำแหน่งที่ดูคล้ายกัน ล้อทั้งคู่มีระบบ 'โช๊คอัพ' ช่วยให้หุ่นยนต์ไต่ข้ามธรณีประตูได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตามเราชอบวิธีออกแบบการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ของ Dreame Bot L10s Ultra โดยเฉพาะผ้าม็อบสำหรับถูพื้น เนื่องจากตัวต่อเป็นแม่เหล็ก เวลาถอดไปทำความสะอาดคราบเพิ่มเติมจะง่ายมาก

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Dreame Bot L10s Ultra

ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra ใช้ผิวตีนตุ๊กแกยึดติดกับเครื่อง มันจะมีความต้องใช้แรงดึงกันนิดหน่อย แต่ก็ไม่ยากมากขนาดนั้น ที่ยากจริง ๆ ก็คือแปรงกวาดพื้นของ Roborock S7 MaxV Ultra ที่มีน็อตยึดไว้ ต้องใช้ไขควงมาแกะเท่านั้น อาจลำบากหน่อยถ้ามีเศษขยะไปติดพันจนแกะไม่ได้ หรืออุปกรณ์ชำรุด แต่ก็แน่นหนาดี

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 MaxV Ultra

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น Roborock S7 MaxV Ultra
จะเปลี่ยนแปรงกวาดของ Roborock S7 MaxV Ultra ก็ต้องใช้ไขควงช่วยหน่อย

ส่วนลักษณะผ้าม็อบทรงที่คุณเห็นจากของ Dreame Bot L10s Ultra มีการทำงานแตกต่างจากปกติ โดยใช้วิธีการหมุนขัดและใช้แรงกดทับ ขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra จะเป็นการขัดถูแบบขึ้นลงด้วยแรงสั่นทะเทือน (Sonic Mopping) ซึ่งเดี๋ยวเราจะทดสอบให้ดูแน่นอนว่ามันมีประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร

เอาเป็นว่าสำหรับคะแนนในการออกแบบหุ่นยนต์ Thaiware ยกความดีความชอบให้ Dreame Bot L10s Ultra ไปก่อน เพราะภาพลักษณ์ที่เป็นสีขาวเหมาะกับตัวบ้านผู้เขียนอยู่แล้ว ซึ่งอันนี้มันแล้วแต่ความชอบส่วนตัว ส่วนอีกเหตุผล เพราะเขาออกแบบอุปกรณ์ให้สามารถถอดเปลี่ยนง่าย ผมเชื่อว่าสักวันยังไงเราก็ต้องได้ถอดมันมาทำความสะอาดบ้างถ้าผ่านสงครามมานาน และการออกแบบให้เรียบง่ายแบบนี้ก็ชนะใจเราไปก่อน

การออกแบบหุ่นยนต์
 Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
X

ประเมินการออกแบบแท่นชาร์จ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

สำหรับส่วนนี้ ก็เหมือนกับเปรียบเทียบหุ่นยนต์ เราอยากจะแยกมาเพื่อวิเคราะห์เฉพาะที่ตัวแท่นชาร์จ เนื่องจากตัวแท่นชาร์ของ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra มีความสามารถเพิ่มเติมขึ้นมานอกจากแค่ชาร์จไฟ จึงจำเป็นต้องมาให้ความเห็นและให้คะแนนเช่นกัน 

การออกแบบแท่นชาร์จ
รายละเอียด Dreame Bot L10s Ultra Roborock S7 MaxV Ultra 
ขนาด 423 x 340 x 568 มิลลิเมตร 422 x 504 x 420 มิลลิเมตร
ความจุของถุงเก็บฝุ่น 3 ลิตร 2.5 ลิตร
ความจุถังเก็บน้ำดี 2.5 ลิตร 3 ลิตร
ความจุถังเก็บน้ำเสีย 2.4 ลิตร 3 ลิตร
ฟังก์ชันทำความสะอาดตัวเอง Auto-Empty + Mops Self Cleaning Auto-Empty + Mops Self Cleaning
ฟังก์ชันเป่าแห้งผ้าม็อบด้วยลมร้อน Yes (ผ้าแห้งใน 2 ชั่วโมง) No
Fast Charging No Yes

ดีไซน์ และ ขนาด

จากภาพประกอบ แท่นชาร์จทั้งสองรุ่นค่อนข้างใหญ่ รูปลักษณ์ของ Dreame Bot L10s Ultra มาในทรงสูงที่สัดส่วน 423 x 340 x 568 มิลลิเมตร (กว้าง x ยาว x สูง) พร้อมกับธีมสีขาวเหมือนตัวเครื่อง ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra ที่มีธีมสีดำ มาในรูปทรงกว้างยาวกว่า ที่สัดส่วน 422 x 504 x 420 มิลลิเมตร  

มองด้วยตาเปล่า ฝั่ง Dreame Bot L10s Ultra ดูสูงใหญ่กว่าก็จริง แต่เรื่องความกว้างของ Roborock S7 MaxV Ultra ก็ทำให้เป็นข้อเสียที่มากกว่า เพราะต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง แถมถาดรองผ้ายังมีการยื่นออกมาด้านหน้ามาก แน่นอนเรื่องสูงไม่ใช่ปัญหาส่วนใหญ่ของบ้านใครหลายคน แต่เรื่องกว้างมันกินเนื้อที่ ไม่เป็นผลดีกับคนที่อาศัยในคอนโด ซึ่งจำเป็นต้องประหยัดพื้นที่สักนิดและยังติดตั้งได้ยาก

ดีไซน์ และ ขนาดของแท่นชาร์จ

ถังน้ำและถังเก็บฝุ่นบนแท่นชาร์จ

สำหรับเหตุผลที่ทำให้แท่นชาร์จของหุ่นยนต์ทั้งสองรุ่นต้องใหญ่ ก็เพราะมันมีการติดตั้ง ถังเก็บน้ำสะอาด ถังน้ำเสีย รวมถึงถังเก็บฝุ่นด้วย โดยถังต่าง ๆ ใน Roborock S7 MaxV Ultra จะอยู่ในจุดที่มองเห็นได้ง่าย และวางเรียงต่อกันให้หยิบจับสะดวก ส่วน Dreame Bot L10s Ultra ถังน้ำและถุงเก็บฝุ่นอยู่ในฝาปิดที่มิดชิด (ถังเก็บน้ำอยู่ด้านบน ส่วนถังเก็บฝุ่นอยู่ในฝาสีเงินสะท้อนแสงตรงกลาง) 

Dreame Bot L10s Ultra

 ถังน้ำและถังเก็บฝุ่นบนแท่นชาร์จ Dreame Bot L10s Ultra

 ถังน้ำและถังเก็บฝุ่นบนแท่นชาร์จ Dreame Bot L10s Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

ถังน้ำและถังเก็บฝุ่นบนแท่นชาร์จ Roborock S7 MaxV Ultra

เรื่องความจุ ต้องขอบอกว่า มีดีและเสียต่างกัน Dreame Bot L10s Ultra มาพร้อมถังน้ำขนาดปริมาณ 2.5 ลิตร และถุงเก็บฝุ่น 3 ลิตร ขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra สลับกันเลย เพราะมีมีถังเก็บน้ำสะอาดและน้ำเสียขนาด 3 ลิตร แต่ถุงเก็บฝุ่นดันมีขนาดแค่ 2.5 ลิตร

อาจมีผลกระทบเล็กน้อย ในการใช้งาน แต่ถ้าพูดถึงระยะเวลาในการเก็บเอาไว้ ก็น่าจะอยู่ได้ 1 - 2 เดือน ถ้าใช้ประหยัด ๆ ไม่กดขี่หุ่นยนต์มากเกินไปก็อาจจะอยู่กันได้มากกว่านั้น แล้วแต่คนใช้งาน

การเติมน้ำยาทำความสะอาด

สำหรับระบบเติมน้ำยาทำความสะอาด ทาง Dreame Bot L10s Ultra ให้มาเป็นแบบอัตโนมัติ เจ้าตลับที่เราพูดถึงตอนแรกถ้าติดตั้งไว้ในถังเก็บน้ำ ตัวน้ำยาจะถูกถ่ายเทมาพร้อมกับน้ำสะอาดเวลาชุบผ้าม็อบ เอาไว้เพิ่มประสิทธิภาพการถูได้

ในขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra ถ้าคุณมีน้ำยาอาจจะต้องเติมใส่ในถังน้ำเอง แต่ปัญหาก็คือถ้าคุณไม่สันทัดในเรื่องการกะปริมาณ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้เท่าไหร่ ซึ่งถ้าเป็นของ Dreame Bot L10s Ultra เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหาเสียบติดตั้งไว้ในแท่นชาร์จ ปล่อยยาว ตอบโจทย์คนขี้เกียจในทุกองศาของการเป็นพ่อบ้าน แม่บ้านจริง ๆ   

การเติมน้ำยาทำความสะอาด
ช่องเติมน้ำยาอยู่ส่วนเดียวกับถังเก็บน้ำ

ส่วนล่าง (ในช่องชาร์จไฟ)

สำหรับช่องด้านล่าง หรือช่องจอดของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาทำการชาร์จแบตเตอรี่ ส่วนนี้เองคือจุดที่หุ่นยนต์จะเข้ามาเก็บฝุ่น และ ซักผ้าม็อบด้วย ซึ่งถ้าสังเกตจากแท่นชาร์จทั้งคู่ด้านในจะเห็นเป็นหลุม ตรงนั้นคือจุดที่แท่นชาร์จจะปล่อยนำมาชำระล้างและซักผ้าม็อบนั่นเอง และในขณะเดียวกันก็จะมีการดูดฝุ่นไปเก็บด้วย เรื่องระบบการทำงานต้องขอข้ามไปก่อน เดี๋ยวจะไปอธิบายเสริมทีหลัง

  ส่วนล่าง (ในช่องชาร์จไฟ) Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

  ส่วนล่าง (ในช่องชาร์จไฟ) Roborock S7 MaxV Ultra
Roborock S7 MaxV Ultra

อย่างไรก็ตามการออกแบบที่เหนือกว่าของ Dreame Bot L10s Ultra คือส่วนนี้เขามีระบบเป่าลมร้อนให้ผ้าแห้งมาด้วย ขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra ไม่มีให้ หรือ อาจต้องซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเพิ่มเติม เวลาซักผ้าม็อบของ Roborock S7 MaxV Ultra คุณอาจต้องถอดผ้าออกมาตากแห้งเองเพราะมันน่าจะเกิดความอับชื้นได้ และเกิดเป็นเชื้อแบคทีเรียสะสม ในขณะที่ Dreame Bot L10s Ultra คุณไม่ต้องทำอะไรเลย ผ้าแห้งอัตโนมัติตามตำราที่บอกไว้ใน 2 ชั่วโมง 

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีการใช้งานไปสักพักจุดที่ซักผ้าอาจมีคราบหรือสิ่งสกปรกตกค้างอยู่บ้าง ซึ่ง Dreame Bot L10s Ultra ก็เหมือนคิดมาแล้วว่าเราควรถอดแผงซักผ้าออกมาง่าย ๆ เพื่อไปทำความสะอาด ในขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra จะไม่มีถาดรองส่วนนี้ให้ มีแค่แปรงที่ใช้ซักผ้าม็อบ ซึ่งไม่สามารถถอดออกมาได้ง่าย ๆ เลย

แผงซักผ้าที่ถอดออกมาดูแลง่าย
แผงซักผ้าที่ถอดออกมาดูแลง่าย

ข้อได้เปรียบของ Roborock S7 MaxV Ultra ที่ดึงคะแนนขึ้นมาได้บ้าง คือระบบ Fast Charging ที่ Dreame Bot L10s Ultra ไม่มี แม้ว่าหุ่นยนต์ทั้งสองรุ่นจะมีความจุแบตเตอรี่ที่เท่ากัน แต่การมี Fast Charging ก็ถือเป็นข้อดีที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ทุกครั้งที่แบตเตอรี่ใกล้หมด 

 Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

 Roborock S7 MaxV Ultra
Roborock S7 MaxV Ultra

สรุปภาพรวม แท่นชาร์จทั้ง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra เอาจริง ๆ ข้อดีและข้อเสียมีแตกต่างกันนิดหน่อย อาจตัดสินใจยากว่าจะให้คะแนนใครในส่วนนี้ ดังนั้นเราจะดูกันที่ระบบเสริม ซึ่งคำตอบก็คือ Dreame Bot L10s Ultra มีของแถมที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็น การเติมน้ำยาทำความสะอาดอัตโนมัติ การมีระบบเป่าลมร้อนให้ผ้าแห้ง หรือดีไซน์ที่น่าจะตอบโจทย์บ้านของคนมีพื้นที่น้อย  เป็นต้น

การออกแบบแท่นชาร์จ
 Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
X

เปรียบเทียบคุณสมบัติการทำงาน Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

เปรียบเทียบการออกแบบไปแล้ว ต่อไปเราจะมาดูเรื่องของคุณสมบัติในการทำงานของหุ่นยนต์กันบ้าง ว่า ระหว่าง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra ตัวไหนจะจบงานได้ดีกว่า

การถูพื้น

สำหรับการถูพื้น สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของทั้งสองรุ่นก็คือ เวลาที่เราสั่งให้มันถูพื้น ตัวเครื่องจะมีการเติมน้ำจากแท่น ใส่ในแทงค์น้ำแบบ Build-in ของหุ่นยนต์ โดย Dreame Bot L10s Ultra มีขนาดบรรจุได้ 80 มิลลิลิตร ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra มีขนาดบรรจุได้ 200 มิลลิลิตร และจะมีการกลับมาที่แท่นเพื่อเติมน้ำกรณีที่น้ำสะอาดหมด, ถังบรรจุฝุ่นเต็ม หรือ ต้องการกลับมาซักผ้าม็อบ

ซึ่งในแอปพลิเคชันของ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra เราสามารถสั่งได้เลยนะว่าจะให้หุ่นยนต์กลับมาซักผ้าม็อบเมื่อทำความสะอาดไปแล้วกี่ตารางเมตร หรือว่ากี่นาที ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ดีเลย

ว่ากันเรื่องของระบบถูพื้นดีกว่า ก่อนอื่นต้องขอเน้นย้ำอีกรอบว่า การถูของทั้งคู่จะต่างกันมาก Dreame Bot L10s Ultra ใช้ผ้าม็อบแบบกลม 2 อัน เพื่อขัดพื้นด้วยวิธีการหมุนและกดไปบนพื้น ได้รับการเคลมจากหลายสื่อว่า สะอาดกว่าการถูพื้นแบบแรงกดปกติหลายเท่า

ระบบการถูพื้นของ Dreame Bot L10s Ultra
ระบบการถูพื้นของ Dreame Bot L10s Ultra / ภาพจากเว็บไซต์ global.dreametech.com

อย่างไรก็ตาม Roborock S7 MaxV Ultra ก็ถือเป็นรุ่นใหม่ ที่น่าจะลบล้างข้อด้อยแบบเดิมไปบ้างแล้ว เพราะเขาอัปเกรดมาให้ถูด้วยระบบสั่นสะเทือน Sonic Mopping ที่จะทำให้ผ้าม็อบขัดถูไปมาได้แบบ 3,000 ครั้ง ต่อนาที 

ระบบการถูพื้นของ Roborock S7 MaxV Ultra
ระบบการถูพื้นของ Roborock S7 MaxV Ultra / ภาพจากเว็บไซต์ www.roborockthailand.com

เราจะมาดูกันว่าของใครสะอาดกว่า การทดสอบครั้งนี้เราได้ใช้น้ำกาแฟเทไปบนพื้นประเภทเดียวกัน กะปริมาณให้ใกล้เคียงกัน ไม่มากไม่น้อยเดี๋ยวจะหาว่าลำเอียง ผลที่ได้เป็นตามภาพ

Dreame Bot L10s Ultra

การทำความสะอาดของ Dreame Bot L10s Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

การทำความสะอาดของ Roborock S7 MaxV Ultra

ถ้าสังเกตคุณจะเห็นว่าทั้งสองรุ่นมีการถูแบบสลับฟันปลาคนละแนว ระบบอาจตั้งค่ามาแบบนี้หรือแค่สุ่ม อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะวิ่งในแนวไหน ผลออกมาในการถูแค่ 1 รอบ ก็ดูเหมือนจะสะอาดแทบไม่ต่างกัน 

ทว่าการถูบางครั้งอาจทิ้งคราบเหนียวไว้บ้าง แต่ดูเหมือน Dreame Bot L10s Ultra จะดูขจัดคราบได้ลึกกว่า ด้วยระบบขัดของเขา ถ้าไม่ได้สัมผัสจริง ๆ คุณจะไม่รู้ว่าคราบกาแฟมีความเหนียวตกค้าง ซึ่งพอได้ลอง ๆ จับดูเหมือนทาง Dreame Bot L10s Ultra จะไม่ได้ทิ้งคราบเหนียวเอาไว้ หรือ น้อยกว่า Roborock S7 MaxV Ultra 

การดูดฝุ่น

สำหรับแรงดูดฝุ่นของ Dreame Bot L10s Ultra อยู่ที่ 5300 Pa (ปาสคาล) ในขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra มีแรงดูด 5100 Pa อันที่จริงหากมองจากสเปกค่าแรงดูดตรงนี้ เราก็ตัดสินได้เลยว่า Dreame Bot L10s Ultra เหนือกว่า

อย่างไรก็ตามแม้ Roborock S7 MaxV Ultra จะมีแรงดูดที่น้อยกว่านิดหน่อย แต่ถ้าเทียบตามท้องตลาด ก็ถือว่าสูงมากแล้ว เพราะหุ่นยนต์รุ่นอื่น ๆ มีแรงดูดอยู่ที่ 3000 - 4000 Pa ดังนั้นหากใช้ขยะทั่วไปเช่น ฝุ่น เส้นขน เศษกระดาษ เศษขนม ก็น่าจะไม่มีปัญหา 

ช่วงแรกเราทดสอบเบา ๆ ด้วยเศษกระดาษ สรุปว่าแรงดูดของฝั่ง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra สามารถจัดการได้หมดในการวิ่งผ่านแค่รอบเดียวด้วยโหมดแรงดูดสูงสุด

 ทดสอบดูดเศษกระดาษ Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

 ทดสอบดูดเศษกระดาษ Roborock S7 MaxV Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

นอกจากนี้ จากการทดลองอยู่หลายครั้งเราได้พบว่า หากเพิ่มความเข้มของฝุ่นผงลงไป (ใช้แป้ง, ผงโกโก้) และปล่อยให้ทั้งคู่ได้ทำการทดสอบวิ่งสัก 1 รอบในสภาพแวดล้อมพื้นแบบเดียวกัน พร้อมกับปรับใช้แรงดูดสูงสุดอย่างเดิม 

Dreame Bot L10s Ultra

ทดสอบทำความสะอาด Dreame Bot L10s Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

ทดสอบทำความสะอาด Roborock S7 MaxV Ultra

ผลลัพธ์ คือ ผงบางส่วนยังคงทิ้งหลงเหลือไว้เล็กน้อย ในการทำความสะอาดแค่รอบเดียว ซึ่งดูเหมือน Roborock S7 MaxV Ultra จะจัดการได้ดีกว่าในการทดสอบนี้ แม้จะมีค่าแรงดูดที่ต่ำกว่าเล็กน้อยก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นการทดสอบ ถ้าใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป Dreame Bot L10s Ultra ก็สามารถทำความสะอาดคราบสกปรกตามการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม

อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า รูปแบบการเดินทำความสะอาดของหุ่นยนต์ก็อาจมีส่วนด้วยเช่นกัน เพราะ Roborock S7 MaxV Ultra มีการวิ่งสลับฟันปลาที่ถี่และซ้ำในจุดเดียวกันบ่อยครั้ง ถ้าคุณสังเกตจากภาพเคลื่อนไหว ก็จะเห็นว่าหุ่นยนต์ Roborock วิ่งผ่านมาจัดการซ้ำหลายรอบเหมือนกัน ส่วน Dreame Bot L10s Ultra ดูเหมือนจะมีการตีวงกว้างจนไม่ทันได้เก็บฝุ่นที่มีมากเกินไปได้ทั้งหมด

เปรียบเทียบอีกมุม

ทดสอบทำความสะอาด Dreame Bot L10s Ultra

ทดสอบทำความสะอาด Roborock S7 MaxV Ultra

ถ้าพูดถึงการทำความสะอาดจริง ๆ แรงดูด Dreame Bot L10s Ultra  ก็มากกว่า แต่แรงดูดอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด การเลือกวิธีวิ่งทำความสะอาดเองก็มีผลสำหรับหุ่นยนต์ เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราให้คะแนนการดูดเป็นของฝั่ง Roborock S7 MaxV Ultra

ความคล่องตัวในการข้ามธรณีประตู

ธรณีประตูมักจะเป็นปัญหาของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หรือหุ่นยนต์ถูพื้นหลายรุ่น ถ้าบ้านใครกั้นห้องเยอะ ทำห้องแอร์อะไรพวกนี้ก็จะเข้าใจ เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นมักจะชอบวิ่งไปแหงกอยู่ที่รางประตู

ซึ่งในบ้านของผู้เขียนเองก็เป็นเช่นกัน และด้วยความที่ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra ทำระบบล้อแบบโช๊คอัพมาให้ ส่วนนี้ก็น่าจะทำให้ตัวหุ่นยนต์วิ่งผ่านรางกั้นได้ฉลุย และผลลัพธ์ก็เป็นไปตามภาพ 

 ทดสอบข้ามธรณีประตู Dreame Bot L10s Ultra
Dreame Bot L10s Ultra

ทดสอบข้ามธรณีประตู Roborock S7 MaxV Ultra
Roborock S7 MaxV Ultra 

Roborock S7 MaxV Ultra สามารถไต่ข้ามอย่างนุ่มนวล ขณะที่ Dreame Bot L10s Ultra ตัวหุ่นยนต์ มีการเปลี่ยนทิศทางเอี้ยวซ้ายระหว่างการปีนข้าม แต่ก็ผ่านได้ไม่มีปัญหา ภาพที่ได้เรามีการทดสอบอยู่หลายครั้งเหมือนกัน ทำให้แน่ใจว่า Roborock S7 MaxV Ultra มีความเคลื่อนไหวผ่านธรณีประตู ที่สมูทกว่า

การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง

ในการทำงานจริง ๆ ถ้าเกิดว่าปล่อยให้หุ่นยนต์ทั้งสองรุ่นวิ่งในบ้านปกติ ต้องบอกว่าเราแทบไม่ค่อยเห็นความแตกต่างเลย มันสามารถทำงานได้ดีและกลับมาถึงสถานีชาร์จอย่างปลอดภัย ไม่ติดซอกโต๊ะ ไม่ติดเฟอร์นิเจอร์ อะไรพวกนี้ ยิ่งถ้าเราใช้งานบ่อย ๆ มันก็ยิ่งจดจำสภาพแวดล้อมได้แม่นยำมากขึ้น เพราะการทำงานที่ควบคู่กันของเซ็นเซอร์ LDS, กล้อง AI และระบบเซ็นเซอร์คู่ตรวจจับทิศทางรอบตัว 

อย่างไรก็ตาม หากบ้านคุณมีข้าวของที่วางเกะกะ และมักจะไม่อยู่กับที่กับทางตลอดเวลา มันจะเป็นอย่างไร โดยช่วงนี้เราจะมี มินิเกมสนุก ๆ ให้ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra ได้เล่นกัน 

Dreame Bot L10s Ultra

ทดสอบข้ามสิ่งกีดขวาง Dreame Bot L10s Ultra

Roborock S7 MaxV Ultra

ทดสอบข้ามสิ่งกีดขวาง Roborock S7 MaxV Ultra

จากภาพเคลื่อนไหว เราต้องขอยกความเทพด้านการวิเคราะห์วัตถุให้ Dreame Bot L10s Ultra เลยทีเดียว คิดว่าเซ็นเซอร์น่าจะดีกว่า เพราะแทบไม่เกิดการชนสิ่งของเลย โดยเฉพาะในจังหวะการตีโค้งรอบกระเป๋า ให้สังเกตว่าหุ่นยนต์เกือบจะกระทบจัง ๆ แล้ว แต่มันก็พยายามที่จะถอยหลัง 1 ก้าว เพื่อหันไปสังเกตดูว่าเจออะไร และก็เลี้ยวหลบเหมือนตาเห็น ขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra มีการชนข้าวของบ้าง แต่ส่วนมากก็จะหลบได้ ซึ่งก็ยังมีความสามารถพอสมควร 

การตรวจจับพื้นพรม และการจัดการพื้นพรม

อีกคุณสมบัติที่มีการนำเสนอเหมือนกันก็คือระบบตรวจจับพรม โดยปกติแล้วหากเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ทั่วไป เมื่อวิ่งขึ้นพรม หุ่นยนต์จะไม่ทราบว่ามันวิ่งอยู่บนพรม ไม่มีการปรับแรงดูดและยังถูผ้าม็อบไปบนพื้นพรมอย่างหน้าตาเฉย ซึ่งปกติพรมมักจะเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น การกระทำของหุ่นยนต์ก็ยิ่งเป็นการทำให้ฝุ่นจับตัวกันเป็นก้อน และยังทำให้ผิวพรมเสียหาย 

ดังนั้นระบบตรวจจับพรมที่ออกแบบมาของ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV จึงทำให้หุ่นยนต์ทั้งสองรุ่นสามารถทำงานบนพื้นพรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หุ่นยนต์จะมีการเพิ่มแรงดูด และยังมีการยกผ้าม็อบขึ้นเพื่อไม่ให้ผ้าม็อบมีการถูไปบนพื้นพรม โดยทั้งสองรุ่นจะมีข้อแตกต่างกันนิดหน่อยตรงที่ Dreame Bot L10s Ultra สามารถยกผ้าม็อบได้สูงถึง 7 มิลลิเมตร ขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra ยกได้เพียง 5 มิลลิเมตร เท่านั้น

การตรวจจับพื้นพรม และการจัดการพื้นพรม Dreame Bot L10s Ultra

การตรวจจับพื้นพรม และการจัดการพื้นพรม Roborock S7 MaxV Ultra

คุณสมบัติการทำงาน
รายละเอียด  Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
การถูพื้น X
การดูดฝุ่น X
ข้ามธรณีประตู X
การหลบสิ่งกีดขวาง X
ทำงานบนพรม X

สรุปคะแนนด้านสิทธิภาพการทำงาน Thaiware ขอยกให้ การถูพื้นการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และการทำงานบนพรม Dreame Bot L10s Ultra ชนะไป ส่วนประสิทธิภาพการดูดฝุ่น ความคล่องตัวในการข้ามธรณีประตู Roborock S7 MaxV Ultra มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า

ระบบทำความสะอาดตัวเอง หรือการซักผ้าม็อบถูพื้น (Self-Cleaning) ของ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

ข้อแตกต่างของสองรุ่น คือ Dreame Bot L10s Ultra วิธีซักผ้าในรูปแบบการปั่นผ้าบนแผงที่มีพื้นผิวขรุขระเพื่อใช้ในการขัดผ้าให้สะอาด ซึ่งเป็นแผงเดียวกับที่เราบอกว่ามันสามารถถอดออกมาล้างได้ พร้อมกันนี้แท่นชาร์จก็จะปล่อยน้ำและน้ำยาทำความสะอาดออกมาช่วยซักด้วย และจะมีการไล่น้ำสกปรกออกไปเก็บที่ถังน้ำเสีย

วิธีซักผ้าของ Dreame Bot L10s Ultra
วิธีซักผ้าของ Dreame Bot L10s Ultra / ภาพจาก https://global.dreametech.com/

ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra จะซักผ้าในรูปแบบของการใช้แปรงมอเตอร์ไฟฟ้า ที่จะขัดสิ่งสกปรกออกจากผ้าม็อบอย่างเรียบง่าย พร้อมกับรีดน้ำเสีย จากนั้นก็จะมีการบายน้ำเสียไปเก็บที่ถังบรรจุนั่นเอง

วิธีซักผ้าของ Roborock S7 MaxV Ultra
วิธีซักผ้าของ Roborock S7 MaxV Ultra / https://us.roborock.com/

หลังจากที่เราให้หุ่นยนต์ผ่านการทดสอบ เรื่องการทำงานไปแล้ว ผ้าม็อบก็น่าจะมีสภาพที่เหมือนผ่านสงครามมาพอสมควร ซึ่งเราได้มีการถ่ายรูปเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ว่าก่อนซักและหลังซักผ้ามันแตกต่างกันอย่างไร 

Dreame Bot L10s Ultra

  ก่อนซัก
ก่อนซัก

หลังซัก
หลังซัก  

Roborock S7 MaxV Ultra

  ก่อนซัก
ก่อนซัก

  หลังซัก

หลังซัก

เอาจริง ๆ ก็ถือว่าค่อนข้างออกมาดีเกินคาดเลยแหล่ะ มองด้วยตาเปล่าอาจจะเทียบไม่ออก ว่าใครซักผ้าได้สะอาดกว่ากัน แต่สุดท้าย Dreame Bot L10s Ultra ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เหตุผลแน่นอนว่าเป็นเพราะระบบเป่าลมร้อน ที่ทำให้ผ้าแห้งอัตโนมัติ ถือว่า Dreame Bot L10s Ultra เก็บงานได้จบในตัวเองมากกว่าอีกรุ่นหนึ่ง

ความสะอาดในการซักผ้า
 Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
X

ระบบเก็บฝุ่นอัตโนมัติ และ การออกแบบถุงเก็บฝุ่น Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

ถ้าเทียบตามขนาดของถุงเก็บฝุ่น Dreame Bot L10s Ultra ที่มีความจุ 3 ลิตร ในขณะที่ Roborock S7 MaxV Ultra มีขนาดที่ 2.5 ลิตร ถ้าดูแค่ความจุเราคงให้ Dreame Bot L10s Ultra ชนะไปเลย แต่มันก็มีจุดสังเกตที่ต้องมองในมุมอื่นเช่นกัน

เช่นวัสดุของ Roborock S7 MaxV Ultra ฝาปิดถุงเป็นพลาสติกแข็ง ส่วน Dreame Bot L10s Ultra เป็นกระดาษแข็ง ความแข็งแรงทนทานเราให้ Roborock S7 MaxV Ultra ส่วนเรื่องความรักษ์โลกเนี่ยเราให้ Dreame Bot L10s Ultra  ซึ่งตัวนี้เมื่อบรรจุฝุ่นจนเต็มแล้ว อาจจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 60 วัน (3 ลิตร) ก็คือสามารถดึงถุงและทิ้งได้เลย โดยที่มือไม่ต้องสัมผัสหรือเปื้อนฝุ่นเลย สำหรับใครที่แพ้ฝุ่นมาก ๆ ก็คือไม่ต้องกลัวการแพ้ คัน จากฝุ่นที่ฟุ้งเลย และอีกทั้งกระดาษก็ย่อยสลายได้ง่าย ๆ

ดีไซน์ถุงเก็บฝุ่น Dreame Bot L10s Ultra (ซ้าย) / Roborock S7 MaxV Ultra (ขวา)
ดีไซน์ถุงเก็บฝุ่น Dreame Bot L10s Ultra (ซ้าย) / Roborock S7 MaxV Ultra (ขวา)

สำหรับระบบเก็บฝุ่นในแท่นชาร์จอัตโนมัติก็อีกเรื่อง โดยปกติพอหุ่นกลับมาพักชาร์จแบตเตอรี่ ระบบก็จะทำงานทันที ซึ่งถ้าใครชอบภาพลักษณ์ที่ดูสะอาดอยู่เสมอ คุณอาจเห็นภาพขัดตาจาก หุ่นยนต์ Dreame Bot L10s Ultra ได้ เพราะช่องต่อของหุ่นยนต์ที่ใช้ดูดฝุ่นไปเก็บในแท่นชาร์จ เป็นลักษณะของบานพับ เวลาประกบกับช่องดูดฝุ่นของแท่นชาร์จ ถึงแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นเล็ดลอดออกมา แต่หลังจากหุ่นยนต์กลับมาวิ่งทำความสะอาดเราจะเห็นคราบความสกปรกที่บานพับอย่างชัดเจน อีกทั้งตัวเครื่องยังเป็นสีขาวอีกด้วย บางคนเห็นอาจจะรู้สึกขัดตา แต่ก็สามารถเอาผ้าหรือทิชชู่เช็ดออกได้ง่ายไม่เป็นไร

คราบหลังจากการจัดการดูดฝุ่นอัตโนมัติในแท่นชาร์จ
คราบหลังจากการจัดการดูดฝุ่นอัตโนมัติในแท่นชาร์จ

ส่วนของ Roborock S7 MaxV Ultra ช่องต่อดูดฝุ่นจะอยู่ใต้ฐาน หากมีการดูดฝุ่นออกไป เราจะไม่เห็นความสกปรกให้ขัดตา อีกทั้งตัวเครื่องและดีไซน์ยังเป็นสีดำ ก็จะดูกลมกลืนกับคราบเหล่านั้น ไม่ทำให้ดูสกปรกง่ายเกินไป เอาเป็นว่าในส่วนนี้ถือว่า Roborock ออกแบบมาได้ถูกใจ Thaiware มากกว่า

ระบบเก็บฝุ่นอัตโนมัติ และ การออกแบบถุงเก็บฝุ่น
รายละเอียด  Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
ความจุถุง X
ความทนทานถุง X
ความสะอาดระบบจัดการฝุ่น X

การใช้งานแอปพลิเคชัน และ ข้อเปรียบเทียบระหว่าง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 Maxv Ultra

แอปพลิเคชัน คือส่วนสำคัญในการใช้ควบคุมหุ่นยนต์ ซึ่งชื่อแอปพลิเคชันของ Roborock S7 MaxV Ultra มีชื่อว่า "Roborock" ส่วน Dreame Bot L10s Ultra ใช้งานได้ผ่าน 2 แอป คือ "Mi Home" และ "Dreamehome" (เลือกใช้อย่างใดก็ได้เหมือนกัน) คุณสามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งได้จากระบบของ iOS และ Android

  หน้า Home 'แอป Dreamehome'
หน้า Home 'แอป Dreamehome'

  หน้า Home 'แอป Roborock'
หน้า Home 'แอป Roborock'

สำหรับฟีเจอร์ของทั้งคู่ มีความหลากหลายและคล้ายกันในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบสำคัญอย่าง การปรับเลือกโหมด การปรับระดับความแรง, การแบ่งห้อง, กั้นโซน หรือ กำหนดจุดทำความสะอาดเฉพาะโซนได้อย่างอิสระ ถ้าพื้นที่ใช้งานใครมีห้องหลายห้อง คุณสามารถตั้งค่าให้มัน แบ่งการทำงานเป็นดูดฝุ่นในห้อง A ถูพื้นในห้อง B แบบนี้ได้เลย

  Dreamehome
Dreamehome

 Roborock
Roborock

นอกจากนี้ยังมีพวก การสั่งการด้วยเสียง (รองรับภาษาไทย), การกำหนดตารางทำงานของหุ่นยนต์, ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทล, โหมดตรวจสอบสุขภาพของอุปกรณ์, การเช็คสถานะน้ำ ถุงเก็บฝุ่น หรืออะไรอีกมากมายที่มีเหมือนกัน

โดยเฉพาะระบบที่เจ๋งสุด ๆ ก็คือแผนที่ 3 มิติที่หุ่นยนต์จะสร้างขึ้นเองเมื่อผ่านการใช้งานในครั้งแรก และจะมีความละเอียดมากขึ้นในการใช้งานครั้งต่อ ๆ ไป แถมคุณยังสามารถเติมพวกเฟอร์นิเจอร์ลงไปเองได้ด้วยถ้ามีขาดตกไปจากการสำรวจ

 

 

Dreamehome

Dreamehome

 Roborock
Roborock

ประโยชน์ของแผนที่ 3 มิติ สามารถใช้อธิบายความลึก หรือ ความสูงของเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้หุ่นยนต์รู้ว่าตรงไหนเข้าไปไม่ได้และจะได้ไม่เสียเวลาเข้าไป ยิ่งถ้าคุณใช้หุ่นยนต์ในชั้น 2 มันจะรับรู้ได้ทันทีว่ามีบันได และจะไม่วิ่งไปใกล้มากจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ แน่นอนว่าเซ็นเซอร์กันตกของทั้งคู่ก็มีเหมือนกัน แต่ว่าแบบนี้อาจจะเซฟกว่า

อีกส่วนก็คือกล้อง AI ตรวจจับวัตถุของทั้งสองรุ่น ยังสามารถใช้เป็นกล้องสอดแนมผ่านมือถือได้ด้วยนะ แถมยังมีความคมชัดอย่างน่าแปลกใจ คุณอาจเอาไว้ใช้ดูความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในบ้านผ่านหุ่นยนต์ได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถเปิดไมค์พูดคุยผ่านตัวหุ่นยนต์ได้เพื่อใช้ทักทายคนหรือสัตว์ให้ตกใจเล่น ๆ หรือถ้าจะถ่ายรูปจากกล้องของ Dreame Bot L10s Ultra ก็มีปุ่มให้กดถ่ายได้ด้วยนะ

เปรียบเทียบความคมชัด

กล้อง Dreame Bot L10s Ultra
กล้อง Dreame Bot L10s Ultra

กล้อง Roborock S7 MaxV Ultra
กล้อง Roborock S7 MaxV Ultra


ส่วนข้อเปรียบเทียบระหว่าง Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra เราขอแบ่งคะแนนให้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ความเรียบง่ายในการใช้งาน และ รายละเอียดคุณภาพของแอปพลิเคชัน

ความเรียบง่ายในการใช้งาน

ความเห็นจาก Thaiware เราว่า Dreame Bot L10s Ultra มีการใช้งานที่เรียบง่าย และ ดูเข้าใจง่ายกว่า เช่นคำอธิบายของเมนู มีรายละเอียดที่ชัดเจนบอกทุกอย่าง เมนูไหนปรับโหมดทำความสะอาด, ตรงไหนใช้ปรับโหมดซักผ้าม็อบหรือทำความสะอาดตัวเอง, เมนูไหนให้เราเข้าไปดูแผนที่ 3D และเมนูไหนที่เราจะเลือกพื้นที่ในการทำงาน หรือกั้นโซน

ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra ถึงแม้หน้าตาของไอคอนจะพอสื่อสาร และ บอกอะไรได้บ้าง แต่มันก็ค่อนข้างจดจำยากเหมือนกันนะ โดยเฉพาะเวลาเราจะเข้าใช้เมนูที่ต้องการ ก็จะแอบสับสนเล็กน้อย การใช้งานจึงจำเป็นต้องใช้เวลาทำความคุ้นชินสักเล็กน้อย

  ความเรียบง่ายในการใช้งาน Dreame Bot L10s Ultra Dreame Bot L10s Ultra

  ความเรียบง่ายในการใช้งาน Roborock S7 MaxV Ultra
Roborock S7 MaxV Ultra

รายละเอียดของระบบแผนที่

อันที่จริงแอบคิดยากเหมือนกันนะ ว่าจะให้คะแนนใคร เพราะทั้ง 2 รุ่น มีระบบที่เหมือนกันแทบทุกอย่าง แต่ส่วนนี้เราเลือกจะให้ Roborock S7 MaxV Ultra เพราะชอบในระบบแผนที่ ที่มีรายละเอียดเยอะดี เช่น เรื่องของ ลายพื้น และ เฟอร์นิเจอร์ ถ้าสังเกตบนแผนที่คุณจะเห็นลายพื้นที่ต่างกันของห้อง "Living Room" และห้องอื่น ๆ ซึ่งพื้นจริง ๆ ก็ตรงกับแผนที่ในแอปพลิเคชัน

รายละเอียดของระบบแผนที่

ที่เจ๋งคือเกือบทุกอย่างที่ปรากฏในภาพ ผมไม่ได้เป็นคนเพิ่ม แต่ระบบของเขาสร้างมาให้อัตโนมัติหลังจากที่มันได้สำรวจด้วยตัวเอง แอบทึ่งในความสามารถนี้อยู่เหมือนกัน

จริง ๆ Dreame Bot L10s Ultra ก็สามารถใส่เฟอร์นิเจอร์ได้เหมือนกันนะ แต่แค่เฉพาะในโหมด 3D เท่านั้น โหมด 2D จะไม่สามารถเพิ่มลงไปได้ นอกจากนี้ประเภทของเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มได้ ก็มีน้อยกว่าของ Roborock S7 MaxV Ultra ถือเป็นข้อแตกต่างเล็กน้อยที่เราสังเกตได้

แอปพลิเคชัน
รายละเอียด  Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
ความเรียบง่ายในการใช้งาน X
คุณภาพ และ รายละเอียด X

สรุปคะแนน Dreame Bot L10s Ultra VS Roborock S7 MaxV Ultra ตัวไหนน่าซื้อกว่ากัน ?

ตารางคะแนน
รายละเอียด  Dreame Bot L10s Ultra  Roborock S7 MaxV Ultra
การออกแบบหุ่นยนต์ X
การออกแบบแท่นชาร์จ X
คุณภาพการถูพื้น X
คุณภาพการดูดฝุ่น X
การข้ามธรณีประตู X
การหลบสิ่งกีดขวาง X
ทำงานบนพรม X
ความสามารถในการซักผ้า X
ความจุถุงเก็บฝุ่น X
ความทนทานถุงเก็บฝุ่น X
ความสะอาดระบบจัดการฝุ่น X
ความเรียบง่ายในการใช้งานแอปพลิเคชัน X
คุณภาพและรายละเอียดแอปพลิเคชัน X
ผลรวมคะแนน 8 5

 

ไม่ว่าจะ Dreame Bot L10s Ultra และ Roborock S7 MaxV Ultra ถือว่าเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติมากมาย พลังในการจัดการสิ่งสกปรกก็โดดเด่นใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่า Dreame Bot L10s Ultra มีความใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยมากกว่า และ ฟังก์ชั่นเยอะกว่า ที่สำคัญราคาก็ยังถูกกว่าด้วย 

Dreame Bot L10s Ultra ราคา 39,990 บาท ส่วน Roborock S7 MaxV Ultra ราคา 42,900 บาท ความเห็นจาก Thaiware คิดว่าถ้าคุณอยากจะได้หุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบครบ ๆ จบทั้งการทำความสะอาดบ้านและทำความสะอาดตัวเองแบบนี้ Dreame Bot L10s Ultra น่าจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่า คุ้มราคา อย่างไรก็ตามคุณอาจลองเทียบคุณสมบัติด้วยตัวเองและตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองดูก็ได้


ที่มา : www.dreametech.com , www.roborockthailand.com

 
0 %E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7+Dreame+Bot+L10s+Ultra+VS+Roborock+S7+MaxV+Ultra+%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99+%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%88+All-in-1+%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น



 

รีวิวแนะนำ