นานแล้วที่เราไม่ได้พูดถึงเรื่องฟอนต์ เราเคยมีบทความเกี่ยวกับ ฟอนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกอย่าง Helvetica ไปแล้ว บังเอิญไปอ่านเจอเรื่องราวน่าสนใจของฟอนต์ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับ ฟอนต์ Helvetica มา เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง มันเป็นเรื่องของ ฟอนต์ Comic Sans ฟอนต์ที่หลายคนรัก แต่ยิ่งมีคนรักมากเท่าไหร่ ก็มีคนเกลียดมากเท่านั้น เรื่องราวของมันจะเป็นอย่างไร มาลองติดตามกัน
ลองค้นหาภาพในกูเกิลว่า Comic sans meme ดูสิ จะพบว่ามีเยอะเลย
ภาพจาก : https://knowyourmeme.com/photos/747268-comic-sans
หากพูดถึงจุดกำเนิดของฟอนต์ Comic Sans เรื่องนี้ก็ต้องย้อนความไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวตัวหนึ่งของ Microsoft ใครที่อายุเยอะหน่อย อาจจะเกิดทันเห็นหรือใช้งานมันด้วยซ้ำไป นั่นก็คือ Microsoft Bob ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 95
Microsoft Bob เป็นหน้าจอเดสก์ท็อปที่มีแนวคิดในการออกแบบสุดแปลก แหวกเกินไปจนไม่มีใครใช้ โดยผู้ใช้สามารถที่จะสร้าง "ห้องเสมือนจริง" สำหรับใช้งานแทนหน้า "เดสก์ท็อป" ได้ และจะมีตัวการ์ตูนตูบน้อยสีเหลืองเป็นคู่หูคอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้
การสื่อสารของตัวการ์ตูน Bob นั้นจะใช้วิธีพูดออกมาเป็น Speech Bubbles (ข้อความในฟองอากาศแบบที่ใช้ในหนังสือการ์ตูน) ซึ่ง Vincent Connare นักออกแบบของ Microsoft ที่ได้มาเห็นก็รู้สึกว่าฟอนต์ Times New Roman ที่ Bob (เวอร์ชันต้นแบบ) ใช้นั้นมันดูเป็นทางการมากเกินไป ขาดความขี้เล่นดูขัดกับภาพลักษณ์ของธีม Bob เขาเลยตัดสินใจที่จะออกแบบฟอนต์ใหม่ขึ้นมา
หน้าตาของ Microsoft Bob
ภาพจาก https://hackaday.com/2018/01/29/looking-back-at-microsoft-bob/
Vincent Connare เริ่มออกแบบโดยหาแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนสองเล่มที่เขามีอยู่ในที่ทำงาน คือ The Dark Knight Returns และ Watchmen
การ์ตูนเรื่อง Watchmen
ภาพจาก : https://www.amazon.com/gp/product/B07ST6DPBQ?ots=1&tag=hotoge-20
ด้วยการอาศัยแรงบันดาลใจจากฟอนต์ที่หนังสือการ์ตูนทั้งสองเล่มนั้นใช้ หลังจากผ่านไปอาทิตย์เดียว Vincent Connare ก็สามารถร่างฟอนต์ Comic Sans ตัวต้นแบบได้สำเร็จ เรื่องน่าสนใจ คือ เขาร่างฟอนต์ตัวนี้บนเครื่อง Mac แม้ว่าเขาจะทำงานอยู่ที่บริษัท Microsoft ก็ตาม แต่น่าเสียดายที่ในที่สุดแล้ว ฟอนต์ Comic Sans ที่เขาทำก็เสร็จไม่ทันต่อการนำไปใช้งานกับ Microsoft Bob อยู่ดี
แม้ว่าฟอนต์ Comic Sans จะตกรถไม่ได้ร่วมเดิมทางไปกับ Bob แต่โปรแกรมเมอร์ที่ดูแลซอฟต์แวร์ตัวอื่นของ Microsoft ก็รู้แล้วว่ามีการออกแบบฟอนต์ตัวนี้ขึ้นมา แล้วได้ตัดสินใจนำมันไปใช้กับซอฟต์แวร์ Microsoft 3D Movie Maker
Microsoft 3D Movie Maker เป็นซอฟต์แวร์สร้างแอนิเมชัน 3D แบบง่ายๆ สำหรับเด็ก มีการใช้ Speech Bubbles เวลาที่ต้องการให้ตัวโมเดลพูดสื่อสารออกมาเป็นข้อความได้แบบหนังสือการ์ตูน แน่นอนว่า ฟอนต์ที่เหมาะกับงานนี้ที่สุด ก็ต้อง Comic Sans อยู่แล้ว
ในคลิปนี้เราจะเห็นการใช้ฟอนต์ Comic Sans ในนาทีที่ 2:48
เมื่อมีการเปิดตัว Microsoft Plus แพ็กเกจเสริมของ Windows 95 ที่จะเพิ่ม เกม, ธีม และซอฟต์แวร์ให้กับระบบปฏิบัติการ Windows 95 ตัวฟอนต์ Comic Sans ก็ได้เป็นหนึ่งในของแถมที่มาคู่กับแพ็คเกจนี้ ซึ่งในภายหลัง Microsoft ก็จับมันมาใส่เป็นฟอนต์เริ่มต้นมาตรฐานที่มาพร้อมกับ Windows 95 เลย เพื่อให้ใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ทุกตัวได้อย่างอิสระ
ทางตัว Vincent Connare เคยเปิดเผยว่า ตัวเขาเองไม่คาดคิดว่าฟอนต์ Comic Sans จะถูกนำไปใช้งานกับซอฟต์แวร์ปกติที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเด็ก และไม่เคยคาดคิดว่ามันจะกลายเป็นฟอนต์ยอดนิยมขนาดนี้ โดยในปัจจุบัน ฟอนต์ Comic Sans เป็นหนึ่งในฟอนต์มาตรฐานที่มีติดตั้งมาให้บนคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่อง
Vincent Connare ผู้ออกแบบฟอนต์ Comic Sans
ภาพจาก : https://www.rnz.co.nz/national/programmes/sunday/audio/2018682869/vincent-connare-on-being-the-man-who-created-comic-sans
ฟอนต์ Comic Sans เป็นฟอนต์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ค่อนข้างชัดเจน คนจำนวนมากหลายคน แม้จะไม่ได้มีประสบการณ์ด้านกราฟิกดีไซน์มาก่อน พอเห็นฟอนต์ Comic Sans ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีจากสัญชาตญาณ
อย่างที่เราบอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า Vincent Connare ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบฟอนต์ตัวนี้มาจากหนังสือการ์ตูน ชื่อฟอนต์ก็มีคำว่า Comic ที่แปลว่าหนังสือการ์ตูนด้วย เขาตั้งชื่อให้มันแบบนี้ก็เพราะต้องการสื่อว่าเป็นข้อความที่เหมือนกับ "ลายมือ" แบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในหนังสือการ์ตูน
มามองในเชิงเทคนิคกันบ้าง Comic Sans เป็นฟอนต์ที่จัดอยู่ในประเภท Sans-serif (ฟอนต์ที่ไม่มีเชิง) ความโดดเด่นของมัน คือ มันลักษณะเป็นฟอนต์แบบ Script แต่ดันไม่เชื่อมต่อกันเหมือน Script ทั่วไป ทำให้เวลาพิมพ์แตกต่างจากการเขียนด้วยลายมือ
เกร็ดความรู้
ฟอนต์แบบ Script หมายถึงฟอนต์ที่ออกแบบมาเลียนแบบลายมือของมนุษย์ ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาษาอังกฤษเวลาเขียนมักจะลากยาว ไม่ได้เขียนทีละตัวแบบอักษรไทย ฟอนต์แบบ Script จึงจะมีหางเพื่อให้เวลาพิมพ์ดูเชื่อมต่อกัน
ตัวอย่างการเขียนในภาษาอังกฤษ
ภาพจาก : https://www.thenationalnews.com/lifestyle/home/how-your-handwriting-can-determine-your-home-decor-style-1.992218#1
Microsoft ได้ให้นิยามฟอนต์ Comic Sans เอาไว้ว่า "สบายแต่ชัดเจน" ซึ่งความชัดเจน นับเป็นจุดแข็งของฟอนต์ Comic Sans เพราะฟอนต์แบบ Script ส่วนใหญ่จะต้องออกแบบให้มี "เส้นเชื่อมต่อ" ทำให้ลักษณะฟอนต์แต่ละตัวมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ในขณะที่ Comic Sans แม้การออกแบบจะแข็งทื่อ และดูทางการเหมือน Arial เพราะเป็นฟอนต์ลายมือ แต่มันก็ออกแบบมาให้อ่านง่ายมากๆ
ด้วยเหตุผลที่มันไม่ทางการเกินไป เป็นฟอนต์ลายมือที่อ่านง่าย มันเลยกลายเป็นตัวเลือกที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ เวลาที่ต้องส่งข้อความให้ดูเป็นมิตร ไม่ทางการจนเกินไป ซึ่งฟอนต์ Comic Sans เป็นฟอนต์ที่โดดเด่นที่สุดที่มีให้เลือกใช้งาน จากบรรดาฟอนต์ทั้งหมดที่มีติดมากับระบบปฏิบัติการ
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Comic_Sans
สิ่งไหนก็ตามที่มีคนชื่นชอบเป็นจำนวนมาก ย่อมมีอีกฝั่งที่รู้สึกไม่ชอบตามมาด้วย แม้แต่ฟอนต์ Comic Sans ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ไปได้เช่นกัน ซึ่งกลุ่มคนที่เกลียด Comic Sans ไม่ได้จบแค่การหลีกเลี่ยงการใช้ฟอนต์ Comic Sans เท่านั้น แต่ถึงกับมีทำแคมเปญเคลื่อนไหวออกมาต่อต้านการใช้งาน Comic Sans กันเลยทีเดียว
หลายคนอ่านถึงตรงนี้ อาจจะรู้สึกว่าเวอร์เกินไปหรือเปล่า แค่ฟอนต์เนี่ยนะ!? แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว
ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) เป็นช่วงเวลาที่ฟอนต์ Comic Sans ยังอายุน้อยอยู่เลย (เพิ่งเปิดตัวมาได้ 4 ปี) สองกราฟิกดีไซน์เนอร์ชาวอินเดียแนโพลิส ได้สร้างเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า "Ban Comic Sans" เพื่อเป็นการแสดงความต่อต้านนายจากพิพิธภัณฑ์ที่ยืนยันว่าจะใช้ฟอนต์ Commic Sans ในการนิทรรศการที่กำลังจะจัดขึ้น
ภาพจาก https://www.webfx.com/blog/web-design/comic-sans-the-font-everyone-loves-to-hate/
คู่หูกราฟิกดีไซน์เนอร์ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า หน้าตาของฟอนต์ Comic Sans ไม่สามารถใช้สื่อสารอารมณ์ของข้อความได้ตามความต้องการของงาน อย่างเช่น ป้ายห้ามเข้า (Do Not Enter) หากพิมพ์ด้วยฟอนต์ Comic Sans มันก็จะดูเป็นป้ายที่ขี้เล่นเกินไป
แม้แต่ Dave Gibbons ศิลปินผู้มีส่วนในการสร้างสรรค์ผลงาน Watchmen ที่เป็นแรงบันดาลใจของฟอนต์ Comic Sans ก็เคยออกมาแซะว่า "ผมว่ามันเป็นฟอนต์ที่ไม่สวยเอาซะเลย"
ปัจจุบันนี้ เว็บไซต์ Ban Comic Sans ได้ตายไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกเว็บที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ คือเว็บ "Comic Sans Criminal" ที่มีเนื้อหาอธิบายถึงการใช้ฟอนต์ Comic Sans ในทางที่ผิด และมีการแนะนำฟอนต์ทางเลือกที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในหนังสือการ์ตูนด้วย
ภาพจาก : https://comicsanscriminal.com/
ส่วนตัวผู้เขียนก็พอเข้าใจในประเด็นนี้นะ ว่าการใช้ฟอนต์ให้เหมาะสมกับงานนั้นมีความสำคัญมาก เพราะฟอนต์มันก็มีส่วนช่วยในการสื่ออารมณ์ ได้พอสมควรเลย นึกภาพว่าไปโรงพยาบาลแล้วป้ายที่โรงพยาบาลเป็นแบบภาพด้านล่างนี้ดูสิ ถ้าเราเป็นคนไข้ก็คงรู้สึกแปลกๆ อยู่นะ
ถึงบรรทัดนี้ คิดว่าคุณผู้อ่านน่าจะรู้จักเกี่ยวกับฟอนต์ Comic Sans กันมากขึ้นพอสมควรแล้ว ว่ากันตามตรง เรื่องนี้เป็นเรื่องของ "ความเข้าใจผิด" เท่านั้นเอง
แรกเริ่มเดิมที ฟอนต์ Comic Sans ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานเป็นฟอนต์หลักอยู่แล้ว คนออกแบบสร้างมันขึ้นมาเพื่อใช้กับงานที่มีความเฉพาะเจาะจง (ใช้ในกล่องคำพูดของโมเดลการ์ตูน) แต่มันก็ถูกผลักดันให้กลายเป็นฟอนต์หลักที่ใช้งานได้ทั่วไป
อีกปัญหาหนึ่ง คือ ผู้ใช้ไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับใช้แทน ฟอนต์ Comic Sans ยุคนั้นฟอนต์ไม่ได้มีให้เลือกเยอะเหมือนทุกวันนี้ และถ้าเรานับเฉพาะฟอนต์พื้นฐานที่มีมาให้พร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows ก็ต้องยอมรับว่า ฟอนต์ที่ดูไม่ทางการ หรือแฟนซีเกินไป Comic Sans เป็นตัวเลือกเดียวที่ดูจะลงตัวที่สุด
สุดท้ายแล้วฟอนต์ Comic Sans เป็นฟอนต์ที่ดี และตัวมันก็ไม่ผิดอะไร แม้จะมีคนเกลียดมากมาย แต่ถ้าพึงพอใจจะใช้งาน มันก็สิทธิ์ของเรา และไม่มีใครมีสิทธิ์มาว่าเราด้วย อย่างไรซะ การออกแบบมันไม่มีกรอบว่าอันไหนดี หรือไม่ดีอยู่แล้ว ถ้าผลงานออกมาเป็นที่พึงพอใจ และสื่อความหมายได้ตามความต้องการ จะใช้ Comic Sans ก็ไม่เห็นผิดอะไรนี่ จริงไหม
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |