พลาสติกไม่ได้เป็นตัวอันตรายกับโลกของเรา แต่การใช้งานพลาสติกที่มากเกินความจำเป็นของมนุษย์ต่างหากที่ส่งผลเสียกับโลกและนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน, ขยะล้นโลก หรือการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและการเผาทำลายพลาสติกทิ้งอย่างผิดวิธี แต่เนื่องด้วยราคาและความสะดวกในการใช้งาน (โดยเฉพาะพลาสติกแบบ Single Use) นั้นทำให้อัตราการใช้งานและจำนวนขยะพลาสติกที่รอการย่อยสลายนั้นพุ่งสูงขึ้นตามความต้องการและจำนวนประชากรโลก ในขณะที่จำนวนพลาสติกที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลนั้นมีจำนวนน้อยมาก ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะแก้ไข
ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้พยายามผลักดันโครงการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก รวมถึงมีการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมา นอกจากนี้ หากมีการแยกขยะพลาสติกตามประเภทของมันก็จะช่วยให้พลาสติกเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น (ไม่ได้หมายความว่าการแยกขยะพลาสติกออกจากขยะประเภทอื่นเป็นสิ่งไม่ดี แต่จะดีขึ้นไปอีกหากแยกประเภทขยะพลาสติกออกไปตามประเภทของมันด้วย) เพราะกระบวนการขั้นตอนการรีไซเคิลของพลาสติกนั้นมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภทของพลาสติกชนิดนั้นๆ นั่นเอง
โดยเราจะสามารถแยกประเภทของพลาสติกได้จากสัญลักษณ์ลูกศรสามเหลี่ยมและตัวเลขบนผลิตภัณฑ์พลาสติก แต่สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกบางอย่างก็ไม่ได้มีตัวเลขกำกับอยู่ทุกครั้งไป แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพลาสติกที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นพลาสติกประเภทใด และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน?
พลาสติกที่มีลักษณะใส สามารถมองทะลุผ่านได้ เนื้อพลาสติกค่อนข้างมีความเหนียว เช่น ขวดน้ำเปล่า, น้ำอัดลม, น้ำมัน, เครื่องปรุงอาหารต่างๆ เป็นต้น โดยพลาสติกชนิดนี้เป็นพลาสติกแบบ Single Use ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วสามารถนำเอาไปผ่านกระบวนการผลิตเพื่อขึ้นรูปเป็นขวดพลาสติกแบบเดิม หรืออาจเปลี่ยนเป็นเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ (Polyester Fiber) เพื่อนำเอาไปผลิตเป็นเสื้อผ้า, กระเป๋า, เสื้อชูชีพ, พรม หรือสิ่งทออื่นๆ ได้
ภาพจาก : https://www.gap-polymers.com/en/product/pet_tle101
พลาสติกที่มีสีขุ่นหรือสีทึบ ไม่สามารถมองทะลุผ่านได้ เนื้อพลาสติกเหนียวและทนทานกว่าขวดแบบ PET และจัดได้ว่าเป็นพลาสติกเกรดที่ปลอดภัยที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เช่น แกลลอนนม, ขวดแชมพู, กระปุกยา หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นๆ
ภาพจาก : https://ngaynay.vn/moi-truong/biet-y-nghia-ky-hieu-tren-lo-nhua-co-the-tranh-nguy-co-ung-thu-11511.html
พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นและความเหนียวสูงมาก มักนำมาใช้ทำเป็นแรปห่ออาหาร, ของเล่นสัตว์, ท่อ PVC, อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง, แฟ้มใส่เอกสาร, บัตรแข็ง, แผ่น Vinyl เป็นต้น จัดว่าเป็นพลาสติกที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากที่สุด รวมทั้งกระบวนการ, ขั้นตอนการรีไซเคิลก็มีความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง และเนื่องด้วยพลาสติกประเภทนี้มีส่วนผสมของคลอรีนที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ทำให้การนำกลับไปใช้ซ้ำก็ค่อนข้างเป็นไปได้อย่างจำกัด
ภาพจาก : https://www.earthfirst.net.au/the-great-recycling-myth-recycling-plastic.html
พลาสติกที่มีลักษณะเป็นฟิล์มที่มีความยืดหยุ่นสูง เช่น ถุงพลาสติก, ขวดพลาสติกแบบบีบ, พลาสติกที่ใช้ห่อสิ่งของต่างๆ เป็นต้น เป็นพลาสติกที่จัดว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ (คล้ายกับพลาสติกแบบ PET แต่มีความบางและยืดหยุ่นสูงกว่า)
ภาพจาก : https://darling.com.vn/tin-tuc/ban-co-biet-nhung-loai-chai-hop-nhua-nao-co-the-tai-su-dung-duoc-1011.html
พลาสติกที่มีลักษณะแข็ง, มีความทนทานสูง, น้ำหนักเบา และทนความร้อนได้ เป็นพลาสติกที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างนานและสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, กระบอกน้ำดื่ม, บรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้, กระเป๋าเดินทาง, ของเล่น, ชิ้นส่วนรถยนต์, เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ทำมาจากพลาสติก เป็นต้น แต่พลาสติกประเภทนี้บางอย่างก็ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล โดยเฉพาะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีการปนเปื้อนสูง
ภาพจาก: https://www.fosimpe.com/products/?lang=en
พลาสติกที่มีลักษณะแข็งแต่ไม่มีความยืดหยุ่น, เปราะ, แตกหักได้ง่าย, น้ำหนักเบาและราคาถูก เช่น ช้อนส้อมพลาสติก, ฝาแก้วกาแฟ, กล่องใส่ซีดี รวมไปถึงโฟมต่างๆ และพลาสติกที่ใช้เคลือบพื้นผิวภายในกล่องนม, แก้ว/ถ้วยกระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่มีพลาสติกเคลือบทับไว้ก็จัดว่าเป็นพลาสติกประเภทนี้เช่นเดียวกัน พลาสติกประเภทนี้เป็นพลาสติกแบบ Single Use ที่สิ้นเปลือง ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากเป็นพลาสติกที่นิยมใช้งานกับอาหาร แต่ก็อาจปนเปื้อนสารก่อมะเร็งได้ (โดยเฉพาะเมื่อนำไปอุ่นร้อนในไมโครเวฟ เพราะพลาสติกชนิดนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนความร้อนสูงได้) และเป็นพลาสติกที่มักจะมีจุดจบลงที่กองขยะเนื่องจากมีขั้นตอนการรีไซเคิลที่ยุ่งยาก
ภาพจาก : https://www.intcorecycling.com/What-Do-Recycling-Symbols-NO-6-on-Plastics-Mean.html
เช่น กล่องไมโครเวฟ, ขวดนมเด็ก, ไฟเบอร์กลาส, ไนลอน เป็นต้น และถึงแม้ว่าพลาสติกประเภทนี้ส่วนมากจะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เนื่องจากมีอายุการใช้งานค่อนข้างนานแต่ผู้ใช้ก็ควรที่จะต้องระมัดระวังสาร BPA (Bisphenol) ที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ เพราะหากได้รับสารนี้ในปริมาณมากมันจะเข้าไปทำลายเซลล์สมอง, ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ได้ จึงควรเลือกใช้พลาสติกที่ระบุว่า BPA Free ที่ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าแต่ก็มีความปลอดภัยที่มากกว่า
ภาพจาก : https://s3.amazonaws.com/forurfuture/number-7-plastic.html
นอกจากพลาสติก 7 ประเภทข้างต้นแล้วก็ยังมีพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง Bioplastic (พลาสติกชีวภาพ), Biodegradable Plastic (พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ) และ Edible Plastic (พลาสติกที่สามารถรับประทานได้) ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ส่วนมากแล้วจะเป็นพลาสติกประเภท Single Use (เว้นแต่จะมีสัญลักษณ์ PLA (Polylactic Acid) ประกอบไว้จึงจะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้)
และทางองค์กร Greenpeace ได้ทำการจัดอันดับพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามประเภทของพลาสติกเอาไว้ดังนี้
ภาพจาก : https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/
แต่การแบ่งประเภทของพลาสติกนี้เป็นการแบ่งตามลักษณะของโครงสร้างพลาสติกที่ใช้ในการผลิตเพียงเท่านั้น เพราะผลิตภัณฑ์จากพลาสติกส่วนมากแล้วนั้นมักจะเป็นการนำเอาพลาสติกหลากหลายประเภทมารวมร่างกันเป็นของชิ้นเดียวมากกว่า ตัวอย่างเช่น ขวดน้ำดื่มที่เราพบเห็นบ่อยในชีวิตประจำวันเองก็ประกอบไปด้วยพลาสติกถึง 3 ประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวขวดที่ใช้พลาสติกประเภท 1 (PET) ฝาขวดและวงแหวนคอขวดที่ทำมาจากพลาสติกประเภท 2 (HDPE) หรือ 5 (PP) และฉลากน้ำดื่มที่ทำมาจากพลาสติกประเภท 3 (PVC)
ที่น่าสนใจคือบรรดาผู้ผลิตน้ำดื่มส่วนมากก็ได้ยกเลิกการซีลฝาขวด (Cap Seal) ที่ผลิตมาจากพลาสติกประเภท PVC ที่ย่อยสลายได้ยาก กันไปตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยเหตุผลว่าเป็นการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น แต่สำหรับพลาสติกส่วนเกินอย่างฉลากน้ำดื่มที่ระบุยี่ห้อที่จัดว่าเป็นพลาสติกประเภท PVC ก็ยังคงมีอยู่ตามปกติ ส่วนตัวแล้วคิดว่าหากนำเอาฉลากยี่ห้อน้ำดื่มนี้ออกไปก็น่าจะช่วยลดปัญหาพลาสติกได้มากเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ทราบว่าทางผู้ผลิตหรือนายทุนเจ้าใหญ่นั้นมีความจำเป็นหรือมีข้อจำกัดในประเด็นนี้หรือไม่ เพราะเคยเห็นน้ำดื่มบางเจ้าก็ใช้การสกรีนลงบนเนื้อขวดพลาสติกไปเลยโดยที่ไม่ต้องมีฉลากพลาสติกหุ้มอีกชั้นหนึ่งแต่อย่างใด (หรือหากการสกรีนลงขวด PET ทำให้ขั้นตอนการรีไซเคิลยากกว่าปกติ เปลี่ยนเป็นการใช้ขวดแบบ HDPE ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ดูน่าสนใจไม่น้อย)
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/jeepersmedia/16135256702
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อตอนนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบว่าทำไมขวดน้ำต่างๆ ถึงยังมีฉลากพลาสติกพันรอบขวดอยู่ แต่เราก็คาดว่าบางคนอาจทดลองแยกขยะพลาสติกตามประเภทเพื่อให้ง่ายต่อการนำเอาไปรีไซเคิลมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถช่วยโลกได้นอกเหนือไปจากการลดการใช้พลาสติกแบบ Single Use และการคัดแยกขยะตามประเภทของถังขยะสีต่างๆ
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |