เรื่องมันเริ่มเมื่อคนหนุ่มคนหนึ่งโดนรีไทร์จากคณะวิศวะฯ มหาวิทยาลัยดัง
ด้วยคำสั่งของบิดา คนหนุ่มคนนี้นั่งรถฝ่าดงโคลนที่ชื้นแฉะจนทำรถติดหล่ม ผ่านพื้นที่แสนทุรกันดาร เข้าไปยังเหมืองแร่ห่างไกลความเจริญ ที่ อ.กระโสม จ.พังงา เพื่อหวังหางานทำเป็นบทเรียนชีวิต
ในช่วงเวลา 3 ปีกว่า เกือบ 4 ปี เขาได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างจากที่เขาเคยรู้จักอย่างสิ้นเชิง จาก ‘คนเมือง’ ลูกข้าราชการในกรุงเทพ ต้องพลิกผันมาเป็น ‘คนเหมือง’ เป็นกรรมกรใช้แรงงานแลกค่าแรงจากนายฝรั่งวันละไม่กี่บาท ใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำไปวันๆแบบไม่ต้องคิดถึงอนาคตมากนัก
ที่มาภาพ: https://minimore.com/b/dutae/2
อาจกล่าวได้ว่า เหมืองแร่กระโสมในฉากหลังเปื้อนควันสีน้ำตาลอ่อน ภายใต้แสงส้มของดวงตะวันยามเย็นและไฟเหลืองที่ห้อยอยู่ตามหลังคาเรือขุด เป็นมหา’ลัยชีวิตของอาจินต์ ปัญจพรรค์ คนหนุ่มผู้นี้ ที่นี่ เขาได้เรียนรู้ทักษะชีวิตมากมายที่ในมหาวิทยาลัยไม่มีวันสอนเขาได้
ในปีแรกเขายังปรับตัวไม่ได้ แม้แต่จะหุงข้าวกินเองก็ยังทำไม่เป็นจนกลิ่นน้ำมันก๊าดซึมเข้าข้าวไปหมด ต้องอาศัยแกงจืดจากลุงแถวบ้านประทังชีวิต แม้รสชาติไม่อร่อยแต่บรรยากาศที่ได้นั่งซดน้ำแกงอยู่ใต้เพิงหมาแหงนพอให้คลายความคิดถึงบ้านลงได้บ้าง
แรกเริ่มเขาเป็นเพียงกรรมกรช่วยงานทั่วไปในเรือขุด ความรู้จากคณะวิศวะบวกกับการเป็นคนหนุ่มทำให้เขามั่นใจในตัวเองเสียหนักหนา แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แค่สั่งน็อตมาซ่อมเรือขุดเขายังเขียนรายการผิด ความไม่มีประสบการณ์ทำให้เขาต้องตั้งใจอย่างจดจ่อ เรียนรู้จากคนอื่นๆที่แม้ระดับการศึกษาต่ำกว่าเขา แต่ก็ชินและช่ำของในงาน เรือขุดนี้มีพี่จอน ฝรั่งที่พูดสำเนียงใต้ไฟแล่บเป็นนายหัวเรือขุด หนังไม่ได้บอกว่าพี่จอนมาจากไหน รู้แต่ว่าแกเป็นคนสู้งานและคุมทุกคนได้อยู่ แกมีพรรคพวกที่คอยเดินตามเมื่อตรวจเรือขุด และดูเหมือนว่าเหมืองนี้เป็นเลือดเนื้อและชีวิตแก
ที่มาภาพ: https://minimore.com/b/dutae/2
วันหนึ่งเจ้านายฝรั่งให้อาจินต์คอยจับตามองขโมยที่จะมาขโมยแร่ที่เหมือง แม่อาจินต์เฝ้าอยู่ เขากลับเห็นพี่จอนกับพรรคพวกมาขนแร่ไป อาจินต์โกรธจัด เทศนาทุกคนว่าแร่นี้เป็นของนายฝรั่ง เพราะเครื่องมือเครื่องจักรและค่าแรงทุกอย่างเป็นของนาย แต่คนขนแร่กลับตอกกลับมาว่าแร่นี้อยู่ในแผ่นดินไทย ไม่สมควรให้ฝรั่งมาเอาไป ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นชัดในใจอาจินต์เสียจนเขาเดินไปลาออกในวันรุ่งขึ้น หารู้ไม่ว่าเขาจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากบทเรียนนี้
ที่มาภาพ: https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=rimtarn&month=11-2019&date=08&group=7&gblog=175
เมื่อกร้านขวบวัยมากขึ้น อาจินต์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นคนทำแผนที่ เขาได้ลูกมือมาช่วยคนหนึ่ง คือไอ้ไข่ ผู้ซึ่งยิ้มแย้มตลอดเวลาและมีนิสัยเหมือนเด็ก อาจินต์เล่าว่าเขาและไอ้ไข่แชร์วิถีประชาธิปไตยกันอยู่ เพราะตอนเช้าเขาจะเป็นคนเดินตัวปลิวไปเขียนแผนที่ แต่ตอนเย็นไอ้ไข่จะเป็นคนเดินมือเปล่านำหน้าไปก่อน ด้วยเหตุผลว่า ‘เลิกงานแล้ว’ ไอ้ไข่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทที่นั่งท้ายรถกระบะลุยโคลนไปกับเขา แหวกพงหญ้าเข้าไปวางไม้วัดพื้นที่ และยังเป็นเพื่อนในวงเหล้ายามเหงา น่าสังเกตว่าเหล้าเป็นสิ่งเชื่อมสายใยของคนในเหมืองที่เป็นผู้ชายล้วนได้อย่างดี แม้กระทั่งนายฝรั่งเองก็ยังดื่มจัดและตั้งวงกับคนงาน พอเมาก็เอาเงินมาแจกเด็กชาวบ้านแถวนั้นไปซื้อเสื้อผ้า วิถีแบบลูกผู้ชายไหลเวียนอยู่ในสายเลือดที่มีแอลกอฮอล์ไหลเวียนอยู่ในนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ที่มาภาพ: https://thestandard.co/pop-onthisday26052548/
ในภาพรวม หนังมหา’ลัยเหมืองแร่ให้ภาพเกี่ยวกับโลกการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพได้อย่างโรแมนติก เล่าด้วยเหตุการณ์สั้นๆที่จบในตัวเองหลายเหตุการณ์ เพราะตัวหนังสร้างจากเรื่องสั้นชุด ‘เหมืองแร่’ ที่เป็นประสบการณ์จริงของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ แต่ในความโรแมนติกนั้น ถ้าเรามองทะลุไป เราจะเห็นความแร้นแค้นในชีวิตกรรมกร อาจินต์นั้นแทบไม่เหลือเงินสักบาทตอนเขาออกจากเหมืองแร่ เพราะเอาเงินไปซื้อเหล้าหมดแล้ว กรรมกรคนอื่นก็ระหกระเหินไม่ต่างกันเมื่อเหมืองแร่ปิด และต้องใช้ชีวิตแบบไม่รู้อนาคตและไม่รู้จะได้กลับมาเจอกันเมื่อใด ในความโรแมนติกที่เล่าจากสายตาชนชั้นกลางของอาจินต์ เราจะเห็นแง่ที่ไม่งามของมันได้จากคำขอของนายฝรั่งที่ให้อาจินต์สัญญาว่าจะไม่มาใช้ชีวิตแบบนี้อีก พร้อมซื้อตั๋วเครื่องบินให้เขากลับกรุงเทพ เมื่อลองคิดดูแล้ว หากอาจินต์เป็นเพียงกรรมกรคนหนึ่งที่มีฐานะเท่าๆกับกรรมกรคนอื่นๆที่เหมือง เขาอาจไม่ได้มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องโรแมนติกแบบ Good Old Day ก็ได้ เพราะเขาไม่มีตาข่ายกันตกที่ชื่อว่าครอบครัวเช่นชนชั้นกลางแบบอาจินต์ - อาจินต์ที่เป็นชนชั้นกลางนั้นมีบ้านให้กลับไปเสมอ และที่บ้านพร้อมจะให้การสนับสนุนเขาแม้เขาจะไม่มีงาน แต่กรรมกรทั่วไปไม่ได้เช่นนั้น พวกเขาไม่รู้ว่าจะหางานได้อีกไหม และจะมีข้าวตกถึงท้องอีกเมื่อใด คงไม่มีใครมีอารมณ์มาเขียนเรื่องเล่าชุดที่ตีพิมพ์จนขายดีแบบอาจินต์ได้
ในแง่หนึ่ง มหา’ลัยเหมืองแร่ และเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ที่กำกับและเขียนโดยชนชั้นกลาง จึงเป็นแค่การมองไปที่โลกของกรรมกรอย่างคนที่อยู่ข้างนอก ที่มาลิ้มรสความลำบากเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เมื่อออกมาจากโลกแห่งนั้น เขาก็ยังมีที่ให้ไปต่อ ด้วยต้นทุนทางสังคมและการศึกษาที่มากกว่า ตัวเนื้อเรื่องไม่ได้ผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางชนชั้นมากขึ้น เพราะยังคงมองชีวิตกรรมาชีพเป็นสิ่งแปลกใหม่ น่าพิศวง (Exotic) เพราะแตกต่างจากชีวิตคนเมือง อย่างไรก็ตาม หนังก็ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการให้ความบันเทิงและตอบกลุ่มคนดูชนชั้นกลางได้ดี จนได้รับรางวัลหลายรางวัล และได้ขึ้นทำเนียบหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุด
สามารถรับชมมหา’ลัยเหมืองแร่ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix
|
นักเขียนอิสระให้กับสื่อออนไลน์ ชอบวิจารณ์หนังและหนังสือ |