มีบุคคลส่วนหนึ่งได้ทำการคาดการณ์เอาไว้ว่าจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) นี้จะช่วยให้โลกมีการ ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะโลกร้อน ขึ้นมาได้ เพราะจากข้อมูลเกี่ยวกับ มลพิษทางอากาศ ในช่วงนี้ที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งได้ลดการผลิตลง
นอกจากนี้แล้ว การใช้ยานพาหนะของบุคคลทั่วไปก็ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ทำให้ภายในเมืองที่ปกติแล้วจะมีฝุ่นควัน (ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5) และมลพิษทางอากาศจำนวนมากอย่างปักกิ่ง และนิวเดลีนั้น มีสภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จะเห็นได้ว่าปริมาณของมลพิษในอากาศของเมืองปักกิ่งลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส
ภาพจาก : https://medium.com/age-of-awareness/is-covid-19-the-silver-bullet-for-a-stable-climate-b96af11f4dfb
ไม่เพียงแค่เมืองอุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีมลพิษลดน้อยลง แต่ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเมืองเวนิสในประเทศอิตาลีเองก็มีน้ำภายในคลองที่ “ใสขึ้น” จนสามารถมองเห็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในลำคลองอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นแล้ว สถานที่อื่นๆ เองก็น่าจะมีการฟื้นตัวของธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และภาวะโลกร้อนและการก่อตัวของก๊าซเรือนกระจกก็น่าจะเบาลงอยู่บ้าง
คลองเวนิสในประเทศอิตาลีช่วงที่มีการประกาศปิดเมือง
ภาพจาก : https://www.this-is-italy.com/fish-ducks-return-to-venice-as-canals-water-becomes-cleaner-after-coronavirus-lockdown/
แต่จากข้อมูลของทาง EU Copernicus (หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกในสังกัดของสหภาพยุโรป) นั้นระบุว่า ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่เดือนนี้นั้น เดือนมกราคม ก็ถือได้ว่าเป็นเดือนที่ “ร้อนที่สุดเท่าที่มีการเก็บสถิติมา” ในขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ และ เดือนมีนาคม นั้นเป็นเดือนที่ “อุณหภูมิสูงเป็นอันดับสอง” อีกต่างหาก
อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคมที่ทาง NOAA ระบุว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา
ภาพจาก : https://www.ncei.noaa.gov/news/global-climate-202001
โดยสถิติตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ก็พบว่าใน ทวีป Antarctic นั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแตะ 20 องศาเซลเซียส ไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังทำให้ ธารน้ำแข็งละลายลง ไปบางส่วนอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว แนวปะการังนอกชายฝั่งที่ยาวที่สุดในโลกอย่าง Great Barrier Reef ที่ตั้งอยู่ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลียเอง ก็กำลังประสบกับปัญหาประการังฟอกขาว (Bleeching) โดยจากการสำรวจของศูนย์ศึกษาวิจัยแนวปะการัง ARC (ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies) แห่งมหาวิทยาลัย James Cook ประเทศออสเตรเลียนั้นก็พบว่าเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
“เราได้ทำการสำรวจแนวปะการังราว 1,036 แนวในช่วงสองสัปดาห์ของปลายเดือนมีนาคมเพื่อเก็บข้อมูลการแผ่ขยายของปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแถบ Great Barrier Reef และพบว่านี่เป็นครั้งแรกที่เกิดปะการังฟอกขาวทั้งทางตอนเหนือ, ใต้ และส่วนกลางของ Great Barrier Reef เลยทีเดียว แม้ว่ามันจะไม่ได้ทำให้ปะการังตายลงเป็นจำนวนมากแต่มันก็ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพิงปะการังไปไม่น้อย” Terry Hughes หัวหน้าศูนย์ ARC กล่าว
It’s been a shitty, exhausting day on the #GreatBarrierReef.
— Terry Hughes (@ProfTerryHughes) March 26, 2020
I feel like an art lover wandering through the Louvre....as it burns to the ground. pic.twitter.com/I0Mx7epLCe
นอกจากนี้ Michael Mann นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ หัวหน้าศูนย์ ESSC (Earth System Science Center) ประจำมหาวิทยาลัย Penn State ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึงการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวไว้ว่า
ปกติแล้วน้ำในทะเลจะดูดซับสารพิษและความร้อนบนพื้นผิวโลกไปกว่า 90% ดังนั้นการที่โลกร้อนขึ้นก็ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดปะการังฟอกขาวได้มากเลยทีเดียว และนี่ก็เป็นครั้งที่ 3 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสภาพอากาศในขณะนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความสนใจไม่ต่างจากวิกฤตการณ์ของโคโรนาไวรัสในขณะนี้เช่นกัน
และทางสมาคม NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ที่ศึกษาเกี่ยวกับทะเลและชั้นบรรยากาศโลกก็ได้คาดการณ์อีกว่าจะเกิดปรากฏการณ์ El Niño ที่เป็นสภาวะการหมุนเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนของกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทร ก่อให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและออสเตรเลียประสบกับภัยแล้งขึ้นในปี ค.ศ. 2020 นี้อีกด้วย ซึ่งจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในปัจจุบันนี้ก็มีอุณหภูมิที่สูงจนทำให้เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว หากเกิดปรากฏการณ์ El Niño ซ้ำอีกก็อาจทำให้ปี ค.ศ. 2020 นี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดเลยก็ว่าได้
ภาพจาก : https://www.discovermagazine.com/environment/el-wimpo-transforms-into-an-el-nino-thats-showing-increasing-signs-of-becoming-a-humdinger
หลายคนก็น่าจะเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าในเมื่อคนส่วนมากลดการใช้รถใช้ถนนลง รวมทั้งโรงงานใหญ่ๆ หลายแห่งก็ชะลอการผลิตลงแล้วและ ปริมาณมลพิษในอากาศก็ลดน้อยลงแต่ทำไมสภาพอากาศของโลกยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นอีก?
เหตุผลที่มลพิษในอากาศลดลงนั่นเป็นเพราะว่ามนุษย์ “ไม่ได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน” ขึ้นไปบนอากาศในทุกๆ วัน เหมือนที่เคยเป็น แต่จำนวนของ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม บนชั้นบรรยากาศที่สูงเกินกว่าที่สายตาของมนุษย์จะมองเห็นได้นั้นยังคงมีก๊าซที่มนุษย์ได้ทำการปล่อยออกมาในเวลาหลายปีที่ผ่านมาสะสมวนเวียนอยู่นั่นเอง
ภาพจาก : https://mashable.com/article/climate-change-2020-records/
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสก็ได้มีการสั่งปิดเมือง (Lockdown) ในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนส่วนมากตัดสินใจที่จะ “สั่งของออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของใช้ต่างๆ ก็ตาม เนื่องด้วยความสะดวกและความปลอดภัยที่มากกว่าการออกไปเสี่ยงต่อเชื้อโรคนอกบ้านก็ทำให้ปริมาณของ ขยะจำพวกบรรจุภัณฑ์อาหาร, แก้วน้ำ หรือถุงที่ผลิตมาจากพลาสติกนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด นโยบาย “ลดการใช้พลาสติก” ได้ถูกหลงลืมไปในช่วงการระบาดของไวรัสในครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อย
ภาพจาก : https://www.dailymail.co.uk/news/article-8171809/Coronavirus-stockpilers-wasting-unused-food-bringing-vermin-mice-rats-ants-homes.html
แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะน่ากลัว แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือปริมาณขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ และแน่นอนว่ามันคงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากเพราะการรีไซเคิลสิ่งของต่างๆ ในภาวะการระบาดของไวรัสก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก แต่อย่างน้อยเราก็อาจช่วยโลกด้วยการ แยกประเภทของขยะและลดการซื้อของที่ไม่จำเป็นลง หรือหากสั่งอาหารออนไลน์ก็อาจแจ้งกับทางร้านว่าไม่ต้องการรับช้อน-ส้อมพลาสติกก็น่าจะช่วยลดขยะไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
“มีเพียงแค่การวางแผนอย่างเป็นระบบในระยะยาวเท่านั้นที่จะช่วยลดระดับของก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลงได้” Inger Anderson ผู้ช่วยผู้บริหารโครงการทางสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ UNEP (United Nation Environment Programme) กล่าวทิ้งท้าย
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |