เชื่อว่าหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในวัยทำงานส่วนมากก็มักจะมี “การดื่มกาแฟ” เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันยามเช้าก่อนเริ่มงาน หรือสำหรับบางคนก็อาจยกให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มประจำตัวในช่วงเวลาการทำงานกันเลยทีเดียว เพราะหลังจากดื่มกาแฟแล้วเรามักจะรู้สึกว่าสมองแล่นหรือตื่นตัวขึ้นจากเดิม ทำให้มีความพร้อมในการทำงานมากขึ้นและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตอนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ
ภาพจาก : https://www.wweek.com/portland/article-21606-coffee-issue-2013-hook-it-to-my-veins.html
ซึ่งการที่เรารู้สึกตื่นตัวขึ้นมาหลังจากดื่มกาแฟไประยะหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่าภายในกาแฟมี สารคาเฟอีน (Caffeine) ที่มีความสามารถในการสกัดกั้นการทำงานของสาร Adenosine ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงและเหนื่อยล้าออกไปนั่นเอง
ดังนั้นการรับประทานกาแฟที่มีส่วนผสมของสารคาเฟอีนจึงช่วยให้สมองได้รับการ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว และสามารถทำงานทั่วๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อเป็นเรื่องของ ความคิดสร้างสรรค์ แล้วนั้น สารคาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟกลับไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก
ภาพจาก : https://www.teasoul.net/en/blog/tea-and-caffeine-n45
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาทดลองเรื่อง ผลของคาเฟอีนที่มีต่อกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งภายในงานวิจัยชิ้นนี้จะใช้หลักเกณฑ์ของ J.P. Gilford (Joy Paul Gilford) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้แบ่งกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาของมนุษย์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Convergent Thinking และ Divergent Thinking (หรืออาจเทียบได้กับทฤษฎีการทำงานของสมองซีกซ้าย-ขวาที่เราคุ้นเคยกันดี)
Convergent Thinking | Divergent Thinking |
กระบวนการคิดที่เน้นการมองหาสาเหตุของปัญหาและคิดพิจารณาหาวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้การคิดวิเคราะห์ผ่านตรรกะและความถูกต้อง ร่วมกับประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ มักเป็นความคิดแยกแยะถูก-ผิดอย่างชัดเจน ใช้เหตุผลในการตัดสินและพิจารณาวิธีการปัญหา | กระบวนการคิดที่เน้นการมองหาความเป็นไปได้ของการแก้ไขปัญหา มักใช้จินตนาการ, การคาดเดา และความเป็นไปได้ ร่วมกับประสบการณ์และทัศนคติส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ ในการคิดแก้ไขปัญหา มักเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นความคิดที่ไม่ได้มองโลกแบบขาว-ดำชัดเจน |
ผู้วิจัยได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 88 คนที่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนอยู่เป็นประจำ โดยได้ให้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดได้รับสารคาเฟอีนที่ปริมาณ 200 มิลลิกรัมเท่ากัน แต่จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ดื่มกาแฟและกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (แคปซูลแป้งที่ผู้วิจัยระบุว่าเป็นคาเฟอีนแบบเม็ด) จากนั้นให้ทำการทดสอบเกี่ยวกับการคิดแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ใช้เหตุผลและความคิดสร้างสรรค์, แบบทดสอบความจำระยะสั้น และแบบทดสอบทางอารมณ์
ภาพจาก : https://psyarxiv.com/6g9av/
ซึ่งผลออกมาว่ากลุ่มที่ได้รับคาเฟอีน (กลุ่มที่ดื่มกาแฟ) มีกระบวนการคิดแก้ปัญหาแบบ Convergent ที่ดีขึ้นจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในด้านของความคิดแบบ Divergent ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และสารคาเฟอีนเองก็ไม่ได้มีผลต่อความจำระยะสั้นด้วยเช่นกัน ส่วนด้านอารมณ์ กลุ่มตัวอย่างบางคนก็รายงานว่ารู้สึกอารมณ์ดีขึ้นหลังดื่มกาแฟ
ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำการสรุปว่า สารคาเฟอีนนั้นสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่ใช้ความคิดแบบ Convergent ส่งผลให้มีการคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี ในขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เป็นความคิดแบบ Divergent นั้นไม่สามารถถูกกระตุ้นด้วยคาเฟอีนได้ แต่การรับประทานคาเฟอีนก็ ไม่ได้ลดความสามารถของการคิดสร้างสรรค์ ลงไปแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะดื่มกาแฟ ชา น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนแล้วนั้นก็ควรที่จะดื่มใน ปริมาณที่พอเหมาะ และ ดื่มให้ถูกเวลา ด้วยเช่นกัน เพราะหากดื่มคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไป หรือดื่มในเวลาที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้สมองล้าและรู้สึกอ่อนแรงมากกว่าปกติเมื่อสารคาเฟอีนหมดฤทธิ์ จนทำให้ต้องดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ที่มีคาเฟอีนเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และอาจตกอยู่ในภาวะติดคาเฟอีนได้
ภาพจาก : https://thriveglobal.com/stories/7-ways-to-recharge-yourself-to-stay-happy-at-work/
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |