ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ผู้เขียนเป็นคนธรรมดาทั่วไปที่อาจจะมีความขี้เกียจในการทำความสะอาดบ้านมากกว่าคนอื่นอยู่นิดหน่อยแหละมั้ง ก่อนหน้านี้ ทำงานกลับบ้านมาเหนื่อย ๆ ก็อยากจะพักผ่อนเนอะ การทำความสะอาดก็เลยใช้บริการแม่บ้านให้เข้ามาทำความสะอาดโดยตลอด แต่ก็นะ พอมาพินิจพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว งานทำความสะอาดบ้านที่ควรต้องทำเป็นประจำก็มีแค่กวาดบ้าน และถูพื้นเป็นหลัก
ปัจจุบัน มีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่สามารถทำงานนี้ได้สบาย ๆ อยู่มากมายหลายรุ่น ผู้เขียนเองก็เปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้สักพักแล้ว เพราะในระยะยาวมันประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า แถมไม่ต้องให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัยที่ควรเป็นพื้นที่ส่วนตัวด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีปัญหาจากความขี้เกียจอีกเล็กน้อย คือ การที่ต้องนำเอาเศษขยะในถังเก็บฝุ่นออกมาเททิ้ง งานนี้บอกเลยว่าไม่ง่ายนะ เราต้องถือถังอย่างระมัดระวัง และบรรจงเทเศษขยะเหล่านั้นลงในถุงขยะอย่างเบามือ เพื่อไม่ให้ขี้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาในขณะที่เทมันออกมา แต่แล้วเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นก็ได้พัฒนาไปอีกขั้น มันสามารถเทขยะ มัดใส่ถุงให้เราอัตโนมัติได้แล้ว แถมยังมีระบบฆ่าเชื้อ และกำจัดกลิ่นในตัวอีกด้วย !
ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็คือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI Eve Plus หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นใหม่ล่าสุดจาก Xiaomi ที่ถูกบรรจุอยู่ในห่วงโซ่ในระบบนิเวศของเสี่ยวหมี่ (Xiaomi Ecological Chain) หรือ MI Ecosystem ด้วย ส่วนที่ว่ามันจะแจ่ม มีความสามารถน่าสนใจขนาดไหน มาอ่านรีวิวกันครับ
ก่อนจะสัมผัสประสบการณ์ในการใช้งานจริง เรามาอ่านสเปกคุณสมบัติของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus กันก่อนสักหน่อย
ประเภทของอุปกรณ์ | หุ่นยนต์ทำความสะอาด |
ยี่ห้อ | Roidmi |
รุ่น | Eve Plus |
โหมดทำความสะอาด | ดูดฝุ่น, ถูพื้น และกวาด |
ระบบนำทาง | LDS-SLAM |
แรงดูด | 2,700 Pascals (Pa) |
ขนาดพื้นที่ที่แนะนำ | สูงสุด 250 ตารางเมตร |
การข้ามอุปสรรค | ≤ 20 มิลลิเมตร |
แบตเตอรี่ | Lithium-Ion ความจุ 5200 mAh ใช้งานได้ต่อเนื่อง 250 นาที ทำความสะอาดได้สูงสุด 250 ตารางเมตร ต่อการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งรอบ |
กำลังไฟฟ้า | 850 W (ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น), 50 W (ถังเก็บขยะ+แท่นชาร์จ) |
ความจุถังเก็บขยะ | 300 มิลลิลิตร (ในตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น) + 3 ลิตร (ถังเก็บขยะ+แท่นชาร์จ) |
ขนาดตัวเครื่อง | 350 × 350 × 98 มิลลิเมตร (ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น) |
น้ำหนัก | 3.6 กิโลกรัม (ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น) + 2.7 กิโลกรัม (ถังเก็บขยะ+แท่นชาร์จ) |
เวลาคุณซื้อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus มา คุณจะได้อุปกรณ์มาถึงสองกล่องใหญ่เลยนะครับ สมกับที่มีคำว่า Plus (แปลว่ามากกว่า) อยู่ในชื่อรุ่นจริง ๆ มาดูกันดีกว่าว่า เราได้อะไรบ้าง
ในหัวข้อนี้จะขอแยกออกเป็น 2 ส่วนนะครับ คือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus และถังเก็บขยะ + แท่นชาร์จ
ขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของ Xiaomi แล้ว ใครที่เป็นสาวกคงรู้ดีอยู่แล้วว่า ค่ายนี้เขารักเฉดสีขาวมากขนาดไหน จึงไม่น่าแปลกใจที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus จะใช้สีขาวเป็นโทนหลักของเครื่อง
ด้านบนของตัวเครื่องจะมีอยู่แค่ 3 ปุ่ม เท่านั้น "ปุ่ม Power" ตรงกลางเอาไว้เปิด/ปิด และหยุดชั่วคราว แล้วก็มีปุ่มด้านข้างอีกสองปุ่ม "ปุ่ม Spot" ซ้ายมือเอาไว้ทำความสะอาดเฉพาะจุด ส่วน "ปุ่ม Dock" ขวามือเอาไว้สั่งให้กลับแท่นชาร์จ แต่เอาจริง ๆ ผู้เขียนที่ได้ลองใช้มาอาทิตย์กว่า ๆ แทบจะไม่ได้กดปุ่มเหล่านี้เลย เพราะเน้นการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมากกว่า
ตัว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus จะมีเซนเซอร์ตรวจจับอยู่รอบด้าน ทุกทิศทางเลยล่ะ โดยจะใช้ทั้งเซนเซอร์อินฟราเรด, เซนเซอร์ Time of Flight (ToF) และเซนเซอร์ LiDAR ทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกัน ทำให้การเดินของตัวหุ่นยนต์เป็นไปอย่างชาญฉลาด สร้างแผนที่ขึ้นมาได้อย่างแม่นยำ
ใครที่เคยผิดหวังกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในสมัยก่อนที่ใช้ระบบชนแล้วเลี้ยวเพื่อจำตำแหน่งแล้วสร้างแผนที่ สุดท้ายก็เดินไม่ค่อยฉลาดบางทีก็วนอยู่กับที่ ลืมภาพนั้นไปได้เลยครับ ต้องบอกเลยว่า เซนเซอร์รุ่นใหม่ที่ใช้ในหุ่นยนต์ดูดฝุ่นยุคนี้แม่นยำมาก เดินฉลาดตั้งแต่ครั้งแรกที่ยังไม่ได้เริ่มสร้างแผนที่ขึ้นมาในระบบด้วยซ้ำไป
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นนี้ออกแบบให้ถังเก็บขยะอยู่ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง ต่างจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นอื่น ๆ ที่นิยมเอาไว้ที่ตำแหน่งบริเวณตรงกลางของตัวหุ่นยนต์ สาเหตุก็เพราะหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีคุณสมบัติกลับฐานเพื่อชาร์จแบตเตอรี่อัตโนมัติจะใช้วิธีถอยหลังเข้าซอง ถ้าเอาถังเก็บขยะไว้ด้านหลัง แปลว่าเวลาที่มันชาร์จแบตเตอรี่ เราจะไม่สามารถถอดถังเก็บขยะออกมาเทได้
แต่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus มีระบบดูดขยะออกจากถังอัตโนมัติอยู่แล้ว ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องถอดถังออกมาเทขยะเอง ดังนั้นการไว้ที่ด้านหลังจึงสามารถทำได้ และทำให้ระยะห่างระหว่างถังเก็บขยะกับท่อดูดมีระยะทางสั้นลงอีกด้วย ซึ่งยิ่งสั้นการดูดขยะออกจากถังก็ยิ่งมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
ถังเก็บขยะเป็นแบบไฮบริด มีจุกสำหรับเปิดใส่น้ำเพื่อถูพื้นได้ในตัว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ถังสำหรับบรรจุน้ำโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในกล่องไม่มีตัวช่วยอย่างกรวย หรือกระบอกฉีดน้ำมาให้ด้วย ดังนั้น ถ้าอยากให้การเติมน้ำเป็นเรื่องง่าย เราอาจจะต้องหาซื้อตัวช่วยเหล่านั้นมาใช้งานเองนะ ซึ่งจริง ๆ ก็หาไม่ยาก ตามร้านทุกอย่าง 20 บาท ก็มีวางจำหน่ายนะ
ถังเก็บขยะเจ๋งดี สามารถถอดเปลี่ยนฟิลเตอร์ดักฝุ่นได้ด้วย เมื่อเราใช้ไปนาน ๆ ผ่านการทำความสะอาดครั้งแล้วครั้งเล่า จนใยกรองเริ่มเสื่อมสภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อถังเก็บขยะตัวใหม่มาเปลี่ยน ซื้อแค่อะไหล่ฟิลเตอร์ตัวใหม่มาเปลี่ยนก็พอ (ในกล่องจะมีฟิลเตอร์ติดมาในตัวหุ่นยนต์ให้แล้ว 1 อัน และมีสำรองให้อีก 1 อัน)
พลิกกลับมาดูใต้ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นกันบ้าง ด้านล่างไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นอื่น ๆ ที่เราเคยใช้งานมาก่อน มันอาจเป็นดีไซน์ที่ผ่านการทดสอบมาจากผู้ผลิตทุกคนแล้วพบว่า นี่เป็นดีไซน์ที่ดีที่สุดในขณะนี้แล้วล่ะมั้ง คือ มีล้อใหญ่ที่มีโช๊ค 2 ล้อ, ล้อนำทางด้านหน้า 1 ล้อ, ข้างล้อนำทางจะมีเซนเซอร์เช็คขอบสำหรับกันตก, มีแปรงปัดด้านข้าง 2 ฝั่ง, แปรงปัดขนาดใหญ่ (สีแดง) สำหรับปัดฝุ่นเข้าถังเก็บขยะ และมีที่สำหรับติดผ้าม็อบถูพื้น อยู่ต่อท้ายแปรงปัด
ความรู้สึกแรกตอนที่แกะกล่องเอาเจ้าแท่นชาร์จนี้ออกมา คือ หนัก น้ำหนักของมันอยู่ที่ 2.7 กิโลกรัม มันก็ไม่ได้หนักมากหรอก แค่รู้สึกหนักกว่าที่คิด อันที่จริงแท่นชาร์จหนักก็เป็นเรื่องดี เพราะมันช่วยให้มีความมั่นคงเวลาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นถอยเข้าซองเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ ตัวแท่นก็ไม่โดนดันถอยหลัง ทำให้เราไม่จำเป็นต้องวางแท่นชาร์จไว้ชิดติดผนังเหมือนพวกรุ่นที่ใช้แท่นชาร์จน้ำหนักเบาอีกต่อไป
มีจอแสดงผลแบบวงกลม นอกจากจะเพิ่มความทันสมัย ยังช่วยบอกข้อมูลสถานะการทำงานอีกด้วย อย่างเวลาชาร์จแบตเตอรี่ก็จะบอกเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ที่มีอยู่ หรือเมื่อสั่งให้ดูดขยะออกจากถังเก็บภายในตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็จะบอกสถานะการดูดขยะว่าเสร็จไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว (เอาจริง ๆ ก็ใช้เวลาในการดูดออกแค่ไม่กี่วินาทีนะ)
ฝาด้านบนเปิดได้ เพื่อเปลี่ยนถุงเก็บขยะ โดยต้องใช้ถุงพิเศษที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ไม่สามารถเอาถุงดำ ถุงก๊อบแก๊บมาใช้งานได้นะ อย่างไรก็ตาม ตัวถุงทำจากกระดาษ สามารถเก็บขยะได้ถึง 3 ลิตร สำหรับพวกฝุ่น และเส้นผมตามพื้นแล้ว ปริมาตร 3 ลิตร นี่ใช้เวลานานอยู่นะครับ กว่าจะเต็มถุงได้ เผลอ ๆ เกือบปีด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องกลัวสิ้นเปลืองเลย อีกอย่าง ถุงพวกนี้ไม่ได้มีราคาแพงด้วย
แล้วก็มีแปรงทำความสะอาด สำหรับใช้ปัดหัวแปรงของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเก็บไว้ในนี้ให้ด้วยนะ เป็นจุดเล็ก ๆ ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ในการออกแบบได้ดีเลยทีเดียว
ตัวถุงมีดีไซน์ที่ง่ายแต่ฉลาดมาก คือ ตรงที่เสียบจะเป็นกระดาษแข็งที่มีรูวงกลมตรง โดยขยะจะถูกดูดเข้าไปในถุงผ่านช่องนี้ แต่เค้ามีแผ่นพลาสติกบาง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นมือจับสำหรับดึงสอดไว้ระหว่างแผ่นกระดาษแข็งด้วย
เมื่อเราดึงถุงขึ้นมาเพื่อนำไปทิ้ง แผ่นพลาสติกก็จะเลื่อนขึ้นก่อนเพื่อปิดรูโดยอัตโนมัติ ทำให้ตัดปัญหาเรื่องฝุ่นที่อาจจะกระจายออกมาเวลาเปลี่ยนถุง รวมถึงทำให้ไม่ต้องหาหนังยาง หรือเชือกมามัดปากถุงอีกต่อไป
เจ้าช่องเก็บถุงขยะภายในแท่นชาร์จไม่ได้มีดี แค่เอาไว้ดูดขยะออกจากถังโดยอัตโนมัติเท่านั้นนะ อย่างที่เราบอกไปเมื่อสักครู่ว่า เจ้าถุง 3 ลิตร เนี่ย มันใช้ได้นานนะ กว่าขยะจะเต็มถุง นั่นอาจทำให้ผู้ใช้เกิดความกังวลได้ว่า ขยะที่เก็บไว้นาน ๆ มันจะอับ ส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคหรือเปล่า
ในช่องเก็บขยะในแท่นชาร์จของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus จึงมีการใส่ Deodorizing-Particle Generator ระบบฟอกอากาศ และฆ่าเชื้อโรคเข้ามาด้วย ทาง Xiaomi ได้เคลมมาว่าระบบนี้สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่าง ๆ ได้มากถึง 99.99% ด้วยตัวกรอง HEPA และเทคโนโลยี Active Oxygen ที่ช่วยขจัดกลิ่นจากสารเคมีได้เป็นอย่างดี
ด้านหลังของแท่นชาร์จจะมีช่องระบายความร้อนที่เกิดขึ้นขณะที่ดูดขยะ ตรงบริเวณฐานด้านล่างทำเป็นช่องใส เผื่อใครขี้สงสัยอยากเห็นว่าขยะที่กำลังถูกดูดจะมีสภาพเป็นอย่างไร แล้วก็มีช่องสำหรับเสียบปลั๊กอยู่ที่ด้านขวามือครับ ปลั๊กที่ให้มาสายมีความยาวประมาณ 1.2 เมตร
แท่นชาร์จพร้อมหุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะใช้พื้นที่ในการจัดวางประมาณหน้ากว้าง 35 เซนติเมตร และลึกประมาณ 45 เซนติเมตร ก็ถือว่าประหยัดพื้นที่พอสมควร
อันที่จริง การใช้งานหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มันไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน ยิ่งเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใส่ระบบอัตโนมัติมาให้แทบทุกการทำงานอย่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus ด้วยแล้ว สำหรับคนที่ไม่ต้องการตั้งค่าอะไรวุ่นวาย ไม่มีระบบอินเทอร์เน็ตในสถานที่ที่นำไปใช้งาน แค่เสียบปลั๊ก กดปุ่ม มันก็จะเดินทำความสะอาด พอเสร็จก็จะกลับแท่นชาร์จ ดูดขยะออกจากตัวหุ่นยนต์ไปใส่ถุง แล้วก็ชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มเหมือนเดิม เพื่อรอเตรียมความพร้อมกับการทำความสะอาดครั้งต่อไปเมื่อผู้ใช้สั่งมันอีกครั้งเท่านั้นเอง
แต่ถ้าเราใช้แอปพลิเคชันด้วย จากที่ฉลาดอยู่แล้ว เราจะสามารถทำให้มันฉลาดขึ้นไปอีกระดับครับ ดังนั้น เราแนะนำว่าถ้าซื้อเจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Xiaomi ROIDMI EVE Plus มาใช้ ก็ควรใช้คู่กับแอปพลิเคชันของมันด้วยนะ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แอป Roidmi หรือแอป Mi Home ก็ได้ ในรีวิวนี้ผู้เขียนเลือกใช้แอป Mi Home นะ เพราะว่ามีใช้งานอุปกรณ์ตัวอื่นของ Xiaomi อยู่แล้ว จึงไม่อยากดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
โดยในแอป Mi Home เราสามารถกดเพิ่ม หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus เข้าไปในระบบได้เหมือนกับการเพิ่มอุปกรณ์ตามปกติได้เลย
หน้าเมนูหลักเรียบง่าย แสดงสิ่งที่จำเป็นต้องใช้งานบ่อยอย่างชัดเจน ฝั่งซ้ายจะเป็นเมนูเกี่ยวกับการควบคุม ส่วนฝั่งขวาจะเกี่ยวกับการทำความสะอาด
โหมดการทำงาน ก็จะมีปรับแรงดูดได้ถึง 4 ระดับ และการถูพื้นก็จะปรับอัตราการปล่อยน้ำได้ 3 ระดับ นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดให้การทำความสะอาด 2 รอบ ติดต่อกันได้อีกด้วย ในกรณีที่เรารู้สึกว่าครั้งเดียวมันยังไม่สะอาดพอ
ในส่วนของการถูพื้น หุ่นยนต์รุ่นนี้รองรับการถูแบบเดินหน้า/ถอยหลัง ในลักษณะตัว Y ด้วย เป็นการย้ำพื้นที่เวลาถู ช่วยให้คุณมั่นใจในความสะอาดได้มากขึ้น
เมื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำความสะอาดเสร็จสิ้นแล้ว มันจะวิ่งกลับเข้าฐาน แล้วดูดขยะออกจากถังให้ทันทีครับ สังเกตตรงหน้าจอที่แท่นชาร์จ จะมีนับถอยหลังให้ดูบนหน้าจอด้วย พร้อมแอนิเมชันที่ สวยงามดีครับ
ในการใช้งานครั้งแรก เมื่อ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus เริ่มวิ่งเพื่อทำความสะอาด มันจะวิ่งไปพร้อมกับสแกนบริเวณโดยรอบเพื่อสร้างแผนที่ไปด้วย และมันก็ฉลาดถึงขั้นรู้ด้วยว่ามีห้องอยู่ 2 ห้องติดกัน ที่มันเพิ่งทำความสะอาดไป แยกเป็น Room 1 และ Room 2 ให้โดยอัตโนมัติ (สามารถตั้งชื่อห้องได้)
ในกรณีที่บ้านเรามีหลายชั้น หรือต้องการยกไปใช้ที่อื่นด้วย ก็สามารถสร้างแผนที่ใหม่เพิ่มได้ โดยบันทึกได้สูงสุดถึง 4 แผนที่ อย่างไรก็ตาม เวลายกไปใช้งานที่อื่น เราต้องมาเลือกแผนที่เองนะ มันยังไม่ฉลาดขนาดที่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ชั้นไหน ที่บ้าน หรือคอนโด
สิ่งที่เราชอบ คือ เมื่อเข้ามาในแผนที่แล้ว เราสามารถตั้งค่าโหมดที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะทำงานในแต่ละจุดไว้ล่วงหน้าได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ห้องนอนผมรู้สึกว่าไม่ค่อยได้ใช้งาน ห้องจึงไม่สกปรกมาก เลยตั้งค่าให้ดูดฝุ่นที่ความแรงระดับ 2 และไม่จำเป็นต้องถูพื้น ส่วนห้องนั่งเล่นที่ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องนั้นเกือบทั้งวัน ก็ปรับให้ดูดที่ความแรงระดับ 3 และให้ถูพื้นด้วย เป็นต้น
ในส่วนของการบริหารพื้นที่ทำงานของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus ก็ทำระบบมาได้ค่อนข้างดีมาก โดยสามารถเพิ่ม Virtual wall (กำแพงเสมือน) เพื่อปิดกั้นเส้นทาง, Forbidden zone (พื้นที่ต้องห้าม) เพื่อกำหนดอาณาเขตที่เราไม่ต้องการให้หุ่นยนต์เข้าไปทำความสะอาด และ Mop of Forbidden Zone (พื้นที่ห้ามถู) อันนี้ คือ หุ่นยนต์จะเดินเข้าไปดูดฝุ่นได้ แต่จะไม่ถู มีประโยชน์มากในกรณีที่พื้นบ้านของคุณมีบางจุดที่วัสดุอาจจะไม่ถูกกับน้ำ หรือความชื้น
ทั้งนี้ เวลาเลือกปิดกั้นพื้นที่ ระวังอย่าปิดจนหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไม่สามารถเดินกลับแท่นชาร์จได้ล่ะ
ข้อดีอีกอย่าง เมื่อเราเพิ่มแผนที่ในระบบแล้ว เราจะสามารถสั่งให้มันทำความสะอาดเฉพาะจุดที่กำหนดได้ด้วย เช่น บังเอิญ ทำพริกไทยหก, ขนมถุงแตก, บริเวณที่ทานข้าวมีเศษอาหารร่วงลงพื้น ก็สามารถสั่งให้มันมาทำความสะอาดเฉพาะจุดนั้นได้ทันที ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดทั้งห้องให้เสียเวลา
โดยทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การใช้คำสั่ง Area (พื้นที่) โดยเมื่อเราแตะเลือกอาณาเขตพื้นที่ที่ต้องการเสร็จแล้ว พอสั่งทำงาน มันก็จะวิ่งไปทำความสะอาดในพื้นที่ที่เราสร้างไว้ทันที โดยสามารถสร้าง "พื้นที่" ได้หลายจุดพร้อมกัน ส่วนวิธีที่สอง คือ การใช้คำสั่ง Point (ชี้เป้า) จริง ๆ ก็ทำงานคล้ายกับ Area นั่นแหละ เพียงแต่จิ้มเพื่อเลือกพื้นที่เลย และเลือกได้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
หลังจากที่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus ได้ทำความสะอาดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันจะกลับแท่นชาร์จอัตโนมัติ และเริ่มถ่ายเทขยะที่อยู่ในถังเก็บขยะ ไปยังถุงเก็บขยะที่อยู่ในแท่นชาร์จให้ทันที โดยที่เราไม่ต้องสั่งการอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว สะดวกสบายมาก ๆ
เรามาดูในส่วนของคุณสมบัติการตั้งค่าที่น่าสนใจ ที่มีให้เลือกปรับใช้ใน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus กันสักหน่อย มีหลายอย่างที่เราว่าเจ๋งดีนะ
ในเมนูตั้งค่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot Setup) มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เราว่าน่าสนใจอยู่นะ ขอยกมาเล่าแค่บางส่วนที่เราคิดว่าแจ่มละกัน
เริ่มที่ "เมนู The indicator Light is always on" เป็นการปิดไฟแสดงสถานะการทำงานบนตัวหุ่นยนต์ เชื่อไหมครับว่าคุณสมบัติที่ดูเรียบง่ายนี้ ผู้เขียนอยากได้มานานแล้ว เพราะว่าเลือกวางหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไว้ในห้องนอน เวลาปิดไฟมืดทั้งห้องแล้ว เจ้าแสงไฟเล็ก ๆ จากตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนี้ มันจะดูสว่าง รบกวนสายตาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
"เมนู Carpet pressurization mode" โหมดนี้เหมาะมากสำหรับผู้ที่ปูพรมในพื้นห้อง โดยเมื่อหุ่นยนต์วิ่งทำความบนพรม มันจะรับรู้ และเพิ่มแรงดูดให้สูงขึ้นอัตโนมัติ เพื่อดูดฝุ่นออกจากเส้นใยของพรมให้ได้มากที่สุด และเมื่อวิ่งออกจากพื้นที่พรม ก็จะปรับแรงดูดให้กลับเป็นปกติอัตโนมัติ
สุดท้าย คือ โหมดห้ามรบกวน (Do not disturb mode) ที่ปัจจุบันมีอยู่ในสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเข้าสู่โหมดนี้ เสียงการแจ้งเตือนจะหายไปเพื่อลดการรบกวน ซึ่งใน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus เขาก็ใส่มาให้ด้วย โดยเราสามารถตั้งเวลาได้ว่าจะให้เข้าสู่โหมดห้ามรบกวนอัตโนมัติ ในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้
เนื่องจากแท่นชาร์จของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ชาร์จแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเมนูตั้งค่าถังเก็บขยะ + แท่นชาร์จ (Setting of dust collection station) มาให้ด้วย
อย่างแรกเลย คือ เราสามารถปิดจอที่ตัวแท่นชาร์จได้ ไม่ได้กลัวมันกินไฟนะ แค่ไม่อยากถูกแสงรบกวนเวลานอน ถ้าปิดไฟที่ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นได้ แต่ปิดที่แท่นชาร์จด้วยไม่ได้ ก็คงตลกน่าดู
ถัดมาเป็นการตั้งค่าเรื่องการดูดขยะ โดยในการตั้งค่าจากโรงงาน ขยะจะถูกดูดทุกครั้งที่หุ่นยนต์ทำความสะอาดเสร็จแล้วกลับเข้าแท่น แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องดูดขยะทุกรอบ รอถังเก็บขยะในหุ่นยนต์เต็มค่อยดูดออกก็ได้ ถ้าต้องการแบบนั้นก็สามารถตั้งค่าได้เช่นกันครับ จะให้ดูดทุกครั้ง, ทุกสองครั้ง, ทุกสามครั้ง หรือไม่ดูดเลยก็ทำได้
คุณสมบัติในการตั้งค่าทำความสะอาดล่วงหน้า (Regular Cleaning) เป็นความสามารถพื้นฐานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอยู่แล้ว แต่อยากหยิบมาพูดสักนิด เพราะรุ่นนี้กำหนดค่าได้ละเอียดดี จะให้ดูดวันไหน, ถูวันไหน, จะดูดเฉพาะห้องที่ต้องการแค่วันใดวันหนึ่ง ห้องที่เหลือทั้งดูด ทั้งถู ฯลฯ สามารถกำหนดค่าได้อย่างละเอียดเลยล่ะ
ในตัวหุ่นยนต์มันก็จะมีหลายชิ้นส่วนที่เมื่อเราใช้ไปนาน ๆ มันก็จะเสื่อมสภาพ ซึ่งในแอปพลิเคชัน ก็จะมีบอกอัตราการเสื่อมสภาพเอาไว้ให้เราทราบด้วย ว่าถึงเวลาที่ต้องทำความสะอาดเซนเซอร์, ทำความสะอาดหัวแปรง หรือได้เวลาเปลี่ยนอะไหล่แล้วนะ
อันนี้เป็นอะไรที่เจ๋งมาก ๆ และคนที่ใช้ IoT อยู่ น่าจะชอบคุณสมบัตินี้อย่างแน่นอน ด้วยการตั้งเงื่อนไขในรูปแบบ "If" (ถ้า) ให้ "Then" (แล้ว) ช่วยให้เราสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย เช่น เวลาเราถูพื้น แล้วอยากเปิดพัดลมช่วยเป่าให้พื้นแห้งไวยิ่งขึ้น เราก็กำหนดว่า "ถ้า หุ่นยนต์ถูพื้น แล้ว ให้เปิดพัดลม" อะไรอย่างนี้ เป็นต้น
หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus นี่รองรับการเชื่อมต่อเข้ากับผู้ช่วยเสียงอัจฉริยะอย่างพวก Google Assistant และ Alexa ได้ด้วยนะครับ หากใครลิงก์ระบบเข้าหากันได้แล้ว สามารถใช้คำสั่งอย่างข้างล่างนี้ได้เลย
หุ่นยนต์ดูดฝุ่นก็จัดเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะชนิดหนึ่งที่มีเฟิร์มแวร์อยู่ในตัว เจ้า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus ตัวนี้ ผู้ใช้สามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้อย่างง่ายดายผ่านระบบ OTA (Over The Air) ช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี
ถ้ามองหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีความสามารถแบบครบครัน ทำงานอัตโนมัติได้เกือบทุกอย่างโดยที่เราไม่ต้องไปดูแลใส่ใจสั่งงานมันมาก หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ROIDMI EVE Plus ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวนะ ในส่วนของราคาก็ไม่ต้องพูดถึง ขึ้นชื่อว่ามาจาก Xiaomi ราคาไม่แพงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับสเปกที่ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าไม่มีจุดที่ไม่ประทับใจเลยนะ จากการทดสอบใช้งานของเรา พบปัญหาในการลงทะเบียนเพื่อใช้งานกับแอปพลิเคชัน Roidmi แต่โชคดีว่า สามารถใช้ Mi Home แทนได้อย่างไม่มีปัญหา อีกจุดที่รู้สึกว่าอยากให้ปรับปรุง คือ หัวแปรงปัดด้านข้าง ที่การถอดจำเป็นต้องใช้ไขควงช่วย คิดว่าสามารถดีไซน์ให้ดีขึ้นมากกว่านี้ได้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |