ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
ไทยแวร์รีวิว
 

เหตุผลที่ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ

เหตุผลที่ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 14,457
เขียนโดย :
0 %E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88+Wear+OS+%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Google เปิดตัว Android Wear ครั้งแรกเมื่อปี 2014 นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 5 ปีแล้ว มันเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์สวมใส่ และสมาร์ทวอทช์ ถูกพัฒนาขึ้นด้วยพื้นฐานจากระบบปฏิบัติการ Android ดูจากความสำเร็จของสมาร์ทโฟน Android และเวลาผ่านมา 5 ปีแล้ว หลายคนคงจะคิดว่า Android Wear น่าจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของ Google ที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกลับตรงกันข้าม

ในยุคเริ่มต้นของ Wear OS (ชื่อเดิม Android Wear) นั้น ทุกอย่างดูดีไปหมด มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง LG, Samsung, Motorola และ Huawei ให้ความสนใจ และเปิดตัวสมาร์ทวอทช์ออกมามากมาย อย่างไรก็ตาม ยุครุ่งเรืองของมันช่างสั้นนัก Samsung ได้ถอนตัว แล้วหันไปพัฒนาแพลตฟอร์ม Tizen ของตนเอง, นาฬิกาของ LG ที่หันมาเน้นดีไซน์แนวสปอร์ตก็มีฮาร์ดแวร์ที่น่าผิดหวัง และ Qualcomm ที่เป็นผู้ผลิต CPU ให้ก็แทบจะไม่พัฒนาชิปรุ่นใหม่ออกมาเลย

บทความเกี่ยวกับ Google อื่นๆ

ในส่วนของตัวระบบปฏิบัติการ Wear OS เอง แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อ และหน้าตามาให้ดูดีขึ้น แต่ปัญหาด้านการใช้งานที่โคตรช้า และบั๊กต่างๆ ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอยู่เหมือนเดิม จากการสำรวจส่วนแบ่งสมาร์ทวอทช์ในท้องตลาด Apple Watch ยังคงครองความเป็นผู้นำเอาไว้ โดยทิ้งห่างผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์รายอื่นๆ อยู่หลายเท่าตัว

เหตุผลที่ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ

เหตุผลอะไรที่ทำให้ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ จะมีทางไหนที่ทำให้มันดีขึ้นได้ เรามาลองเจาะลึกลงไปใน 5 ปีที่ผ่านมาของ Wear OS กันเถอะ

จุดเริ่มต้นของ Wear OS

Google ได้เปิดตัว Android Wear อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2018 พร้อมกับปล่อยตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชันสำหรับนักพัฒนา (Developer Preview) ออกมาในวันเดียวกัน หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ทาง Google ก็ได้เปิดตัวสมาร์ทวอทช์พร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android Wear ออกมา 2 รุ่น นั่นก็คือ Samsung Gear Live และ LG G Watch

ทั้งคู่เริ่มวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมปี 2014 ต่อมาในเดือนกันยายน Motorola Moto 360 เปิดตัวเป็นรุ่นที่สาม และสุดท้ายก่อนหมดปีก็มีอีกสองรุ่นจาก Sony และ Asus กล่าวได้ว่า Google ใช้เวลาเพียงครึ่งปี ก็มี Android Wear เข้าสู่ตลาดถึง 5 รุ่น ถือว่าเปิดตัวได้อย่างสวยงามไม่เลวเลยทีเดียว

ในช่วงแรกๆ สมาร์ทวอทช์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android Wear ได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดีเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม หลายสำนักที่รีวิวก็อดไม่ได้ที่จะบอกว่า พวกเขายังรู้สึกเหมือนกับว่า Android Wear ยังเป็น "ของที่ยังไม่เสร็จ" รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับบั๊ก, แบตเตอรี่อายุสั้น ฯลฯ แต่ ณ ตอนนั้น ทุกอย่างได้รับการให้อภัย เนื่องจากมันเป็นระบบปฏิบัติการที่เพิ่งเปิดตัว การมีปัญหาบ้างจึงเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้

หลังจากนั้น ในช่วงปี 2015-2018 มีผู้ผลิตหลายรายที่ให้ความสนใจใน Android Wear ร่วมเปิดตัวนาฬิกาออกมามากมายหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Huawie, ZTE, Casio, TAG Heuer, Fossil, Michael Kors ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ตัวนาฬิกา และ Android Wear จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นแล้ว แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่ยุคแรก ราวกับว่า Google ไม่เคยคิดจะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้หมดไป

Android Wear เริ่มต้นมาพร้อมกับปัญหา แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว แต่ปัญหาจริงๆ คือ 5 ปีผ่านมาแล้ว แต่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

ในเดือนมีนาคม 2018 ช่วงที่ใกล้ครบรอบ 4 ปีที่ Android Wear ได้เปิดตัว ทาง Google ได้ประกาศความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ มีการปรับภาพลักษณ์ของตัวระบบปฏิบัติการด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น Wear OS โดย Google ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ และออกแบบตัวระบบปฏิบัติการใหม่ทั้งหมด

เมื่อ Wear OS เปิดตัว มันมีการดีไซน์ใหม่ที่ทำให้ทำงานได้เร็ว และใช้งานได้ง่ายขึ้นจริงๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อลองใช้แล้ว คุณจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นสินค้าใหม่แต่อย่างใด มันเหมือนเป็น Android Wear 3.0 เสียมากกว่า

และในตอนนี้ ปี 2019 เป็นเวลา 5 ปี ที่ Android Wear ได้เปิดตัว หรือจะพูดว่าปีนิดๆ แล้วที่มันได้กลายเป็น Wear OS แต่ในสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดที่เพิ่งตัว ยังคงได้การบ่นจากผู้ใช้ว่ามีปัญหาเหมือนกับ Android Wear สมัยเปิดตัวแรกๆ อยู่ดี

...นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?


Wear OS เหมือนสินค้าที่ยังไม่เสร็จ

สิ่งหนึ่งที่คุณจะได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าเวลาที่คนพูดถึง Wear OS มักจะเป็นเรื่องที่เหมือนมันยังทำมาไม่เสร็จ, หรือเสร็จแล้วแต่ก็ไม่สมบูรณ์ เหมือนยังขาดอะไรไปสักอย่าง โดยเหตุผลก็มาจากการที่มันทำงานได้ช้ามาก, บั๊กเยอะ, แครชบ่อย, และความซับซ้อนในการสั่งงานต่างๆ ซึ่งแม้แต่ในสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดของ Fossil เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังคงพบปัญหาดังกล่าวอยู่ดี

เหตุผลที่ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างเช่น การเข้าหน้าตั้งค่า (Settings menu) บน Wear OS เราต้องเวลาอยู่หลายวินาทีเหมือนกันนะ เริ่มจากการปัดหน้าจอลงมา 1 ครั้ง แตะไปที่ปุ่มรูปเฟือง จากนั้นหน้าจอจะเป็นสีดำไป 1-2 วินาที ก่อนที่หน้าจอตั้งค่าจะปรากฏขึ้นมา

แม้จะเป็นการสั่งงานง่ายๆ แต่ Wear OS ก็ยังให้ความรู้สึกที่ช้ามากๆ การเปิดแอป หรือเรียกใช้งานฟีเจอร์ต้องใช้เวลาหลายวินาที กว่ามันจะเริ่ม

การบ่นเรื่องที่ต้องปัญหาที่ต้องรอหน้าจอ 2 วินาที ก่อนตั้งค่าจะปรากฏอาจจะฟังดูเรื่องมากไปสักหน่อย แต่นี่เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้เวลาในการพัฒนามา 5 ปีแล้วนะ เราจะต้องรออีกกี่ปี เราถึงจะสามารถเรียกใช้งานแอปอย่าง Google Play, Google Assistant, Weather ฯลฯ บน Wear OS แล้วมันสามารถแสดงผลได้ทันที

โอเค เรายอมรับได้ว่านาฬิกามันมีข้อจำกัดด้านความแรงที่ช้ากว่าสมาร์ทวอทช์ มันคงไม่สามารถทำให้ลื่นได้เหมือนกัน แต่คู่แข่งอย่าง Apple กลับทำ Apple Watch ออกมาได้ลื่นกว่า Wear OS มาก

ระบบ Activity tracking ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญหลักของสมาร์ทวอทช์ ตัว Wear OS ได้เลือกใช้ Google Fit เป็นแอปฯ เริ่มต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพ และลูกเล่นต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง Fitbit และ Garmin เป็นอย่างมาก แต่โชคยังดีที่ผู้ใช้มีสิทธิ์ติดตั้งแอป 3rd-party มาใช้งานแทนได้ แม้ว่ามันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากไปสักหน่อย

ถ้าตัว Activity tracking และประสิทธิภาพการทำงานทั่วไปของ Wear OS ไม่ดีตั้งแต่แรก แล้วมันจะเหลืออะไรที่ทำให้ระบบปฏิบัติการตัวนี้น่าใช้ได้อีกล่ะ?


แบตเตอรี่ยังคงเป็นจุดอ่อนของ Wear OS

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของ Wear OS ที่ผู้ใช้บ่นกันมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องแบตเตอรี่ นอกจากหน้าจอแล้ว ตัว CPU ที่อยู่ในสมาร์ทวอทช์เป็นอีกส่วนที่บริโภคพลังงานจากแบตเตอรี่สูงมาก ตามหลักแล้ว CPU ก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปิดตัวรุ่นใหม่กันทุกปี แน่นอนว่ามันจะต้องทำงานได้เร็วขึ้น โดยที่ใช้พลังงานลดน้อยลง

แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นกับ CPU สำหรับนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่ใช้ Wear OS เพราะทาง Qualcomm ผู้ผลิต Snapdragon Wear ที่ใช้ในสมาร์ทวอทช์นั้นแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันสักเท่าไหร่ ชิปแต่ละรุ่นถูกทิ้งช่วงห่างกว่า 2 ปี กว่าจะมีรุ่นใหม่ออกมา อีกทั้งรุ่นที่ออกมาก็มีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นไปกว่าเดิมมากนัก

ปัญหานี้ทำให้ทางผู้ผลิตนาฬิกาต้องหาทางออกในการยืดอายุแบตเตอรี่กันด้วยตัวเอง อย่าง LG ได้เสนอทางเลือกในการผสมผสานเข็มนาฬิกาของจริงลงไปบนหน้าจอเพื่อประหยัดพลังงานใน LG Watch W7 หรือ TicWatch Pro มีจอ LCD ขาวดำซ้อนอีกชั้นเพื่อใช้ในเวลาต้องการประหยัดพลังงาน แต่ลองมองไปที่คู่แข่ง เช่น Fitbit Versa ที่สามารถใช้งานได้ถึง 4 วันต่อการชาร์จ 1 รอบ โดยที่ไม่ต้องเปิดโหมดประหยัดพลังงานแต่อย่างใด 

เหตุผลที่ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ
ภาพจาก https://www.theverge.com/2016/1/15/10775660/fitness-tracker-smartwatch-battery-problems-apple-motorola-lumo


ไม่มีเรือธงมาช่วยนำทัพ

การที่ไม่มีเรือธงมาช่วยนำเทรนด์ในท้องตลาดก็เป็นอีกปัญหาของ Wear OS ที่มีส่วนทำให้มันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เรือธงในที่นี้ คือ สมาร์ทวอทช์ที่ยอดเยี่ยมสามารถแสดงพลังของ Wear OS ให้ผู้ใช้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าตัวมันมีดีขนาดไหน

สมัยก่อน Google พยายามผลักดัน Android ด้วยการทำ Nexus ออกมา และภายหลังก็มี Pixel ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อัดสเปคมาแบบแน่นเอี๊ยด และมีฟีเจอร์โดดเด่นเพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับผู้ผลิตรายอื่นๆ ในขณะที่ Wear OS นั้นไม่มีของพรรค์นั้นเลย มันเหมือนระบบปฏิบัติการตัวหนึ่งที่ถูกทิ้งให้ลอยเคว้งคว้าง ใครอยากเอาไปทำก็เชิญ 

ตอนกลางปี 2018 มีข่าวลือว่า Google จะทำ Pixel Watch ออกมาเปิดตัวในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเราได้เห็นแค่ Pixel 3, Pixel Slate, Pixel Stand และ Google Home Hub โดยไร้วี่แววของ Pixel Watch

ข่าวดียังพอมีอยู่บ้าง เมื่อต้นปี 2019 ได้มีรายงานว่า Google ได้ขอซื้อเทคโนโลยีการผลิตสมาร์ทวอทช์จาก Fossil ไปด้วยมูลค่ากว่า $40 ล้านดอลลาร์ ทำให้มีการลือถึงความเป็นไปได้ว่า ปีนี้นี่แหละ ที่เราอาจจะได้เห็น Pixel Watch จาก Google แล้ว

หลายคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญของการมี "เรือธง" เราอยากให้ลองนึกถึงสมัยก่อนที่ Android เพิ่งมา ยุคนั้นเชื่อหรือไม่ว่ามีหลายคนที่เรียกมือถือ Android ทุกรุ่น ว่า "Galaxy" ด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้น แบรนด์ Galaxy S ของ Samsung แข็งแรงมาก ในฐานะมือถือแอนดรอยด์ที่แรงที่สุด กล่าวได้ว่ามันมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์ Android ประสบความสำเร็จได้อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ถ้าเราอยากให้สถานการณ์ของ Wear OS  เป็นแบบนั้นบ้าง มันก็ต้องการสุดยอดสมาร์ทวอทช์ที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีนาฬิกาเรือนไหนที่เหมาะสมกับคำนี้

แม้แต่ Tambour Horizon จาก Louis Vuitton ที่มีราคาหลักแสน ก็ไม่ได้มีฮาร์ดแวร์แรงมากนัก มันแค่ถูกทำจากวัสดุสุดหรูเท่านั้นเอง ในแง่ของสมาร์ทวอทช์มันก็ไม่ได้ต่างจากรุ่นอื่นๆ มากนัก

เหตุผลที่ Wear OS ไม่ประสบความสำเร็จ


อนาคตของ Wear OS

ในตอนนี้เราเห็นแค่ Fossil กับ Mobvoi (TicWatch) เท่านั้น ที่ยังคงพัฒนาสมาร์ทวอทช์ที่ใช้ Wear OS ออกมาเรื่อยๆ ส่วนบริษัทอื่นๆ อย่าง Motorola, Samsung, Sony ฯลฯ ได้ถอนตัวไปหมดแล้ว บ้างก็หันไปทำสมาร์ทวอทช์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาเอง และนั่นก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก สำหรับอนาคตของ Wear OS

ตอนที่เปิดตัวมี OEMs หลายรายให้ความสนใจ Wear OS แต่ตอนนี้เหลือแค่เพียง 2 รายเท่านั้น

การที่ Wear OS จะเอาตัวรอดได้ Google จะต้องทำให้มันทำงานได้เร็วขึ้น, มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม และเปิดตัวสมาร์ทวอทช์สุดเจ๋งออกมาสักเรือนให้ได้ รวมถึงทำให้ Google Fit มีความสามารถดีพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Garmin, Fitbit หรือ Apple ได้

แล้วลองนึกภาพว่า หาก Apple ที่เป็นเจ้าตลาดสมาร์ทวอทช์อยู่ในขณะนี้ ตัดสินใจทำซอฟต์แวร์ให้ Apple Watch รองรับการใช้งานร่วมกับ Android ได้ดูสิ มันจะส่งผลกระทบต่อ Wear OS มากขนาดไหน เพราะแม้แบตเตอรี่จะอายุสั้นพอๆ กัน แต่ความสามารถของนาฬิกา ความลื่น นั้นต่างกันหลายเท่าเลยนะ

ผลจากการสำรวจตลาดพบว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสมาร์ทวอทช์ยังมีโอกาสเติบโตเป็นอย่างมาก หาก Google ยังต้องการอยู่ในตลาดให้ได้ มันคงเป็นเรื่องยากหากว่า Wear OS ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้ง Google ควรจะทำงานร่วมกับ Qualcomm ในการพัฒนาชิป CPU ที่ดีกว่านี้ออกมาให้สำเร็จ

นอกจากนี้ Google ควรจะประชาสัมพันธ์ Wear OS ให้มากขึ้น และหาทางดึงเหล่า OEMs ที่เคยมีอยู่ให้กลับมาช่วยพัฒนาสมาร์ทวอทช์อีกครั้ง

เราหวังอยู่นะว่าจะมีโอกาสที่ได้ฉลองครอบรอบสิบปี Wear OS ในอนาคต


ที่มา : www.androidauthority.com , www.androidcentral.com , www.techradar.com , www.counterpointresearch.com , en.wikipedia.org , www.cnet.com

 
0 %E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88+Wear+OS+%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

รีวิวที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น