เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง Unicorn Consortium ได้ประกาศ อิโมจิรุ่น 13.0 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย และในครั้งนี้ก็ได้เพิ่มจำนวนอิโมจิใหม่ถึง 117 รูปแบบเลยทีเดียว ซึ่งพอดูรูปของอิโมจิทั้งหมดแล้วก็มีอิโมจิรูปหนึ่งที่เห็นแล้วสะดุดตาขึ้นมา นั่นก็คือ อิโมจิรูป Pinched Fingers ที่มีลักษณะคล้ายรูปมือจีบหงาย ทำให้สงสัยขึ้นมาว่ามันคืออะไรกันแน่
ภาพจาก : https://onezero.medium.com/the-pinched-fingers-emojis-creator-explains-its-meaning-88631a6619b
โดยหลังจากปล่อยรูปอิโมจิเซ็ตใหม่นี้ออกมาก็มีการ ล้อเลียน ว่าอิโมจินี้อาจหมายถึง “การโรยเกลือ” ใน Meme Salt Bae ของเชฟชาวตุรกีที่เคยเป็นไวรัลอยู่ระยะหนึ่งก็เป็นได้
ภาพจาก : https://twitter.com/LanceUlanoff/status/1222659476840484864
ซึ่งภายในเว็บไซต์ Emojipedia ก็ได้ให้คำอธิบายของอิโมจินี้เอาไว้ว่า
Pinched Finger เป็นอิโมจิรูปนิ้วมือทั้งสี่และหัวแม่มือประกบติดกันในแนวตั้ง, บางครั้งชาวอิตาลีใช้ภาษามือในลักษณะนี้ในการถามว่า ma che vuoi (คุณต้องการอะไร)
สำหรับการใช้ภาษามือในลักษณะนี้ของ ชาวอิตาลี ไม่ได้เป็นการยกมือขึ้นเฉยๆ เพื่อแทนการถามเพียงเท่านั้น แต่มัก เขย่ามือหรือกวักเข้าหาตัว เพื่อแสดงอารมณ์ร่วมด้วย (ซึ่งหากเขย่าหรือกวักมือเข้าหาตัวซ้ำๆ ก็แสดงถึงความไม่พอใจอย่างมากได้ด้วยเช่นกัน)
ภาพจาก : https://tenor.com/view/italian-hand-italy-montoncito-wtf-what-gif-14273561
นอกจากนี้ยังใช้ภาษามือนี้ได้ใน หลายบริบท ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยอาจมีความหมายว่า “ต้องการอะไร?”, “พูดอีกทีได้ไหม”, “ไม่เอาน่า”, “เข้าใจที่ฉันพูดไหม” หรือใช้แทนคำถามจำพวก WH Question (ใคร, อะไร, ที่ไหน, เมื่อไร, อย่างไร, ทำไม) ก็ได้เช่นเดียวกัน ถือว่าเป็น ภาษามือยอดนิยม ที่ชาวอิตาลีใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษามือนี้ควรกวักหรือเขย่าเข้าหาตัวเพียงเท่านั้น เพราะหากเขย่ามือข้างหน้าคู่สนทนาจะมีความหมายในเชิงหาเรื่องหรือชวนทะเลาะ และ ไม่ควรใช้กับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่สนิทสนม ด้วย
ภาพจาก : https://gfycat.com/descriptivehorribleharborseal
และไม่เพียงแค่ในอิตาลีเท่านั้นที่มีการใช้ภาษามือในลักษณะนี้แทนคำพูด เพราะใน ประเทศอาหรับ ในแถบเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่นิยมใช้ภาษาอาหรับก็มักใช้สัญลักษณ์มือแบบนี้เมื่อรู้สึกไม่พอใจหรือหงุดหงิดที่หมายถึง “شوية شوية” (รอเดี๋ยว, ใจเย็น) หรือ “رح تشوف” (เดี๋ยวก็รู้) แต่ภาษามือในรูปแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ ไม่สุภาพ เท่าไรนัก และหากผู้ใหญ่ทำมือแบบนี้ตรงหน้าเด็กก็จะหมายถึงการปฏิเสธคำร้องขอหรือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พูดนั่นเอง
นอกจากนี้ ในประเทศ ไนจีเรีย มีความหมายว่า “gbas gbos” หรือการโต้เถียงกัน และในประเทศ อินเดีย บางครั้งก็ใช้ภาษามือรูปแบบนี้ในการขออาหารอีกด้วย
สำหรับใน ประเทศไทย สัญลักษณ์มือรูปแบบนี้ ไม่ได้มีความหมายแฝงพิเศษ แต่ถ้าใช้การประเมินจากประสบการณ์วัยเด็กของตัวเองแล้ว ตอนเห็นครั้งแรกก็คิดถึง แปรงลบกระดาน ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ..
ภาพจาก : https://minimore.com/f/stick-be-better-485
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง Unicorn Consortium ได้เพิ่ม อิโมจิเฉพาะกลุ่ม แบบนี้เข้ามา เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีอิโมจิที่มีความหมายเฉพาะสำหรับคนบางกลุ่มมาก่อนแล้ว เช่น อิโมจิภาษามือแบบวัลแคน (🖖) ที่หากใครเป็น Trekkie (แฟนหนัง Star Trek) ก็คงเข้าใจความหมายแฝงของอิโมจินี้เป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่ไม่เคยดู Star Trek ก็คงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าอิโมจินี้มีความหมายว่าอะไรกันแน่
ภาพจาก : https://giphy.com/gifs/rip-leonard-nimoy-gif-IL4iTvQH0MjS
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |
ความคิดเห็นที่ 1
3 พฤศจิกายน 2563 08:33:48
|
||
GUEST |
pangloy gmail com
ฮ่าๆ ๆ ๆ ใช่แปรงลบกระดาน |
|